ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อน เราได้เห็นข่าวเพลิงไหม้บริเวณสายไฟต่าง ๆ บ่อยครั้ง จึงเป็นคำถามที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลยหรือ? หรือเราจะจัดการอย่างไร ให้ไม่เกิดเหตุการณ์ที่มีความสูญเสีย ดังเช่นเหตุเพลิงไหม้ที่สำเพ็ง ที่กลายเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับการไฟฟ้า ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการนำ “สายไฟเหล่านี้” ลงดิน?
เรามาดูกันว่า เสาไฟ 1 ต้น มีสายอะไรพาดอยู่บนนั้นบ้าง?
ข้อมูลจากการไฟฟ้าเผยว่า ถนนสายหลักในไทยนั้นจะติดตั้งเสาไฟฟ้า 4 ขนาด ได้แก่ เสาสูง 22 เมตร, 12 เมตร 10 เมตร และ 8.50 เมตร ตามซอกซอยส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 12 เมตร และ 8.50 เมตร
- เสาไฟฟ้าที่สูง 12 เมตร บนสุดจะเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์ สายไฟนี้เข้าใกล้ไม่ได้ จึงต้องตั้งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร
- รองมาความสูงจากพื้นในระดับ 8 เมตร จะเป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ คือสายไฟที่ต่อโยงจ่ายเข้าบ้านเรือน
- และความสูงระดับ 5 – 5.50 เมตร ที่เห็นหลาย ๆ เส้นขดกันจำนวนมากคือสายสื่อสารโทรคมนาคม ประกอบด้วยสายออพติกไฟเบอร์ คือสายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิลโทรศัพท์, สายเคเบิลทีวี, สายควบคุมสัญญาณจราจร และสายสื่อสารกล้องวงจรปิด
ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 ระบุว่า “หากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตรวจพบว่าการพาดสายและ/หรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไม่ถูกต้อง ผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มิฉะนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอาจพิจารณายกเลิกการอนุญาต”
คำถามคือ แล้วสายไฟที่ยุ่งเยิงตามที่เราเห็นกันนั้น แม้จะได้รับอนุญาตจาก กฟน. แล้ว แต่การพาดไปมา พันมั่วรุงรังนั้น ถือว่าผิดข้อกำหนดข้างต้นหรือไม่? เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นก็มาจากสายไฟเหล่านี้ไม่ใช่หรือ? แล้วทำไม กฟน. ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อีก ควรเร่งจัดการทำระเบียบที่ระบุไว้ทันทีไม่ใช่หรือ?
ปัญหาเหล่านี้ลากยาวมานานหลายสิบปี เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้เสียที แม้แต่ “Russell Crowe” ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ก็ยังเซลฟี่ตัวเองด้วยฉากหลังที่เต็มไปด้วยสายไฟระโยงระยาง “Abema” สื่อญี่ปุ่นประมาณข้อมูลว่า ต้องใช้เวลาถึง 200 ปี สายไฟถึงจะลงใต้ดินหมด
การนำสายไฟฟ้าลงดินไม่ใช่เรื่องใหม่ กฟน. เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2527 แต่มาจริงจังในสมัย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี พ.ศ.2559 มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง กฟน., TOT, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) ในชื่อโครงการ “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน”
แผนนี้ครอบคลุมพื้นที่ กทม., สมุทรปราการ และนนทบุรี ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2527 – 2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการ แล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร การนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นงานที่หนักหนาสาหัสพอควร แต่คำถามคือ “ทำไมถึงล่าช้าขนาดนี้?” เรามาไล่ไทม์ไลน์กัน
15 ตุลาคม 2556 ครม. เห็นชอบ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก ของ กฟน. ในพื้นที่ถนนสายหลัก ในวงเงินลงทุนรวม 8,899.58 ล้านบาท
1 กันยายน 2558 ครม. เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดย กฟน. ดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียนของ” จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 48,717.2 ล้านบาท
31 มกราคม 2560 ครม. เห็นชอบให้ กฟน. ดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 9,088.8 ล้านบาท
9 มกราคม 2561 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง)
24 กันยายน 2562 ครม. มีมติรับทราบแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 251.6 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2564 รวม 5 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 46.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย
– แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2547-2552 โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) ระยะทาง 24.4 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กิโลเมตร
6 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบในหลักการให้ กฟน. ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก)
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี-ถนนติวานนท์
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563-2566
14 กรกฎาคม 2563 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน (เดือนธันวาคม 2562) มีแผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กิโลเมตร จำนวน 3 แผนงาน
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร
แผนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับ (Quick Win) รวมระยะทาง 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 ประกอบด้วย
– พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนกาญจนาภิเษก
– ช่วงถนนกรุงเทพ-นนทบุรีถึงถนนติวานนท์
– พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง
22 มิถุนายน 2565 กทม. หารือ กฟน. เดินหน้าจัดระเบียบสายไฟ-สื่อสารลงดินรวม 236 กม. พร้อมเชื่อมระบบร้องเรียนกับ Traffy Fondue
กฟน. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทาง 236.1 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร
เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
โดยมีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย แนวถนนสายหลัก แนวรถไฟฟ้า ย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ และตามนโยบายของหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ รูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย
วิธีเปิดหน้าดิน (Open Cut) เป็นการขุดถนนลงไปอย่างน้อย 80 เซนติเมตร เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้า จากนั้นฝังกลบกลับสภาพเดิม
วิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) ใช้สำหรับการก่อสร้างสำหรับวางบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าบนถนนจราจร
วิธีการดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling : HDD) ใช้สำหรับการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าจากบ่อพักไปยังจุดจ่ายไฟต่างๆ
วิธีการขุดเปิด (Open Cut) ใช้สำหรับการก่อสร้างบ่อพักและวางท่อร้อยสายไฟฟ้าบนทางเท้า
“มหานครไร้สาย” ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ความฝันของคนเมืองมีความเป็นไปได้ ที่จะได้เห็นสายไฟฟ้าเหล่านี้หายไปกับอากาศ แต่ด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การประสานงาน การร่วมมือกัน บางพื้นที่อาจไม่สามารถใช้วิธีใดจัดการกับการลงดินได้ ด้วยข้อจำกัดของชั้นผิวดิน ซอยที่แคบ ผังเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย ปัจจัยเหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การดำเนินการล่าช้าเป็นเวลาร่วม 40 ปี
ในอนาคตหากมีการนำสายไฟฟ้าเหล่านี้ลงดินได้แล้ว ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันทุก ๆ หน่วยงานในการวางแผนสายไฟ หากวันใดวันหนึ่ง มีหน่วยงานมาเจาะพื้น เจาะผิดขึ้นมาไฟดับใครจะรับผิดชอบ โครงการนี้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบและคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากวางแผนได้อย่างดี สร้างโครงสร้างที่แข็งแรง เป็นระบบระเบียบ ที่สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้าและคมนาคม ก็จะเป็นทางออกสำคัญในการใช้งานทั้งปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน
เราต่างก็หวังเห็นคุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น ทั้งเรื่องสายไฟฟ้า เรื่องทางเท้าคนเดิน เรื่องปากท้อง เรื่องคมนาคม ฯลฯ แต่ด้วยปัญหาโครงสร้างใหญ่ของประเทศ อาจทำให้เรื่องเหล่านี้ดำเนินการอย่างล่าช้า แม้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่คำถามคือ “เมื่อไหร่..? ที่เราจะได้ใช้ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” อย่างที่เขาว่าสักที…