ดีไซเนอร์ไทย ไม่ยอมน้อยหน้าดีไซเนอร์จากแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก พากันขนทัพสินค้าออกแบบสุดเริ่ดมาประชันกันที่งาน Paris’s Maison&Objet Fair
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวในโซเชียลมีเดียคงจะเต็มไปด้วยข่าวของแบรนด์ชั้นนำของไทย ซึ่งออกแบบผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายใน ในงาน Paris’s Maison&Objet Fair อย่างแน่นอน
เพราะเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ปารีส ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน Maison&Objet หรืองานแสดงสินค้าที่รวบรวมเอาแบรนด์ดีไซน์กว่า 3,000 แบรนด์ ตั้งแต่แบรนด์ดีไซน์นวัตกรรมออกแบบสุดเจ๋ง ไปจนถึงงานออกแบบเชิงไลฟ์สไตล์ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งงานนี้นับว่าเป็นหนึ่งในงานแฟร์ที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมออกแบบ ที่รวบรวมเอาเทรนด์ฮิตล่าสุดของซีซั่นต่อ ๆ ไปในอนาคตมาให้ชมกัน และแบรนด์สัญชาติไทยหลากหลายแบรนด์ก็ได้นำผลงานมาจัดแสดงในช่วงงาน 4 วันนี้เช่นกัน
แบรนด์ที่นำสินค้าไปจัดแสดงในงาน ได้แก่ แบรนด์ท้องถิ่นกว่า 50 แบรนด์ ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ที่ไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุนทั้งหมด 9 แบรนด์, สินค้าจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และอีก 43 แบรนด์ซึ่งได้รับการสนับสนุนภายใต้โปรเจคต่าง ๆ ทั้ง 4 โปรเจคของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ซึ่งจะเปิดแสดงผลงานให้ชมกันที่ศูนย์นิทรรศการ Paris Nord Villepinte ทั้งหมด 8 ฮอลล์
งานแสดงสินค้า Maison&Objet มีขึ้นปีละ 2 ครั้ง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วง 2 ทศวรรษหลังมานี้ ขณะที่มีงานแฟร์แบบเดียวกัน เพิ่มมากขึ้นในอเมริกาและเอเชียช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ และจะเห็นได้ว่า เหล่าดีไซเนอร์ไทยได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในงานแฟร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ว่านี้ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า บุคคลในอาชีพต่าง ๆ เช่น สถาปนิก อินทีเรียดีไซเนอร์ รวมไปถึงเจ้าของโรงแรม
หม่อมหลวงภาสกร อาภากร หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนานักออกแบบ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า “ฝรั่งเศส มีชื่อเสียงทางด้านผลงานออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ โดยงานแฟร์ของฝรั่งเศสจะเป็นงานที่มีชีวิต โดยเขาจะนำเอาสินค้าประดับตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชั่น ฯลฯ มารวมไว้ในงานเดียว ซึ่งงานของเขาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธุรกิจของไทย จึงทำให้แบรนด์ของไทยเหมาะกับ Maison&Objet อย่างมาก”
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นผู้สนับสนุนให้ดีไซเนอร์ไทยเข้าร่วมงาน Maison&Objet ในช่วง 7 ปีหลังมานี้ โดยเหล่าดีไซเนอร์กลุ่มนี้ ใช้ชื่อว่า “Talent Thai” ซึ่งธุรกิจของพวกเขาได้ขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเหล่าดีไซเนอร์เจ้าของธุรกิจเองก็ยังคงศึกษาเทรนด์แฟชั่นอยู่เสมอ เพื่อประโยชน์สูงสุดทางด้านการขายสินค้าภายในงานแฟร์ DITP ไม่เพียงสนับสนุนกลุ่มดีไซเนอร์ไทยเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนผู้ที่ได้รับรางวัล DeMark อีกด้วย ทั้งแบรนด์บริษัทออกแบบตกแต่งภายในและแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัล DeMark ที่ว่านี้ ก็เช่น Barketek แบรนด์สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง, Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้าน รวมไปถึง Dots Object แบรนด์ผลิตภัณฑ์จักรยานไม้ ซึ่งเคยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของมิลานมาแล้ว
“เราจองพื้นที่สำหรับแสดงสินค้าที่ได้รับรางวัล” คุณภาสกรกล่าว โดยบูธแสดงสินค้า จะมาในรูปแบบของธีมที่หลากหลาย ซึ่งออกแบบโดยผู้ชนะรางวัล DeMark ซึ่งผ่านการคัดเลือกมาเพียงไม่กี่คนเท่านั้น “หากเป็นบูธของ Talent Thai และ DeMark เราจะเน้นไปที่ความเรียบง่าย เพื่อให้ผู้เข้าชมบูธให้ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือทั้งสิ้น” คุณภาสกร กล่าวเพิ่มเติม “เราต้องการพรีเซนต์ความเป็นไทยในรูปแบบที่ทันสมัย โดยจะมีโซนแสดงสินค้าอื่น ๆ ด้วย อย่างโซน ‘Isan Object‘ ที่เราจ้างดีไซเนอร์จากบริษัทอยุธยา ให้มาช่วยออกแบบบูธ โดยนำเอาวัสดุจากท้องถิ่น มาออกแบบใหม่ให้เข้ากับกระแสนิยมในสมัยนี้”
โดยในปีนี้ DITP ได้ทำการเลือกแบรนด์สินค้าหลากหลายแบรนด์ เพื่อนำมาจัดแสดงใน Maison&Objet ซึ่งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ที่นำเอาวัสดุท้องถิ่นมาทำเป็นกระเป๋าและเซรามิคนั้น คุณภาสกรต้องการให้ผู้ซื้อและผู้ชมสินค้าเห็นถึงความสามารถของนักออกแบบไทย โดยกล่าวว่า “เราพยายามเลือกเอาผลงานที่ทำด้วยมือ และทำจากวัสดุธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ก็จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูเป็นสากล เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดทั่วโลก” เขากล่าว
ตามที่คุณภาสกรกล่าวไว้นั้น สิ่งที่โดดเด่นที่สุดสำหรับการออกแบบของดีไซเนอร์ไทยก็คือความละเอียด ประณีต “ซึ่งงานออกแบบสุดประณีตของไทยนี้เป็นการผสมผสานระหว่างการออกแบบแบบสากลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จึงเรียกได้ว่า ตัวแบรนด์สามารถทำให้สินค้ากลายเป็นสินค้าสากลได้ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงเสน่ห์ของฝีมือหัตถกรรม หรือการสร้างผลงานด้วยมือเอาไว้ ไม่ให้สูญหายไป ซึ่งดีไซเนอร์ที่นำเสนอผลงานเช่นนี้ ก็เช่น แบรนด์โยธกา ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวา และแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมาย”
อย่างไรก็ตาม แบรนด์เหล่านี้ไม่เพียงได้รับการสนับสนุนจาก DITP เท่านั้น แต่ทีมงานจาก Maison&Objet จะต้องทำสัญญาการจัดแสดงสินค้ากับแบรนด์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยทีมงานจะวิจารณ์แบรนด์ทุกแบรนด์ไปในเชิงกลยุทธ์ทางการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการคิดสร้างสรรค์ “สำหรับผลงานที่ได้มาตรฐานของ Maison&Objet เราจะจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถดึงดูดผู้ซื้อได้” Frederic Bougeard ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Maison&Objet กล่าว
ในปีนี้ สินค้าส่วนใหญ่จะถูกวางจัดแสดงอยู่ที่ฮอลล์ 7 ซึ่งเป็นจุดที่ดีที่สุดของงาน “เมื่อ 10 ปีก่อน ผลงานของอานนท์ ไพโรจน์ ได้รับคัดเลือกจาก Rising Talents ในงาน Maison&Objet ณ กรุงปารีส ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยุโรปยังไม่รู้จักผลงานออกแบบของคนไทยมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับสิบปี ความตั้งใจและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนได้มายืนเป็นแถวหน้าของวงการดีไซน์ในเอเชีย และในที่สุดก็ได้กลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยผลงานออกแบบดี ๆ มากมาย”
Source: Maison&Objet, Bangkokpost