เรามักจะคิดว่าตัวตนของคนที่เราเจอ มองออกได้จากเสื้อผ้าที่สวมใส่ คำที่พูดจา หนังสือที่อ่าน และวิถีชีวิตการทำงานของเขา แต่กลับลืมว่าพื้นที่ใหญ่ ๆ ของการใช้ชีวิตอย่าง “ที่อยู่อาศัย” นี่แหละคือสถานที่ที่เราทิ้ง signature การใช้ชีวิตไว้เยอะที่สุด ไม่แพ้สิ่งอื่นที่แสดงออกมาให้ผู้คนเห็น

แต่งบ้านไปทำไม? จึงไม่น่าจะเป็นคำถามที่เราถามกันในยุคนี้อีกต่อไป ยุคที่ผู้คนต้องการสร้างตัวตน เชื่อไหม ต่อเป็นฝาแฝดคลานตามกันมา ดีเอ็นเอเดียวกัน พอเปิดเข้าไปในห้องของทั้งคู่การตกแต่งด้านในอาจจะหน้าตาไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ทว่าถ้าว่ากันตามความเป็นจริง การลง signature ไลฟ์สไตล์กับที่อยู่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไร แต่มีมาตั้งนานนับ 100 ปีแล้ว

ครั้งนี้ BuilderNews ขอนำพื้นทางสถาปัตย์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับมรดกยุคสมัยและความชอบของเจ้าของบ้านมาแบ่งปันกัน โดยขอเลือก บ้านขนมปังขิง ร้านกาแฟวินเทจย้อนวันวานย่านเสาชิงช้าที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้ ซึ่งเราเพิ่งมีโอกาสไปสัมผัสมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นำมาประเดิมต้นปีนี้เป็นแห่งแรก

LEAVE THE LEGACY FROM LIVING SPACE

หลายคนคงจะพอทราบกันว่า บ้านขนมปังขิง ย่านเสาชิงช้า หลังซอยโบสถ์พราหมณ์ที่กำลังโด่งดังในแวดวงสายคาเฟ่ เป็นบ้านเรือนไทยที่สร้างขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2456 สมัยปลายรัชกาลที่ 5 และมีอายุยาวนานมากกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อมองเชิงประวัติศาสตร์ก็คงต้องบอกว่าเวลานั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเรากำลังนิยมตะวันตก อิทธิพลของตะวันตกแผ่เข้ามาในไทยผ่านทางความคิด เสื้อผ้า และแน่นอนว่าต้องลามมาถึงด้านสถาปัตยกรรมด้วย

เกริ่นมาขนาดนี้ เชื่อว่าทุกคนคงจะพอมองออกว่าแม้บ้านขนมปังขิง จะเป็นบ้านที่มองเห็นแวบแรกแล้วบอกได้ทันทีว่าเป็นเรือนไทย ทำจากไม้ แต่มันก็เป็นเรือนไทยฉบับฟิวชั่นกลิ่นอายตะวันตกชัดเจนจากสไตล์การตกแต่ง นอกจากนี้ ยังสังเกตได้ตั้งแต่ชื่อบ้านที่เรียกว่า ขนมปังขิง ด้วย เพราะประเทศเรามีข้าวเป็นอาหารประจำชาติไม่ใช่ขนมปังสักหน่อย

บ้านขนมปังขิงคือบ้านของ อำแดงหน่าย ภรรยาขุนนางชั้นรองอำมาตโท ชื่อ ขุนประเสริฐทะเบียน ที่ปลูกไว้บนเนื้อที่ 47 ตารางวา จากนั้นสืบทอดเป็นมรดกประจำตระกูลเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึง คุณธนัชพร คุณารัตนอังกูร ลูกสาวของท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

แล้วขนมปังขิง คืออะไร?

ขนมปังขิง คืออะไร? ถ้าเอ่ยคำว่าขนมปังขิงขึ้นมา หลายคนน่าจะคิดภาพออกว่าเป็นขนมปังที่อบขึ้นช่วงคริสต์มาส หน้าตาแบบเดียวกับกันเกม Cookie Run ที่รูปร่างหน้าตาคล้ายคน แต่ความจริงคำว่า “ขนมปังขิง” ที่เขาใช้เป็นชื่อเรียกบ้านแห่งนี้ คือชื่อเรียกของสถาปัตยกรรมการตกแต่งด้วยการใช้ไม้ฉลุลวดลายตามพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน ทั้งราวระเบียง ชายคา หรือช่องลม ที่เป็นลักษณะการตกแต่งที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

ขันชื่อเล่นฉลุบนเนื้อไม้

การตกแต่งแสดงรสนิยมของตัวบ้าน บางครั้งอาจจะเป็นเชิงวัฒนธรรมแต่บางทีก็ผสมเรื่องของความชื่นชอบส่วนตัวด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับบ้านขนมปังขิงที่วาดลวดลายเล่าเรื่องราวเจ้าของบ้าน ซ่อนอยู่ในสถาปัตย์บริเวณช่องลมเอาไว้

หากใครที่ไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นของใคร ไม่ต้องกดกริ่งถามให้เสียเวลา แค่มองเห็นสัญลักษณ์ประจำตัวที่สลักบริเวณช่องลมเหนือหน้าต่างและประตูทุกแห่งของบ้านหลังนี้ รูปร่างของตัวอักษรภาษาไทยฉลุแกะสลักผ่านเนื้อไม้ด้านในวงกลมซึ่งพอเรียบเรียงตำแหน่งแล้วอ่านออกได้คำว่า ขันนี่แหละคอเครื่องบ่งบอก เพราะ ขันคือชื่อเล่นของ ขุนประเสริฐทะเบียน เจ้าของบ้านคนแรก

เรื่องนี้แม้เราจะไม่มีโอกาสได้ถามว่าท่านต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นที่กล่าวขวัญในหมู่คนรุ่นหลังหรือไม่ว่าใครคือเจ้าของบ้าน แต่ด้วยวิสัยทัศน์การสร้างนี้ก็ทำให้พวกเรา กลุ่มคนรุ่นหลังได้มีโอกาสระลึกและพูดถึงสถานที่นี้ว่าคือบ้านของท่านขุนประเสริฐ (ขัน) ได้โดยไม่ต้องพลิกหน้าหนังสือค้นหาในทะเบียนให้เสียเวลา

ไม้กลิ่นอายชีวิต วัสดุแห่งความคลาสสิก

ต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตที่สร้างสมดุลชีวิตของระบบนิเวศ เป็นวัสดุที่มีจิตวิญญาณ หลายครั้งการใช้วัสดุอย่าง ไม้สำหรับปลูกสร้างจึงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่หลายคนเลือกใช้เพราะให้กลิ่นอายของความ cozy ผสมความคลาสสิกในตัว

นอกจากไม้จะเป็นวัสดุแกร่งคงทนทั้งแดดและฝน ไม้ยังมีเสน่ห์จากเนื้อและสีสันข้ามกาลเวลาที่เหมาะแก่การใช้งานทางสถาปัตยกรรมที่หลากหลายด้วย จากเรือนไม้หนึ่งหลังตรงหน้าเราของบ้านขนมปังขิง ประกอบด้วยต้นเสาที่มาจากไม้เนื้อแข็ง ส่วนชายคา ระแนง และช่องลมใช้ไม้เนื้ออ่อนกว่า เนื้อบางกว่าสำหรับฉลุ เลือกสีที่กลมกลืนกันมาใช้งาน ความประณีตและความแกร่งเมื่อนำมารวมกันยิ่งขับเสน่ห์ข้ามกาลเวลาออกมาให้ชวนหลงใหลยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ แม้บ้านขนมปังขิงจะนำมาบูรณะปรับปรุงให้เป็นร้านกาแฟรสชาติเยี่ยม เสิร์ฟคู่กับเซ็ตขนมไทยและเบเกอรี่รสชาติดีแล้ว แต่สิ่งที่พวกเราชาว BuilderNews อยากชวนทุกคนไปเสพยิ่งกว่าคือสถาปัตย์ที่สวยงาม คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวสถาปนิกจะได้เห็นบ้านอายุกว่า 100 ปีใกล้ ๆ ขนาดนี้กับสายตาตัวเอง ได้จับ ได้ถ่ายภาพกลับบ้านเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โดยไม่มีเจ้าหน้าที่กำกับ วันหยุดนี้ ว่าง ๆ ก็อย่าลืมไปชมด้วยตาตัวเองกันนะ เพราะสิบปากว่ามันไม่เท่าตาเห็นจริง ๆ

ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก: PAGE บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า https://www.facebook.com/349180095810455/photos/349189249142873/

Previous articleอภิชัย อินทัศสิงห์ กับการออกแบบวีลแชร์เพื่อสังคม
Next article‘รีจัส’ เดินหน้าขยายความสำเร็จ ปักธงสาขา 21 ที่สิงห์ คอมเพล็กซ์