จากการที่รู้ใจตัวเองตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยว่า อะไรคือสิ่งที่ชอบและใช่สำหรับตนเอง กอปรกับด้วยความตั้งอกตั้งใจในการทำงาน ความใส่ใจ ในทุก ๆ รายละเอียด พร้อมการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง จึงเป็นการทะลายกรอบและข้อจำกัดต่าง ๆ ลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้วันนี้หากพูดถึงงานโรงแรมและรีสอร์ทแอนด์สปา หลาย ๆ คนคงคุ้นหูกันดีกับ Gravity Architect และชื่อของคุณจิรเดช ทองสุข สถาปนิกและนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งนี้
Gravity Architect เกิดจากการรวมตัวกันของสถาปนิก 3 คน นอกจากคุณจิรเดช ทองสุข แล้วยังมีหุ้นส่วนอีก 2 คน คือ คุณมานิตา อักษรกุล และ คุณพร้อมเทพ คมสัน ซึ่งต่อมาได้ขยายสายงานจากการออกแบบสู่การสร้างสรรค์ธุรกิจสายอื่น ๆ อีก อาทิ การก่อตั้งบริษัท Ready Space เพื่อจัดจำหน่ายบ้านฟลิปเฮาส์ ที่ติดตั้งง่าย คุณภาพสูง รวมไปถึงการทำธุรกิจโรงแรมเล็ก ๆ อย่าง Analog Hostel ที่พักสุดฮิปสำหรับนักเดินทางอีกด้วย
ทั้งนี้ คุณจิรเดชได้เอ่ยถึงความเป็นมาของ Gravity Architect ถึงการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่วงการออกแบบได้อย่างไร “ผมเชื่อว่า เกือบทุกคนที่เรียนการออกแบบมา วันนึงก็ฝันอยากมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ผมเริ่มคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาซึ่งในตอนนั้นมีโอกาสได้ไปช่วยงานรุ่นพี่ซึ่งทำงานบริษัทดีเวลลอปเปอร์แห่งหนึ่ง ทำให้ได้มองเห็นภาพรวมของงานสถาปัตยกรรมจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาเรื่องของกฎหมายควบคุมอาคาร ตลอดจนถึงขั้นตอนการก่อสร้างและการแก้ปัญหาที่หน้างาน และที่สำคัญคือทำให้เข้าใจว่า ต่อให้เราทำงานออกมาสวยแค่ไหนแต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าก็คือจบ ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า การเรียนห้าปีในมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นการเรียนในระดับปริญญาตรีที่เกี่ยวกับการออกแบบ จบออกไปแล้วเราจะต้องทำงานในบริษัทลักษณะนี้ให้ได้ เสมือนกับว่าเป็นการเรียนในระดับปริญญาโทและยังเป็นการเรียนที่ได้รับผลตอบแทนอีกด้วย
หลังจากนั้นผมก็ทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาตลอดสิบปีเต็มกับสองบริษัทสายอสังหาริมทรัพย์และก็โชคดีที่ในเวลานั้นได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับระดับผู้จัดการและระดับเจ้าของโครงการ ทำให้ได้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการมากมายในบริษัทดีเวลอปเปอร์นั้นฝ่ายขายคือกำลังสำคัญขององค์กรและจะทำงานกันหนักมาก เมื่อถึงเวลาเลิกงานของฝ่ายออกแบบผมก็จะไปขลุกอยู่กับฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่ายขาย ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ เรียกได้ว่าช่วงนั้นผมทำงานจนแทบไม่มีวันหยุดเลยก็ว่าได้ นอกจากงานประจำแล้วผมยังรับงานฟรีแลนซ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติม จากที่ทำคนเดียวก้เริ่มหาเพื่อน ๆ มาช่วยกันทำ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปตามแต่ใครจะมีเวลาว่าง จนมาลงตัวเมื่อร่วมงานกับ คุณมานิตา อักษรกุล และ คุณพร้อมเทพ คมสัน จนได้มาเป็นหุ้นส่วนกันในที่สุดครับ
จากการที่ผมได้เรียนรู้มุมมองและแนวคิดในการบริหารงานมาก่อน จึงพอรู้ว่าก่อนจะเปิดบริษัทยังมีอีกเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงนอกเหนือจากการมีลูกค้าชั้นดีอยู่มือแล้ว นั่นก็คือการบริหารจัดการ เพราะเรื่องไม่คาดคิดนั้นอาจเกิดขึ้นได้เสมอเราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ลูกค้าชะลอโครงการหรือ
ยกเลิกโครงการ ซึ่งหากเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นเราจะทำอย่างไรให้บริษัทยังอยู่รอดได้ เบื้องต้นผมใช้วิธีควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต่อเดือน ประสานงานกับฟรีแลนซ์ที่ไว้ใจได้หลายๆทีม แทนการเพิ่มพนักงาน ทำให้แม้ในบางช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต เราก็ผ่านพ้นมาด้วยดี การเปิดบริษัทออกแบบนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การบริหารจัดการองค์กร
ให้มีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า และสิ่งเหล่านี้ ไม่ค่อยมีการเรียนการสอนในรั้วคณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ ล้วนแล้วแต่ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเองทั้งสิ้น”
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานทุกชิ้น คือหัวใจหลักในการทำงาน
การเป็นมากกว่าผู้ออกแบบ คือแนวคิดและหลักการทำงานที่สำคัญที่คุณจิรเดชยึดถือ และสร้างให้ Gravity Architect ค่อยๆ เติบโตได้อย่างยั่งยืนในวงการออกแบบ จากผลงานสร้างชื่อชิ้นแรกของบริษัทจนมีผลงานตามมาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็เป็นเพราะการทำงานอย่างทุ่มเทเกินร้อยจึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ากลับมา โดยคุณจิรเดชได้กล่าวถึงแนวทางในการทำงานและโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานที่ผ่านมา
“แรกเริ่มก็มาจากการที่เราได้มีโอกาสร่วมงานกับทางแบรนด์โรงแรมเชอราตัน โดยได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบอาคารแกรนด์บอลรูมของโรงแรม เชอราตัน หัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของบริษัทก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านี้เราเป็นเพียงสตูดิโอเล็ก ๆ ที่รับงานแบบฟรีแลนซ์ เมื่อได้งานนี้เราจึงตั้ง Gravity Architect เป็นบริษัทจำกัดขึ้น เพื่อดำเนินการในแบบนิติบุคคลเต็มรูปแบบ และเนื่องจากเป็นโครงการของแบรนด์ชั้นนำ จึงส่งผลให้มีคนรู้จักเราในวงกว้างมากขึ้น หลังจากนั้นก็มีลูกค้าเริ่มติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดคือคนที่เห็นผลงานของเราผ่านทางสื่อหรือได้สัมผัสสถานที่จริงแล้วชื่นชอบ จึงสนใจให้ทางเราออกแบบโครงการให้ โดยส่วนใหญ่แล้วแต่ละโรงแรมและ
รีสอร์ทจะมีเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์อยู่แล้ว สิ่งที่เราออกแบบก็เพื่อส่งเสริมให้คาแรคเตอร์นั้น ๆ เด่นชัดและสวยงามมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือการออกแบบนั้นต้องช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการของลูกค้าได้ด้วย ผมมองว่าสองสิ่งนี้คือจุดสำคัญที่สุด
อย่างในโครงการต่อมาที่เราได้ออกแบบก็คือ โรงแรมไมด้า เดอะซี ขนาดจำนวน 120 ห้องพัก ที่จังหวัดระยอง ซึ่งทางเจ้าของโครงการได้มีการติดต่อเข้ามาหาเราเอง เนื่องจากมีความประทับใจผลงานการออกแบบที่โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา มาก่อน โดยการออกแบบโครงการนี้ลูกค้าได้ให้อิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากครับ อัตลักษณ์ของไมด้าที่เด่นชัดมากๆ คือ ความเป็นไทย โดยเฉพาะโครงการนี้ที่ทางเจ้าของมีแนวคิดให้สร้างกลุ่มเรือนไทย
ไว้ทางฝั่งที่ติดชายทะเลก่อนแล้ว เพื่อเป็นเรือนรับรองสำหรับแขกวีไอพี เมื่อเราเข้ามาออกแบบอาคารอื่น ๆ จึงวางคอนเซปต์ ให้มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมไทยและศิลปะไทยสอดแทรกอยู่ในหลาย ๆ ส่วนของทุกอาคาร โทนสีหลักที่ใช้ในโครงการก็จะเป็นสีน้ำเงินสดฉีกภาพจำแบบเดิม ๆ ของคำว่ารีสอร์ทออกให้หมด ผนังบริเวณทางเดินก็วาดลวดลายตกแต่งเป็นเรื่องราวของรามเกียรติ์ จัดให้มีหอระฆังและมียักษ์สองตนยืนอยู่บริเวณสระว่ายน้ำ เป็นต้น เสริมด้วยการจัด
ให้มีห้องพักสำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ด้วย โดยผู้ที่ใช้วีลแชร์ไม่ได้มีเพียงผู้พิการเท่านั้น อาจเป็นผู้ป่วยที่ต้องการมาพักฟื้นหรือเป็นผู้สูงอายุที่ลูกหลานพามาเที่ยว สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นมูลค่าเพิ่มและเป็นอีกหนึ่งจุดขายของทางโรงแรมได้ และผมมองว่าแนวโน้มของงานสถาปัตยกรรมต่อไปก็จะมีความเฉพาะทางและเป็น Unique มากขึ้น อย่างเช่น โรงแรม ก็จะไม่ได้เป็นแค่โรงแรมทั่ว ๆ ไปแต่จะเป็นโรงแรมเพื่อใครหรือโรงแรมสำหรับกลุ่มคนไหน เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งที่เรามีการคำนึงถึงก็คือเรื่องของมาตรฐาน Green Leaf ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนา คุณภาพสิ่งแวดล้อมของธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการได้เช่นกัน
อีกหนึ่งโครงการที่เราได้รับความไว้วางใจให้ทำการออกแบบ คือโครงการ มุกละมัย รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่เกาะมุก จังหวัดตรัง เจ้าของเป็นดีเวลลอปเปอร์มือใหม่ที่ไม่เคยทำโครงการที่ไหนมาก่อนเลย ต้องการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ให้เป็นรีสอร์ท แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ไม่ติดทะเล เพราะฉะนั้นโจทย์ในการออกแบบคือเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าสนใจมาพักที่รีสอร์ทแห่งนี้ จึงได้มีการนำเสนอคอนเซ็ปต์ในเรื่องความความเงียบสงบแทน มีห้องพักที่อยู่ติดกับสระว่ายน้ำ สามารถลงสระได้จากระเบียงห้องพักเลย และหากอยากจะไปทะเลก็จัดให้มีรถรับส่งให้ เป็นต้น ผมคิดว่านอกจากอาชีพหมอดูแล้วก็มีอาชีพสถาปนิกนี่แหละครับที่ลูกค้าจะเล่าเรื่องส่วนตัวหรือความต้องการส่วนตัวให้เราฟัง เพราะเขาต้องการให้เราช่วยแก้ปัญหาให้ ซึ่งในบางโครงการนั้นผมก็แนะนำไปจนถึงขั้นตอนการเจรจากับทางธนาคารเลย ต้องทำอย่างไรหรือเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อจะสามารถกู้เงินผ่านได้ด้วย”
เพราะสำหรับการเป็นผู้ออกแบบนั้น คุณจิรเดชมองว่าต้องช่วยลูกค้าตอบโจทย์ในทุก ๆ เรื่องเสมือนกับเป็นที่ปรึกษาให้เขาด้วย โดยเริ่มต้นตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ วางกลยุทธ์การออกแบบโครงการให้มีจุดเด่นและจุดขายที่ดี สร้างมูลค่าให้กับงานนั้น ๆ ได้ เพราะลูกค้าต้องการมากกว่าการออกแบบ การยื่นขออนุญาตก่อสร้างและการแก้ปัญหาหน้าไซต์งาน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่สถาปนิกควรทำอยูแล้ว เพราะฉะนั้นหากสามารถทุ่มเทให้ลูกค้าได้มากกว่าสิ่งที่เขาคาดหวังก็จะทำให้ลูกค้าไว้ใจและมอบหมายงานออกแบบโครงการให้นั่นเอง
การเติบโตในแนวราบ
ด้วยเป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นถึงความต้องการของตลาด คุณจิรเดชจึงไม่จำกัดตัวเองให้เป็นเพียงสถาปนิกเท่านั้น เขายังเป็นนักธุรกิจที่รู้จักวางแผน ทั้งการบริหารสายงานการออกแบบและการต่อยอดทางธุรกิจในสายงานใหม่ ๆ อีกด้วย
“ลูกค้าส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่า Gravity Architect รับเฉพาะงานรีสอร์ทหรือโรงแรมเท่านั้น อันที่จริงแล้วบริษัทรับงานทุกประเภทครับ เพียงแต่ลูกค้าส่วนใหญ่คือคนที่เห็นตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเป็นโรงแรมกับรีสอร์ทเป็นหลัก เพราะฉะนั้นแนวคิดตามความต้องการของลูกค้าจึงมักจะออกมาในสไตล์รีสอร์ท เช่น ต้องการอพาร์ตเมนต์สไตล์รีสอร์ทหรือบ้านในสไตล์รีสอร์ท เป็นต้น อย่างล่าสุดงานบ้านที่ได้ออกแบบไปนั้น ทางเจ้าของบ้านได้เปิดให้เช่าพักผ่านทาง Airbnb แล้วครับ เนื่องจากมีคนมาสอบถามจะขอเช่าพักอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเราเองก็ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องเป็นงานออกแบบเฉพาะประเภทนี้หรือสไตล์นี้เท่านั้น เพราะสิ่งที่เรายึดมั่นคือการตอบสนองตามความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดต่างหากครับ
สำหรับอนาคตเราวางแนวทางของบริษัทให้ค่อย ๆ เติบโต และผมชอบการเติบโตในเชิงแนวราบมากกว่า อยากที่จะรับงานที่หลากหลายขึ้นและขยับขยายสายงานไปยังธุรกิจอื่นด้วย ซึ่งในตอนนี้ก็มี Analog Hostel โครงการนี้เกิดจากความชอบส่วนตัวของคุณมานิตา หนึ่งในหุ้นส่วนของบริษัท เพราะหลังจากเรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว เธอไปเป็นแอร์โฮสเตสอยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้มีโอกาสได้เดินทางบ่อยและเห็นที่พักมาหลากหลายรูปแบบ จึงเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาพัฒนาเป็น Analog Hostel ที่พักในแบบที่คนเดินทางต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งก็เป็นการต่อยอดงานออกแบบให้แก่บริษัทด้วย เพราะเมื่อมีคนเห็นก็ติดต่อมาให้ทางเราออกแบบโฮสเทลให้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมี
อีกหนึ่งธุรกิจ ได้แก่ Ready Space โดยมีคุณพร้อมเทพ หุ้นส่วนอีกท่านหนึ่งดูแลงานในส่วนนี้เป็นหลักอยู่ Ready Space เกิดขึ้นจากการที่เรามองเห็นศักยภาพของวัสดุใหม่ๆ ในท้องตลาดและคิดว่าสามารถต่อยอดจากวัสดุที่มีอยู่นี้ให้เป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ดี จึงนำมาประยุกต์และออกแบบเป็นบ้านฟลิปเฮาส์ ที่ติดตั้งง่ายคุณภาพสูง สามารถพับเก็บและขนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าขนส่งและค่าแรงงานในการติดตั้ง ซึ่งตอนนี้ก็มียอดสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และยิ่งมีการเปิดการค้าเสรี AEC ผมมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีมากๆ เลยครับ”
หากพิจารณาแล้ว คุณจิรเดชก็เป็นเช่นนักธุรกิจที่มุ่งมั่นทำงานด้านออกแบบ โดยไม่จำกัดขอบเขตของตัวเองเพียงแค่สถาปนิก ส่วน Gravity Architect เองก็ไม่หยุดเพียงแค่งานออกแบบเท่านั้น การเปิดมุมมองที่กว้างกว่าและไม่จำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่จุดใดจุดหนึ่ง สร้างผลลัพธ์ที่ดีทั้งแก่ลูกค้าและบริษัทเอง และนี่ก็เป็นแนวทางที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้
นิตยสาร Builder Vol.34 AUGUST 2016