“คมนาคม” บุกตรวจงานโครงสร้างพื้นฐาน 3 จังหวัดอีสานใต้ “อำนาจเจริญ-ยโสธร-มุกดาหาร” อัดงบ 2.5 หมื่นล้าน อัพเกรดโครงข่ายถนนทางหลวง-ทางหลวงชนบท พร้อมเร่งสร้างสะพานข้ามโขง แห่งที่ 6 วงเงิน 4,365 ล้านบาท จัดหนัก! โปรเจ็กต์ใหม่ รถไฟสายอีสาน-สนามบินมุกดาหาร หวังบูมขนส่ง-ท่องเที่ยว รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ OTOP บน “สถานีรถไฟ-บขส.-สนามบิน” ให้ประชาชนมีพื้นที่ขายแบบถาวรคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ตามคำสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยากให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน การพัฒนาระบบราง การพัฒนาท่าอากาศยาน การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด รวมถึงการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว และเวียดนามนั้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนา และปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนส่งเสริมด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายทางถนน
เทงบหมื่นล้านพัฒนาถนนจ.อำนาจฯ
ทั้งนี้ ในส่วนโครงการในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ วงเงินกว่า 10,823 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-อำนาจเจริญ ตอนยโสธร-บ.น้ำปลีก (ตอน 1-2) ระยะทางรวม 32.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,272 ล้านบาท โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 จะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ตอน บ.น้ำปลีก-บ.หนองผือ ระยะทาง 52 กม. วงเงิน 1,940 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564สร้างทางเลี่ยงเมืองเชื่อมสะพานข้ามโขง แห่งที่ 6
นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ ด้านตะวันตกและตะวันออก ระยะทางรวม 50 กม. วงเงินรวม 4,600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2566 แล้วเสร็จปี 2569 รวมถึงโครงการเพิ่มมาตรฐานทางชั้น 1 ทางหลวงหมายเลข 2112 ตอนเขมราฐ-ปางแซง-หนามแท่ง ระยะทาง 76 กม. วงเงิน 1,900 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2569 ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 อุบลราชธานี (อำเภอนาตาล)-สาละวัน (เมืองละคอนเพ็ง) ระยะทาง 1.6 กม. วงเงิน 4,365 ล้านบาท ปัจจุบัน อยู่ระหว่างรอข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับ สปป.ลาว
ขณะที่การพัฒนาทางหลวงชนบท จ.อำนาจเจริญ โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในปี 2563-2564 ได้ดำเนินการรวม 114 โครงการ วงเงิน 579 ล้านบาท แบ่งเป็น การก่อสร้างทางหลวงชนบท 15 โครงการ วงเงิน 261 ล้านบาท งานอำนวยความปลอดภัย 68 โครงการ วงเงิน 102 ล้านบาท และงานบำรุงรักษาทาง 31 โครงการ วงเงิน 216 ล้านบาทอัดงบ 9.1 พันล้าน พัฒนาโครงข่ายทางหลวง จ.ยโสธร
สำหรับจังหวัดยโสธร ทล.ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจร รวมงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ มูลค่ากว่า 9,158 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 23 ร้อยเอ็ด-ยโสธร (ตอน 1-2) ระยะทางรวม 59 กม. วงเงินรวม 2,055 ล้านบาท, การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร-บ.น้ำปลีก (ตอน 1-2) ระยะทางรวม 32 กม. วงเงินรวม 1,272 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับยโสธร-อ.กุดชุม บริเวณทางหลวงหมายเลข 292 ตัดกับหมายเลข 2179 จำนวน 1 แห่ง วงเงิน 800 ล้านบาท ในส่วน ทช. ได้จัดสรรงบประมาณปี 2563-2564 วงเงิน 690 ล้านบาท โดยมีงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 17 โครงการ, งานอำนวยความปลอดภัย 72 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 55 โครงการจ.มุกดาหารรับงบ 6 พันล้าน พัฒนาโครงการในอนาคต
ขณะที่ จังหวัดมุกดาหาร ทล.ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจร รวมงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ มูลค่ากว่า 6,070 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 212 อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม ระยะทาง 24 กม. วงเงิน 1,047 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางแนวใหม่ทางหลวงหมายเลข 12 บ.นาไคร้-อ.คำชะอี (2 ตอน) ระยะทาง 37 กม. วงเงิน 2,393 ล้านบาท รวมถึงเตรียมพัฒนาโครงการในอนาคต เช่น การก่อสร้่งทางแยกต่างระดับทางหลวงหมายเลข 212 ตัดกับทางหลวงชนบท มห.3019 วงเงิน 450 ล้านบาท, การเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 238 ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 300 ล้านบาท ในส่วน ทช. ได้จัดสรรงบประมาณปี 2563-2564 วงเงิน 348 ล้านบาท โดยเป็นงานก่อสร้างทางหลวงชนบท 8 โครงการ, งานอำนวยความปลอดภัย 12 โครงการ และงานบำรุงรักษาทาง 23 โครงการ
ผุดรถไฟสายใหม่ลงพื้นที่ภาคอีสาน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมยังมีแผนการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางในพื้นที่ภาคอีสาน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ รวมถึงอยู่ระหว่างการประกวดราคาทางรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่เตรียมพัฒนาในอนาคต เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และทางรถไฟสายใหม่ เช่น ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ช่วงศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด และช่วงอุบลราชธานี-ช่องเม็ก รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาทางรถไฟจาก อ.เลิงนกทา ผ่านจังหวัดอำนาจเจริญไปยังจังหวัดอุบลราชธานีเชื่อรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน “กทม.-โคราช” เปิดใช้ปี 68
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาที่สำคัญ คือ รถไฟความเร็วสูงตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมลงนามสัญญา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 ซึ่งจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง Belt & Road Initiative เชื่อมไทยไปสู่โลก อีกทั้งยังมีการบูรณาการโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับมอเตอร์เวย์ (MR-MAP) ซึ่งจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐ โดยในพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.หนองคาย-แหลมฉบัง 2.บึงกาฬ-สุรินทร์ 3.ตาก-นครพนม และ 4.กาญจนบุรี-อุบลราชธานี
เล็งผุดสนามบินแห่งใหม่ “มุกดาหาร”
สำหรับการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ได้ดำเนินการพัฒนา และปรับปรุงท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี พร้อมทั้งเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและเสริมศักยภาพจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นประตูสู่อินโดจีนอีกด้วยจัดตั้งศูนย์ OTOP บนพื้นที่ “สถานีรถไฟ-บขส.-สนามบิน” แบบถาวร
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในปี 2564 กระทรวงคมนาคมมีแผนจะบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการหาสถานที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวางผลิตภัณฑ์การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) แบบถาวร เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมา เรามีพื้นจัดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ไม่เพียงพอและไม่ชัดเจนแน่นอนว่าอยู่ที่ไหน
ทั้งนี้ หากจะส่งเสริมให้OTOP มีความมั่นคงมีเสถียรภาพสิ่งสำคัญที่สุด คือ เมื่อผลิตแล้วต้องดำเนินการหาพื้นที่ที่วางจำหน่ายได้ เช่น บริเวณสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงพื้นที่ในสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นอกจากนี้ จะหารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมเจ้าท่า (จท.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) หลังจากนี้ไปพิจารณาจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมส่วนแนวทางบริหารจัดการให้ผู้ประกอบการนำสินค้า OTOP มาจำหน่าย หรือค่าเช่านั้น จะเป็นระบบแบ่งปันหรือ Profit Sharing เบื้องต้นจะเป็นลักษณะการตลาดรูปแบบค้าขายปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) โดยแบ่งปันผลกำไรในระบบที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้เป็นการแสวงหากำไรเท่านั้น แต่เป็นการดึงศักยภาพของผู้ประกอบกอบการ OTOP และมองว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย