สถาปัตยกรรมที่สำคัญในอดีตตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นภาพสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของไทย ในยุคสมัยต่าง ๆ จึงมีอิทธิพลต่อแนวความคิดในการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่จะแสดงถึงแหล่งที่ตั้งแห่งความรุ่งเรืองของไทย หรือเป็นสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในศตวรรษใหม่ อันแสดงถึงพัฒนาการอันสูงส่งของสถาปัตยกรรมไทย และประเพณีที่สามารถอยู่ร่วมกับความทันสมัยได้อย่างสง่างาม โดยมีพัฒนาการร่วมกันทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอยตามแบบอาคารสมัยใหม่ ผสมผสานกับความเหมาะสมของฐานานุศักดิ์อย่างกลมกลืนตามขนบประเพณีของไทย
สัปปายะสภาสถานจึงควรเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความภาคภูมิใจของคนในชาติที่จะแสดงถึงลักษณะเนื้อแท้ของความเป็นราชอาณาจักรไทย การออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่จึงต้องสอดรับกับตำแหน่งที่ตั้งของอาคารอันสวยงามติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับความทันสมัย เสมือนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองขั้นสูงสุดของการพัฒนาสถาปัตยกรรมไทยใน รัชสมัยปัจจุบัน ด้วยวัตถุที่ประสงค์ในการออกแบบให้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นสมบัติของชาติ และเป็นมรดกแห่งความภาคภูมิใจอันจะตกทอดไปสู่รุ่นลูกหลานสืบต่อไป
ความหมายของสัปปายะสภาสถาน
คำว่า สัปปายะ แปลว่า สบาย แต่ในทางธรรม สัปปายะ หมายถึง สถานที่ประกอบแต่กรรมดี ซึ่งสมัยก่อนหากประเทศประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์ในบ้านเมือง พระมหากษัตริย์จะสร้างสถานที่ขึ้นเพื่อใช้ในการปลุกขวัญและสร้างกำลังใจ เนื่องจากความเชื่อเรื่องการดำเนินชีวิตในทางโลกียะจะต้องประกอบกับโลกุตระด้วย กล่าวคือ การนำธรรมะมาใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตทางโลก ซึ่งหากปัจจุบันบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ความเสื่อมทางศีลธรรม ก็ต้องช่วยกันฟื้นฟูจิตใจของคนในชาติ เสมือนดังเช่นการสถาปนาเขาพระสุเมรุครั้งใหม่ขึ้นในยุครัตนโกสินทร์
ความเป็นมาของสัปปายะสภาสถาน
สืบเนื่องจากตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และใช้เป็นที่ประชุมสภาเรื่อยมา ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่เพื่อใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาแทน ซึ่งอาคารรัฐสภาปัจจุบันได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2517 โดยพระที่นั่งอนันตสมาคมยังคงใช้สำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก แต่ปัจจุบันอาคารรัฐสภาและพื้นที่บริเวณรัฐสภามีความคับแคบและไม่สามารถที่จะรองรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่เพิ่มมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจำนวนข้าราชการที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอต่อการรองรับ การปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภาได้[1]
ต่อมา รัฐสภาได้เช่าอาคารสถานที่ทำงานเพิ่มเติม อาทิเช่น อาคารกษาปณ์ อาคารทิปโก้ และอาคาร ดีพร้อม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่การปฏิบัติงานของข้าราชการที่แยกส่วนกันและปฏิบัติงานพร้อมกันในอาคารหลายแห่ง ทำให้การดำเนินงานของรัฐสภาไม่คล่องตัว อันส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของฝ่าย นิติบัญญัติ และเป็นอุปสรรคต่อประชาชนที่มาติดต่อราชการ ด้วยเหตุนี้รัฐสภาจึงมีความพยายามหาสถานที่ที่จะก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ในสมัยที่ นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ได้มีการประชุมหารือเรื่องการพิจารณาหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และที่ประชุมได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานที่ โดยคำนึงถึงสถาปัตยกรรม วิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คมนาคม และสาธารณูปโภคหลายๆ ด้าน ต่อมา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 คณะกรรรมการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้มีมติเห็นชอบว่าพื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงริมน้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่[2]
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 รัฐสภาได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในพื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 119 ไร่ ระหว่างรัฐสภา กับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กรมราชองครักษ์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดังกล่าวทุกราย โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภาร่วมเป็นพยาน และเมื่อวันที่ 12 ส.ค.2553 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว[3]
แนวความคิดในการออกแบบสัปปายะสภาสถาน
อาคารรัฐสภาเป็นสถานที่ซึ่งมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญ และเป็นหน้าตาของประเทศ จึงควรแสดงถึงความรุ่งเรืองทางด้านสถาปัตยกรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ที่เชิดหน้าชูตาของความเป็นไทย โดยผสมผสานกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงดุลยภาพและความก้าวหน้าของระบบรัฐสภาไทย ผ่านงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่ตอบสนองตามลักษณะการใช้สอยงานในยุคปัจจุบัน การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จึงต้องนำรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยมาใช้เป็นหลักการออกแบบ ประกอบกับลักษณะของวัฒนธรรมและประเพณีการอยู่ร่วมกันของคนในหลายระดับ ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้อย่างพอเหมาะ แต่ต้องดำรงถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นชาติไทยไว้
สัปปายะสภาสถานได้แรงบันดาลใจในการออกแบบตามหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบไตรภูมิตามความเชื่อคติพุทธ โดยให้มีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทยตั้งอยู่ตรงบริเวณกลางอาคาร เพื่อแสดงถึงโอกาสที่จะยกฐานะของรัฐสภาไทยไปสู่ระดับโลก ซึ่งนำไปสู่สันติภาพ และพลิกฟื้นจิตวิญญาณของมนุษย์โลก แต่เนื่องจากพื้นที่ใช้สอยอาคารมีขนาดใหญ่กว่าสามแสนตารางเมตร การวางผังแม่บท ผังบริเวณและภูมิทัศน์ของอาคารจึงต้องคำนึงถึงการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการสำหรับทุกคนและประโยชน์ ใช้สอยภายในอาคาร รวมทั้งจัดระบบทางสัญจรที่สั้นและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งคำนึงให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของคนพิการและผู้สูงอายุด้วย[4] นอกจากนี้ แนวคิดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จะต้องแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย ประกอบกับหลักการออกแบบอาคารสมัยใหม่ที่จะต้องมีความทันสมัย ความคล่องตัว ความเป็นสัดส่วน และความสะดวกสบาย นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ต้องมีความปลอดภัยในระดับสูงเทียบเท่าอาคารชั้นนำในระดับสากล การอนุรักษ์พลังงาน และมีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การทำงานด้วย ซึ่งถือเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดินให้ชาวโลกมาชื่นชมและเป็นมรดกแห่งความภาคภูมิใจของปวงชนชาวไทยต่อไปนานเท่านาน
วัตถุประสงค์ของการออกแบบสัปปายะสภาสถาน
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ปรากฏว่าบริษัทสงบ 1051 เป็นผู้ชนะ[5] ซึ่งประกอบด้วย
1. นายธีรพล นิยม
2. นายเอนก เจริญพิริยะเวศ
3. นายชาตรี ลดาลลิตสกุล
4. นายปิยเมศ ไกรฤกษ์
5. บริษัท แปลน แอสโซซิเอทส์ จำกัด โดย นายบุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์
วัตถุประสงค์ของงานด้านการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้ให้ความสำคัญสูงสุด 9 เรื่อง โดยเน้นเรื่องอุดมคติ 5 เรื่อง และเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิต 4 เรื่อง[6]โดยเรื่องอุดมคติ[7] พิจารณา ดังต่อไปนี้
อุดมคติเรื่องที่ 1 ชาติ
รัฐสภาต้องสง่างาม แสดงถึงศักดิ์ศรีและมีคุณค่าอย่างไทย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เจริญขึ้นจากรากเหง้าของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งสถาปัตยกรรมที่ปรากฏขึ้นจะต้องเป็นการสืบสานทั้งศิลปะ วัฒนธรรม คติความเชื่อ และภูมิปัญญาจากอดีตเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบัน โดยวัตถุประสงค์ของการออกแบบเพื่อให้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นศูนย์รวมจิตใจของบุคคลภายในชาติ และเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมอันงดงามภายในชาติให้ประจักษ์แก่ทั่วโลก ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาติไทยอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับอาคารรัฐสภาของทุกประเทศทั่วโลก
อุดมคติเรื่องที่ 2 ศีลธรรม
ปัญหาการแสดงความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันของคนในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากคุณธรรมและศีลธรรมของคนในสังคมเสื่อมลง รัฐสภาจึงเป็นศูนย์รวมแห่งความหวังของประชาชนและสังคมทั่วไป โดยให้อาคารรัฐสภาเป็นสัปปายะของบ้านเมือง กล่าวคือ เป็นสถานที่แห่งปัญญา เป็นศูนย์รวมจิตใจและการมีส่วนร่วมกันของของคนทั้งชาติ รวมทั้งเป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักของบ้านเมืองในเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และการปกครองโดยธรรม
อุดมคติเรื่องที่ 3 สติปัญญา
รัฐสภาแห่งใหม่จะเป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญาของบุคคลภายในชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญต่อไป โดยเฉพาะเรื่องความเป็นชาติ เพื่อสืบสานความเป็นไทยไปสู่สังคมโลก และนำพาสติปัญญาของบุคคลภายในชาติไปสู่ความรู้ที่สมดุล ระหว่างความรู้ภายในประเทศและความรู้ภายนอกประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะยกระดับจิตใจของบุคคลภายในชาติให้สูงขึ้น
อุดมคติเรื่องที่ 4 สถาบันพระมหากษัตริย์
ประเทศไทยมีศูนย์รวมจิตในที่สำคัญสูงสุดที่ทำให้แตกต่างจากชาติอื่น ๆ ในโลก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงดำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศ ซึ่งการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จึงให้ความสำคัญกับลำดับของพื้นที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบรัฐพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุม ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่สมพระเกียรติโดยอยู่ในสถานที่อันควรและเหมาะสม
อุดมคติเรื่องที่ 5 ประชาชน
อาคารรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย แนวคิดในการออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบจึงให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกระดับ เพราะประชาชนอยู่ในฐานะที่สำคัญในทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และมีศักดิ์ศรีในอาคารสถานที่แห่งนี้
ส่วนเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตพิจารณา [8] ดังต่อไปนี้
1. ประโยชน์ใช้สอย
แนวคิดสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นโดยพิจารณาให้ความสำคัญกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาอย่างเท่าเทียมกัน การจัดระบบอาคารคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักจึงสร้างพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเข้าด้วยกัน และมีส่วนอื่นๆ อยู่ข้างนอก
2. อาคารเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน
การออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อบูรณาการอาคารขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นอาคารตัวอย่างที่สำคัญของประเทศ โดยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงที่เกี่ยวข้อง
3. การออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม
การออกแบบวางผังแม่บทได้พิจารณาถึงการให้ความสะดวกแก่ผู้พิการ เด็กและผู้สูงอายุด้วย
4. ระบบรักษาความปลอดภัยและความปลอดภัยจากเพลิงไหม้
การออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบได้เตรียมรองรับทุกสถานการณ์และวินาศภัยทุกรูปแบบอย่างบูรณาการ รวมทั้งการวางระบบผังแม่บท โดยใช้มาตรฐานเทคโนโลยีระดับสูง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์สูงของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบที่สำคัญ
งานสถาปัตยกรรมของสัปปายะสภาสถาน
งานสถาปัตยกรรมของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ต้องคำนึงถึงรายละเอียดโครงการที่กำหนดพื้นที่ใช้สอยโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และอาคารประกอบ จำนวน 424,000[9] ตารางเมตร แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ‘[10]’
ส่วนที่ 1 ที่ทำการสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย
- ที่ทำการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และส่วนที่ทำการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนที่ 2 ที่ทำการวุฒิสภา ประกอบด้วย
- ที่ทำการสมาชิกวุฒิสภา และส่วนที่ทำการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ส่วนที่ 3 พื้นที่รัฐสภาส่วนกลาง (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ประกอบด้วย
- ส่วนห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
- ส่วนห้องประชุมคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
- ส่วนห้องทำงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
- ส่วนห้องสัมมนา
- ส่วนสโมสรรัฐสภา
- ส่วนห้องอาหาร
- ส่วนห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุ
- ส่วนบริการหน่วยงานภายนอก
- สถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
- ส่วนโรงพิมพ์รัฐสภา
- ส่วนอาคารจอดรถรัฐสภา
- ส่วนงานอาคารสถานที่
- ส่วนงานรักษาความปลอดภัย
- ห้องเครื่อง
ส่วนที่ 4 งานพื้นที่สิ่งก่อสร้างภายนอกอาคาร ประกอบด้วย
- ส่วนอาคารสนับสนุนภายนอก
- ส่วนงานภูมิสถาปัตยกรรม และสาธารณูปโภคภายนอก
แนวความคิดการวางผังของของสัปปายะสภาสถานเน้นความโดดเด่น เรียบง่าย และสง่างามของอาคารรัฐสภา งานออกแบบอาคารสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพและสมดุลของสถานที่ทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการเมืองและการปกครองของราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยและระบบรัฐสภาของไทย
ส่วนรูปแบบและลักษณะการออกแบบตกแต่งภายในอาคารทั่วไปเป็นแบบอาคารสมัยใหม่ที่แสดงถึงภูมิปัญญาไทย และบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย โดยคำนึงถึงระบบการทำงานภายในของรัฐสภาที่ต้องทำงานประสานกันระหว่างสภาทั้งสองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันและ มีจุดมุ่งหมายรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนรูปแบบและพื้นที่ของห้องประชุมเป็นทรงครึ่งวงกลม และแนวคิดตกแต่งห้องประชุมใช้สัญลักษณ์ “ขวัญ ปราณ จิต” มาเป็นองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรม ‘[11]’โดยเสมือนว่าขวัญหรือจิตเป็นของรัฐสภาและของประเทศ และสถาปัตยกรรมตกแต่งภายในห้องประชุมใช้สีทองและสีเงินแสดงถึงความพิสุทธิ์และการใช้สติปัญญาเพื่อประกอบกรรมดี ซึ่งมีห้องประชุม[12] ดังต่อไปนี้
1. ห้องประชุมพระสุริยัน สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พระสุริยัน เป็นต้นกำเนิดของชีวิตและสรรพสิ่งในโลกและส่องแสงให้พลังแก่มวลมนุษย์ตลอดมา เฉกเช่นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสภาเพื่อความผาสุก สงบร่มเย็นของประชาชน และประเทศชาติ จึงได้นำสัญลักษณ์มาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของห้องนี้เพื่อแสดงความหมายถึง ความสวัสดี และสติปัญญา เพื่อเกิดความเป็นสิริมงคล อันนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ลักษณะของการสร้างสรรค์ผนังและเพดานเป็นที่ว่างรูปทรงกลม เสมือนกับการประชุมอยู่ภายใต้ท้องฟ้ากว้างใหญ่ไร้ขอบเขต เพื่อเสริมสร้างจินตนาการและความผ่อนคลายในการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องใช้พลัง สติปัญญา อย่างหนักหน่วงและยาวนาน
2. ห้องประชุมพระจันทรา สำหรับวุฒิสมาชิก[13]
พระจันทรา เป็นพลังที่ทำให้ชีวิตและสรรพสิ่งในโลกได้ทอแสงให้มวลมนุษย์ดำเนินชีวิตไปในยามค่ำคืนตลอดมา เฉกเช่นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสภาเพื่อความผาสุก สงบร่มเย็นของประชาชน และประเทศชาติ จึงได้นำสัญลักษณ์มาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของห้องนี้เพื่อแสดงความหมายถึงพลังที่เยือกเย็น เปรียบเสมือนการทำงานเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติต่อไป
สัปปายะสภาสถานจึงเปรียบเสมือน “ขวัญ” หรือจิตของประเทศที่เป็นสุดยอดของสถานที่ประกอบกรรมดี เมื่อมีการสร้างสัปปายะสภาสถานในยุครัตนโกสินทร์ขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจที่น้อมนำจิตใจของคนในชาติไปสู่ความมีศีลธรรม ความมีหิริโอตัปปะของ คนในสังคม อันนำไปสู่ความเป็นกัลยาณมิตรและสงบสันติของประเทศสืบไป
ขอบคุณเนื้อหา: http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99
ผู้เรียบเรียง : ฐะปะนีย์ จุฬารมย์, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
คลิป:https://www.youtube.com/watch?v=dKnyTTmcjL4
ภาพ : http://www.realist.co.th