ท่ามกลางสนามการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอันดุเดือด ความแตกต่างระหว่างแบรนด์เรื่องการเฟ้นวัตถุดิบและเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอาจจะแทบไม่ต่างกัน ดีไซเนอร์จึงมีบทบาทสำคัญและกลายเป็นหนึ่งในการสร้าง Gimmick เพิ่มจุดขายและคุณค่าของแบรนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการสุขภัณฑ์
“ห้องน้ำ” ห้องที่คนเคยคิดว่าเป็นที่ลับตา กำลังพลิกกลายมาเป็นพื้นที่แสดงตัวตนที่โชว์ได้ทั้งไลฟ์สไตล์ และเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าของบ้านและเจ้าของสถานที่ วันนี้ BuilderNews จึงขอแนะนำ 3 แบรนด์สุขภัณฑ์ชื่อดังจากต่างแดนและบ้านเรานำมาเปรียบเทียบกัน แล้วคุณจะรู้ว่าไม่ใช่แค่ฟังก์ชันเท่านั้นที่ล้ำและทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ขายได้ แต่คอนเซ็ปต์ดี ๆ ด้านการออกแบบและความสวยงามสามารถชนะใจและสร้างมูลค่ามหาศาลด้วย
Hansgrohe (ฮันสโกรเฮอ)
เริ่มต้นด้วยแบรนด์จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ห้องน้ำจากฟากเยอรมนี ที่ออกเสียงเรียกยากสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่าเวลาเอ่ยปากถามหาสุขภัณฑ์ชั้นดีที่จัดจ้านเรื่องการดีไซน์ ใครที่ติดตามโปรดักส์สายสุขภัณฑ์จะพอรู้ว่าแบรนด์นี้การันตีด้วยรางวัลด้านการออกแบบมาจำนวนนับไม่ถ้วน เชี่ยวชาญด้านการดีไซน์และได้รับความไว้วางใจคัดเลือกให้อยู่ในโครงการระดับ Luxury และโปรเจกต์ระดับโลกเสมอ
ตัวอย่างดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกที่สร้างผลงานให้ Hansgrohe ได้รับความนิยม ได้แก่ Philippe Starck, Antonio Citterio, Jean-Marie Massaud, Patricia Urquiola and Ronan and Erwan Bouroullec
Credit photo: pro.hansgrohe-usa.com
Philippe Starck ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดังที่อยู่ในแวดวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านชั้นนำทั่วประเทศและทั่วโลก ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ๆ ไปจนถึงชิ้นเล็กอย่างก๊อกน้ำ ฟักบัว ทั้งหมดล้วนผ่านสายตาของเขามาแล้วทั้งนั้น ทุกผลงานที่สร้างสรรค์มาพร้อมคอนเซ็ปต์เอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เน้นด้านการสร้างความรู้สึกสอดแทรกอยู่ทุกอณูในผลงาน
เขามักกล่าวว่า “What matters to me is not how things look, but what emotions they trigger” หรือ “สิ่งที่สำคัญสำหรับผมไม่ใช่การคิดว่าจะทำให้มันออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เป็นการมองด้านอารมณ์ว่าพวกมันกระตุ้นความรู้สึกแบบไหน” และนี่คือหนึ่งในหน้าตาการออกแบบของเขาระหว่างที่ทำงานร่วมกับ Hansgrohe
คอลเลคชัน ฝักบัวจาก The Axor ออกแบบโดย Philippe Starck ที่ช่วยเปลี่ยนการอาบน้ำในบ้านให้กลายเป็นสปาส่วนตัว
The Salon d’Eau from Axor, Duravit และ Hoesch ปฏิวัติการออกแบบห้องน้ำที่ย้อนกลับไปในช่วงปี 1994 ความงามเหนือกาลเวลา
ความสะดวกสบายที่มาพร้อมความปลอดโปร่งเรียบหรูของการจัดวางสุขภัณฑ์ในพื้นที่กว้างขวาง ชวนหลงใหลและกระตุ้นความรู้สึกผ่อนคลายยกระดับให้กับผู้เป็นเจ้าของ สีขาวความคลีนของสุขภัณฑ์โค้งมน ด้านบนติดก๊อกโลหะแวววาวดึงดูดความรู้สึกให้อยากแช่ทิ้งตัวไว้ในอ่างไม่รู้จบ
Toto
ยุโรปมีแล้ว มาในฝั่งเอเชียก็มีแบรนด์ชั้นนำด้านสุขภัณฑ์ที่ครองตลาดอย่าง Toto เช่นเดียวกัน Toto เป็นแบรนด์เก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่นที่มีอายุมานานกว่า 115 ปีที่ก่อตั้งโดยตระกูล Okura Kazuchika ด้วยประสบการณ์อันโชกโชนที่ต้องลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วนและเอาชนะมาได้ วันนี้เราจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์อย่างโถสุขภัณฑ์ Washlet ในฐานะนวัตกรรม ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งโถสุขภัณฑ์จะเป็นมากกว่าการใช้ขันตัก แต่แบรนด์นี้เขาสามารถจินตการและสร้างสรรค์มันให้เกิดขึ้นจริงได้ ที่สำคัญยังทำมันได้ดีจนกลายเป็นสินค้างส่งออกต่างประเทศ ได้รับการยอมรับสำหรับลูกค้าชาวเอเชียและชาวยุโรป
ความโดดเด่นใส่ใจที่เผยให้เห็นไม่ได้มีเฉพาะด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มาจากความใส่ใจด้านการออกแบบและด้านวัฒนธรรมซึ่งนับเป็นรายละเอียดที่เราไม่ควรมองข้าม เช่น ประเทศแถบยุโรปออกแบบให้เป็นสุขภัณฑ์ติดกำแพง ขณะที่อเมริกาเหนือต้องออกแบบให้ใช้น้ำน้อยต่อการกดแต่ละครั้ง หรือการทำก้านฉีดของโถสุขภัณฑ์อัตโนมัติที่กำหนดองศาที่เหมาะสมโดยใช้ข้อมูลจากการวิจัยนำมาประยุกต์ โดยผลวิจัยกล่าวว่า 43 องศา คือองศาการฉีดน้ำที่เหมาะสมที่สุดและไม่ทำให้น้ำไหลย้อนมาโดนตัวก้านฉีดชำระ เป็นต้น
Giovannoni Washle โดย Stefano Giovannoni สำหรับ Toto /
Credit photo: dezeen.com
Stefano Giovannoni สถาปนิกชาวอิตาเลียนเคยเปิดตัวในงาน Milan Furniture Fair 2010 แม้หลายคนจะรู้สึกว่าตัวนี้วันเริ่มดีไซน์ออกจะนานไปหน่อย เพราะเปิดตัวตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว แต่ถ้าดูจากรูปลักษณ์เราจะเห็นได้ชัดเจนว่ามันยังคงเหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ล้าสมัย รูปทรงโค้งมนช่วยสร้างความรู้สึกเป็นมิตรและมินิมัล ขณะเดียวกันก็ยังสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานด้วย
COTTO
ปิดท้ายด้วยแบรนด์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะเป็นแบรนด์ในบ้านเราอย่าง COTTO แบรนด์ชั้นนำด้านสุขภัณฑ์ของของประเทศไทยจากบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ภายใต้บริษัทในกลุ่ม SCG ที่ร่วมทุนกับผู้นำด้านสุขภัณฑ์ญี่ปุ่น Toto
หลายปีที่ผ่านมา Cotto ได้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกฝั่งยุโรปมากมายเพื่อสร้างความโดดเด่นของสุขภัณฑ์ แต่ในปีนี้แบรนด์เบนกลับมาให้ความสำคัญกับการดีไซน์สไตล์เอเชียมากขึ้น จึงเชิญให้ Naoto Fukasawa นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลด้านการออกแบบระดับโลกมาเป็นผู้ออกแบบผลงานให้ ใครที่ยังไม่คุ้นชื่อเสียงและผลงานของเขา ให้ลองคิดถึงแบรนด์ Muji ที่พวกเราคุ้นเคยได้ เพราะนอกจากด้านการออกแบบที่ยืนหนึ่งเป็นขาแข็งของวงการนี้แล้ว เขายังควบหน้าที่เป็นบอร์ดที่ปรึกษาในฐานะ Creative Director ของบริษัท MUJI อีกด้วย
Credit Photo: Raven Design News
“ความไม่สมบูรณ์แบบคือความสมบูรณ์แบบ” เป็นแนวคิดหลักของการออกแบบที่ได้รับการถ่ายทอดจาก Naoto ดีไซเนอร์หลายคนอาจมองหาความสมบูรณ์เพื่อตอบโจทย์ทางใจ แต่การเลือกใช้ความไม่สมบูรณ์นำมาถ่ายทอดให้สวยงามเกินคาดคือสิ่งที่ Naoto ถนัด
เขาเลือกใช้เส้นสายของวงรี และรูปทรงเลขาคณิต โชว์สายใยความเป็นหนึ่งเดียวกันด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อม คอลเลคชั่นใหม่ล่าสุด “OVAL” ประกอบด้วยสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ ฝักบัว และกระจกที่สะท้อนความงามแบบมินิมอล ขณะเดียวกันยังให้รู้สึกสบาย อบอุ่น เส้นโค้งพลิ้วไหวและวัสดุคุณภาพที่นำมาออกแบบไม่เพียงรับสรีระการใช้งานได้เป็นอย่างดี
ความรู้สึกหรูหราเมื่อสัมผัสด้วย อ่างล้างหน้ามีขนาดพอเหมาะ ขอบอ่างเรียวบางดูเบาสบายตา รูปทรงของกระจกขับเน้นให้รูปร่างและใบหน้าเด่นชัด ทรงรีของโถชักโครกมอบสมดุลทางสุนทรียภาพในการใช้งาน ฝักบัวอาบน้ำออกแบบมาเพื่อจ่ายน้ำในทิศทางที่ลงตัวกับท่ายืนของผู้ใช้งานโดยเฉพาะ
ความง่ายที่ผ่านการคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนจึงกล้าพูดได้เต็มปากว่าเป็นงานชิ้นสำคัญของ Cotto ที่ถูกอกถูกใจสำหรับคนที่ชื่นชอบความเรียบง่าย ดูดี มีคุณภาพ แทรกความรู้สึกหรูหราอยู่ในความมินิมอลลงตัว
การประชันที่ไม่ได้มีดีแค่การใช้งานแต่ยังแข่งขันเรื่องการกระตุ้นความรู้สึก กลายเป็นทิศทางใหม่ของตลาดสุขภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทุกคนพลาดไม่ได้ 3 แบรนด์ใหญ่จึงดึงนักออกแบบระดับแม่เหล็กมาไว้ในครอบครอง ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงเรื่องรายได้โดยตรงได้แล้ว แต่ยังขายความน่าเชื่อถือและสาวกแบรนด์มาเพิ่มยอดขายได้ด้วย
ใครที่อยากอิ่มเอมกับงานศิลป์ชั้นดีในบ้านผ่านการออกแบบสุขภัณฑ์ ก็ลองไปแวะเวียนดูกันได้ทั้ง 3 แบรนด์นี้ แต่ถ้าได้งานสวยถูกใจแล้ว อย่าลืมสิ่งสำคัญอย่างการรักษาความสะอาดสุขภัณฑ์ด้วย เพราะถ้างานสวยและคราบเกาะกรังสกปรกยังไงก็คงไม่รอด
อ้างอิงข้อมูล :
http://www.baanlaesuan.com/72174/design/philippe-starck
https://pro.hansgrohe-usa.com/3675.htm
www.ddproperty.com/ข่าวอสังหาริมทรัพย์-บทความ/2016/10/137049/สนทนากับกูรู-hansgrohe-กับการก้
http://www.crystaldesigncenter.com/817-toto/
http://asianbeat.com/th/feature/issue_spot/toto/about-3.html