เนื่องด้วยกระแสฟุตบอลที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทีมชาติ ทีมสโมสร หรือแม้กระทั่งมหกรรมฟุตบอลยูโร 2016 ที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้า ส่งผลให้มีผู้ที่สนใจในแวดวงกีฬาลูกหนังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สโมสรฟุตบอลหรือทีมชาติชั้นนำในแถบยุโรป ต้องเร่งทุ่มงบประมาณก่อสร้างหรือปรับปรุง สนามฟุตบอล ให้รองรับกับจำนวนฐานแฟนบอลอันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบดีไซน์สนามใหม่ให้สวยงามดึงดูดผู้ชมไปจนถึงการเพิ่มความจุที่นั่งให้แฟนบอลได้เข้าชมเกมสำคัญอย่างทั่วถึง
ด้วยเหตุนี้ทางทีม Builder News จึงขอนำทุกท่านไปยังยุโรปที่เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งในกีฬาลูกหนัง เพื่อพบกับ 10 สนามฟุตบอลที่มีความจุที่นั่งมากที่สุดในยุโรป ซึ่งมีทั้งความสวยงามในด้านการออกแบบพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย เชิญชวนให้เหล่าแฟนบอลพันธ์แท้วาดฝันที่จะเข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศเกาะติดขอบสนามดูสักครั้งในชีวิต
สนามอัลลิอันซ์ อารีนา ความจุ 75,000 ที่นั่ง
สนามฟุตบอล อัลลิอันซ์ อารีนา ตั้งอยู่ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี สนามแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสนามฟุตบอลที่มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่สวยงาม อีกทั้งยังเป็นสนามฟุตบอลทีมเหย้าของสโมสรบาเยิร์นมิวนิคอันโด่งดัง รวมถึงสโมสร 1860 มิวนิค การก่อสร้างสนามอัลลิอันซ์ อารีนา เริ่มขึ้นเมื่อเดือนคุลาคม ปี พ.ศ. 2545 โดยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 340 ล้านปอนด์ และเสร็จสิ้นพร้อมเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2548
ความโดดเด่นของสนามแห่งนี้อยู่ที่ดีไซน์ภายนอก ซึ่งประดับด้วยหลอดไฟ LED ที่สามารถเปลี่ยนสีตามต้องการได้หลายรูปแบบ โดยส่วนมากมักจะใช้สีแดงซึ่งเป็นสีประจำของทีมบาเยิร์นมิวนิค และสีฟ้าของทีม 1860 มิวนิค นอกจากนี้สนามอัลลิอันซ์ อารีนา ยังมีบทบาทในการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญหลายครั้ง เช่น ฟุตบอลโลกในปี พ.ศ. 2549 และฟุตยอลยูฟ่าแชมป์เปียนลีคนัดชิงชนะเลิศในปี พ.ศ. 2555 รวมถึงยังมีบทบาทต่อการจัดฟุตบอลยูโรในอีก 4 ปี ข้างหน้าด้วย
สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ความจุ 75,811 ที่นั่ง
เชื่อว่าคอฟุตบอลหลายท่านคงรู้จักและคุ้นเคยกับสนามแห่งนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากโอลด์แทรฟฟอร์ด หรือ “โรงละครแห่งความฝัน” เป็นสนามเหย้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยอดทีมที่มีแฟนคลับเยอะที่สุดในโลกนั่นเอง
สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2453 จึงนับเป็นสนามฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน กว่า 100 ปีที่ผ่านมาสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดได้มีการปรับปรุงด้านโครงสร้างหลายครั้ง ทั้งการต่อเติมอัฒจันทร์เพื่อให้จุผู้ชมมากขึ้น การต่อเติมหลังคารอบด้าน การติดตั้งเก้าอี้นั่งแทนการยืนแบบเดิมเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการของผู้ชมในยุคปัจจุบัน
ในปัจจบันนี้สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในแวดวงลูกหนังของประเทศอังกฤษ รวมถึงยังเป็นสถานที่อันศักด์สิทธิ์ที่สาวกผีแดงทั่วโลกใฝ่ฝันที่จะได้มาเหยียบสักครั้งในชีวิต
สนาม อตาเติร์ก โอลิมปิก สเตเดี้ยม 76,092 ที่นั่ง
สนามฟุตบอล แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี และเป็นสนามเหย้าของทีม อิสตันบูล บีบีเอสเค รวมถึงยังใช้เป็นสนามทีมชาติของตุรกีก้วย การก่อสร้างสนามเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2542 และเปิดใช้งานในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2545
แต่เดิมนั้นสนาม อตาเติร์ก โอลิมปิก สเตเดี้ยม สร้างขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี พ.ศ.2551 รวมถึงฟุตบอลยูโร แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์เดิมเนื่องจากในท้ายที่สุดประเทศตุรกีไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาครั้งใหญ่ทั้งคู่
แต่กระนั้นสนาม อตาเติร์ก โอลิมปิก สเตเดี้ยม ก็ยังได้เคยถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นสนามชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปียนเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่สโมสรลิเวอร์พลูพลิกเกมกลับมาคว้าชัยเหนือเอซีมิลาน ส่งผลให้หงส์แดงก้าวขึ้นเป็นแชมป์ยุโรปสมัยที่ 5
สนาม ลุซนิกิ สเตเดียม ความจุ 78,360 ที่นั่ง
อีกหนึ่งสนามฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์คู่กับกรุงมอสโค ประเทศรัสเซียมาอย่างช้านาน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2498 เพื่อรองรับกับการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มิถุนายน ของปีถัดมา โดยใช้เวลาก่อสร้างเพียง 450 วันเท่านั้น
สนามดังกล่าวเป็นสนามกีฬาประจำทีมชาติรัสเซีย รวมถึงได้เคยใช้ในงานสำคัญหลายครั้งเช่น การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี พ.ศ.2523 การแข่งขันฟึตบอลยูฟ่าคัฟนัดชิงชนะเลิศในปี พ.ศ.2542 และฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รอบชิงชนะเลิศ พ.ศ.2551
ลุซนิกิ สเตเดียม ได้มีการรีโนเวทครั้งสำคัญในปี พ.ศ. 2539 โดยต่อเติมโครงสร้างหลังคาครอบคลุมโดยรอบสนาม และในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างอีกครั้งเพื่อรองรับกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก 2018 ที่จะจัดขึ้นในประเทศรัสเซียในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มความจุสนามเป็น 81,000 ที่นั่ง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อย่างครบครัน
สนาม สตาดเดอฟร็องส์ ความจุ 80,000 ที่นั่ง
สนามฟุตบอล สตาดเดอฟร็องส์ แห่งนี้ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2541เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก โดยใช้เวลาก่อสร้างร่วม 31 เดือน และยังคงสืบความสำคัญต่อมาในฐานะสนามกีฬาประจำทีมชาติฟุตบอลฝรั่งเศสอีกด้วย
สนามแห่งนี้ถือว่าสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจแก่ชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสนามชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกที่เจ้าภาพรัวกระสุนฝังแชมป์เก่าอย่างบราซิลไปด้วยสกอร์ขาดลอย 3-0 สร้างตำนานพาฝรั่งเศสให้ก้าวขึ้นครองถ้วยฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้สนามสตาดเดอฟร็องส์ ยังเป็นสถานที่จัดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รอบชิงชนะเลิศถึงสองครั้งในปี พ.ศ. 2543 และปี พ.ศ. 2549 ด้วยเช่นกัน
จุดเด่นของสนาม สตาดเดอฟร็องส์ คือหลังคาทรงรูปไข่ที่ทอดเป็นผืนแผ่นเดียวกันซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 13,000 ตัน บนงบประมาณการก่อสร้าง 45 ล้านปอนด์ รับน้ำหนักด้วยเสาขนาดใหญ่โดยรอบพร้อมกับสายเคเบิลคอยดึงยึดตัวหลังคาเอาไว้ ส่งผลให้สามารถกันแดดและกันฝนครอบคลุมทั้งทั่วทั้งอัฒจันทร์ โดยไม่มีตัวโครงสร้างมาบดบังสายตาของผู้ชม
สนามซานซีโร่ ความจุ 80,018 ที่นั่ง
ซานซีโร่ สนามรังเหย้าของสโมสรเอซี มีลาน และอินเตอร์มิลาน ยักษ์ใหญ่แห่งกัลโซ่ซีรีอาร์ บนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่คู่วงการลูกหนังของเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มาเป็นเวลานาน
แต่เดิมซานซีโร่นั้นเป็นเพียงสนามฟุตบอลเล็กๆ ที่มีความจุเพียงไม่กี่หมื่นคน โดยต่อมาได้มีการปรับปรุงต่อเติมโครงสร้างครั้งใหญ่ ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกได้มีการต่อเติมอัฒจันทร์ให้เชื่อมต่อกันทั้ง 4 ด้านในปี พ.ศ. 2478 และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2498 ที่เพิ่มอัฒจันทร์ชั้นสองขึ้นมา และครั้งสุดท้ายคือการเพิ่มอัฒจันทร์เป็น 3 ชั้น พร้อมกับเปลี่ยนจากพื้นที่ยืนเป็นเก้าอี้นั้งทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2533 สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอันรองรับจำนวนแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี
จุดเด่นของสนามซานซีโร่ นั้นอยู่ที่หอคอยทรงกลมขนาดใหญ่ที่อยู่รายล้อมภายนอกสนาม ซึ่งมีหน้าที่ค้ำยันอัฒจันทร์ชั้นสองและชั้นสามจากการต่อเติม สามารถสังเกตุเห็นได้ชัดทั้งภายในและภายนอกสนาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของสนามซานซีโร่ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้สนามซานซีโร่ยังถูกใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันฟุตบอลรายการยูฟ่าแชมเปี้ยนลีคหลายสมัย โดยเฉพาะปีล่าสุดที่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
สนามซานติเอโก้ เบอร์นาบิว 81,044 ที่นั่ง
ซานติเอโก้ เบอร์นาบิว มีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องจากเป็นรังของสโมสรเรอัลมาดริด หรือราชันชุดขาวแห่งมาดริด เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2490สนามแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญเฉกเช่นกับสนามใหญ่ๆ ในยุโรปอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะฟุตบอลยูโรเปี้ยนคัฟ (ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีค)
ตัวสนามมีการออกแบบคล้ายกับโรงละครให้ผู้ชมได้ซึบซับกับบรรยาศการแข่งขันอย่างใกล้ชิด และได้มีการต่อเติมสนามเพื่อให้รองรับกับผู้ชมมาตลอดด้วยการเพิ่มจำนวนชั้นของอัฒจันทร์ให้มีความสูงมากขึ้นไปอีก จนปัจจุบันนี้สนามก็ได้ถูกต่อเติมให้มีถึง 5 ชั้นเลยทีเดียว นอกจากนี้ตัวสนามยังเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งสถานีรถไฟใต้ดินที่เป็นของตัวเอง ร้านค้าร้านอาหาร ห้อง VIP เก้าอี้ปรับอุณหภูมิ ฯลฯ และทางสโมสรเรอัลมาดริด ยังมีแผนขยายสนามรวมถึงรีโนเวทตกแต่งโครงสร้างด้านนอกเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้อีกด้วย
สนามซิกนัล อิดูนา พาร์ค ความจุ 81,359 คน
ซิกนัล อิดูนา พาร์ค มีชื่อเดิมว่า เวสท์ฟาเลนชตาดิโยน ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลที่จุคนได้มากที่สุดในประเทศเยอรมนี รวมถึงยังเป็นรังเหย้าของเสือเหลืองโบรุสเซียดอร์ทมุนด์อีกด้วย
สนามแห่งนี้ได้เปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517โดยแต่ก่อนเป็นเพียงสนามฟุตบอลเล็กๆ ที่มีอัฒจันทร์ชั้นเดียวเท่านั้น พอมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2498 จึงได้มีการเพิ่มอัฒจันทร์ชั้นที่ 2 ทางฝั่งทิศตะวันออกและตะวันตก และได้มีการเพิ่มทางฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ในเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2542 รวมถึงการเชื่อมโครงสร้างอัฒจันทร์ทั้ง 4 ด้านให้ติดกันในปี พ.ศ. 2546 การใช้งานสำคัญคือการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนีเป็นเจ้าภาพ
การตกแต่งภายในของสนาม ซิกนัล อิดูนา พาร์ค ได้ใช้โทนสีเหลืองและสีดำเป็นหลักซึ่งเป็นสีประจำของสโมสร ส่วนโครงสร้างภายนอกดูโดดเด่นด้วยการทาสีขาวตัดกับเสายึดโครงสร้างสีเหลืองจำนวน 8 เสา ที่บริเวณมุมสนาม
สนามเวมบลีย์ ความจุ 90,000 ที่นั่ง
เวมบลีย์ เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในเกาะอังกฤษ และยังเป็นสนามเหย้าของสิงโตคำรามทีมชาติอังกฤษซึ่งแฟนพันธ์แท้ฟุตบอลพรีเมียลีคจะต้องรู้จักเป็นอย่างดี สนามเวมบลีย์ในปัจจุบันหรือนิวเวมบลีย์ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2550 แทนสนามเวมบลีย์เดิมที่ใช้งานมายาวนานมาหลายทศวรรษ ด้วยความจุที่มากถึง 90,000 ที่นั่ง จึงเป็นสนามที่รองรับแฟนบอลได้มากที่สุดในเกาะอังกฤษ
สนามเวมบลีย์ ใช้งบประมาณในการสร้างสูงถึง 757 ล้านปอนด์ มีความโดดเด่นที่ส่วนโค้งขนาดกว้าง 315 เมตร และสูง 133 เมตร คอยยึดตัวโครงสร้างหลังคา ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีระบบหลังคาเปิด-ปิดแบบสไลด์ ยาว 52 เมตร ที่จะคลุมผู้ชมกว่า 90,000 คนได้ทั้งหมด
นอกจากการใช้งานเป็นสนามประจำทีมชาติอังกฤษแล้ว เวมบลีย์ได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปียนลีค 1 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2554 และยังเป็นสนามกลางในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยระหว่างสโมครภายในประเทศอย่าง เอฟเอคัฟ แคปปิตอลวันคัพ และคอมมูนิตี้ชิล เช่นกัน
สนามคัมป์นู ความจุ 99,354 ที่นั่ง
และแล้วก็มาถึงสนามฟุตบอลที่จุผู้ชมได้มากที่สุดในยุโรปซึ่งนั่นก็คือคัมป์นู สนามของมหาทีมฟุตบอลต่างดาวบาเซโลน่านั่นเอง สนามคัมป์นูได้เปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 โดยแรกเริ่มเป็นสนามฟุตบอล 2 ชั้น ต่อมาจึงได้ก่อสร้างต่อเติมเป็น 3 ชั้นในเวลาต่อมา
สนามคัมป์นู มีโครงสร้างที่คล้ายกับชามหงาย ส่งผลให้บนอัฒจันทร์มีพื้นที่เพียงพอต่อการติดตั้งเก้าอี้ผู้ชมให้มากเฉียดแสนคน พร้อมด้วยการตกแต่งสีภายในด้วยโทนน้ำเงิน-แดง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสรบาเซโลน่า ทั้งนี้สนามคัมป์นูจะต่างจากสนามฟุตบอลขนาดใหญ่อื่นๆ เนื่องจากมีหลังคาเพียงแค่ฝั่งเดียว ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็จะเปิดโล่งทั้งหมด แต่กระนั้นก็ยังมีแฟนบอลแห่กันเข้าชมจนเกือบเต็มอัตตราแทบทุกนัด สะท้อนให้เห็นถึงชื่อเสียงอันโด่งดังของสโมสรที่หลายคนต่างยกย่องว่าเป็นทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลกในขณะนี้
ด้วยแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสโมสรฟุตบอลบาเซโลน่ายังมีแผนที่จะปรับปรุงสนามคัมป์นูในอนาคต โดยจะก่อสร้างหลังคารอบด้านตามมาตรฐานสนามฟุตบอลชั้นนำทั่วไป และจะขายที่นั่งให้มากถึง 105,000 อีกด้วย โดยแผนการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มขึ้นในปีหน้า
สนามฟุตบอลที่ได้นำมาให้ชมนั้นล้วนมีความจุจำนวนมหาศาล ซึ่งบางสนามก็ได้สร้างขึ้นมาใหม่และสนามบางแห่งก็มีประวัติศาสตร์อันเก่าพร้อมกับก่อสร้างต่อเติมมาหลายครั้งเพื่อตอบรับกับความต้องการของฐานแฟนบอล แต่สิ่งหนึ่งที่จะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนคือ “ฟุตบอล” เป็นกีฬายอดนิยมของมวลมหาชนซึ่งมีบทบาททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานรวมศตวรรษ จึงไม่แปลกใจที่การแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญจะได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก
Source : manutd
allianz-arena
ataturkolimpiyatstadi
luzhniki
stadefrance
sansiro
wembleystadium stadiumguide bleacherreport sportskeeda