สถาปัตยกรรมที่เป็นประตูด่านแรก เป็นหน้าเป็นตาให้บ้านเกิดเมืองนอน เดิมคนอาจจะมองไปที่แกรนด์ใหญ่ ๆ อย่างพระราชวังและโบราณสถานทั้งหลาย วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะทันทีที่แขกต่างประเทศมาเยี่ยมเยือนเรา เขาต้องเห็นความศิวิไลซ์เราได้จากบนฟ้า และเมื่อลงจอด เขาต้องเห็นความงามได้ทันที ดังนั้น ประเทศที่อยากดึงดูดนักท่องเที่ยวไว้เยอะ ๆ จึงหันไปลงทุนกับการออกแบบสนามบิน!
ล่าสุดที่เราเพิ่งเห็นมาจากการเปิดตัวของ CGTN คือรูปแบบสนามบินเตรียมเปิดใหม่ของปักกิ่งที่มีกำหนดเปิดให้บริการปลายเดือนหน้า (กันยายน 2562) ที่มีสไตล์การออกแบบ Futurism สุด ๆ ล้ำเหมือนหลุดมาจากอนาคตด้วยรูปทรงสุดโค้ง มีกลิ่นอายความเป็นตะวันตกแบบที่ไม่คิดว่าจะเป็นพื้นที่ของจีน
ก่อนจะไปถึงเรื่องดีไซน์ จุดประสงค์ของการสร้างสนามบินใหม่ ไม่ใช่แค่การอวดความสวยงามอย่างเดียว แต่จีนตั้งใจสร้างสนามบินใหม่ขนาด 700,000 ตารางเมตร รองรับความจุประมาณ 45 ล้านคนต่อปี (ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในปี 2564) แห่งนี้ขึ้นเพื่อลดภาระให้สนามบินเดิมเพื่อให้รองรับการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานดีไซน์ Daxing Airport หรือสนามบินต้าซิงนี้เป็นของ Queen of the curve วงการออกแบบ Zaha Mohammad Hadid ซึ่งประกาศก่อสร้างโปรเจกต์มาตั้งแต่ต้นปี 2015 ใช้เวลาถึง 5 ปีในการก่อสร้าง
ถ้ามองจากด้านนอกเราจะเห็นชัดว่าหน้าตาของสนามบินจะคล้ายเซลล์ แบ่งเป็น “ฮับ” ส่วนกลาง และแตกจากส่วนกลางไปจะเป็นเสาที่ด้านข้างแผ่แยกออกไป 6 เสา แนวการออกแบบที่ทันสมัยนี้แค่มองปราดเดียวก็รู้ทันทีว่าเป็นเอกลักษณ์ของ Zaha Hadid
โปรเจกต์ชิ้นนี้เป็นโปรเจกต์ที่สำเร็จขึ้นหลังสถาปนิกสิ้นลมหายใจ Zaha Hadid แน่นอนว่าในแวดวงสถาปัตยกรรมชื่อของเธอโด่งดังมาก เธอจากเราไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในวัย 65 ปีด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ไหน ๆ พูดถึงผลงานชิ้นนี้ของเธอแล้ว เราขอใช้พื้นที่นี้เพื่อรำลึกถึงเธอด้วย ใครที่ยังไม่รู้จะได้รู้จักเธอไปพร้อมกัน
Zaha Hadid (ซาฮา ฮาดิด) คือสถาปนิกหญิงชาวอิรัก-อังกฤษ เกิดที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ศึกษาด้านคณิตศาสตร์และจบปริญญาใบแรกในด้านนี้ก่อนจะไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมที่สมาคมสถาปัตยกรรม วิทยาลัยสถาปัตยกรรม กรุงลอนดอน
แนวงานของ Hadid เป็นแนว Deconstructivism สไตล์ Neofuturistic งานที่ออกมาจึงเป็นแนว Futuristic เพราะนำอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์มาคำนวณร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสร้างฟอร์มที่แตกต่างให้อาคาร ซึ่งถ้าเทียบในยุคนั้น จัดว่าเป็นการออกแบบที่จัดจ้านและท้าทายมากเพราะฟอร์มการออกแบบของเธอถือว่าหวือหวา เป็น Free Form ไม่ใช่แบบเดียวกับอาคารในสมัยนั้น
รูปทรงที่เลื่อนไหลดูไม่แข็งทื่อใช้ส่วนโค้งเข้ามาร่วมในการออกแบบให้ความรู้สึกอิสระ แต่ด้านในวัสดุและโครงสร้างยังคงทน มีเลเยอร์ซ้อนทับกันที่นำมาผสานเป็นหนึ่งเดียวทำให้ผลงานเป็นเอกลักษณ์ ใครคิดจะลอกก็จัดว่าเป็นลายเซ็นที่ลอกยากมากทีเดียว แต่ด้วยความไม่ทื่อ ความแหวกแนวก็ทำให้สถาปนิกหญิงชาวมุสลิมคนนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคเรื่องการสร้างความเข้าใจมากทีเดียวเพื่อสร้างการยอมรับ เพราะฟอร์มมันล้ำเกิน ขณะเดียวกันยุคที่เธอเติบโตวงการสถาปนิกดูจะครองพื้นที่ด้วยเพศชายเสียเป็นส่วนใหญ่ เพศ ชนชาติ ศาสนา จึงเป็นสิ่งที่เธอต้องพิสูจน์ว่ามันจะไม่บดบังความสามารถของเธอ แรก ๆ งานส่วนใหญ่ที่เธอออกแบบได้รับการปฏิเสธ จนท้ายที่สุด เธอไปสร้างผลงานแจ้งเกิดได้ในปี 1994 จาก “Vitra fire station” โปรเจกต์การออกแบบสถานีดับเพลิงในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ประเทศเยอรมัน
ปัจจุบันผลงานของเธอกระจายอยู่กว่า 44 ประเทศทั่วโลกและมีจำนวนนับพันชิ้น ชื่อเสียงของเธอโด่งดังเป็นที่รู้จักของผู้คนและการันตีด้วยการเป็นสถาปนิกหญิงและชาวมุสลิมผู้ได้รับรางวัล Pritzker Prize คนแรกของโลกอีกด้วย
นอกจากผลงานสนามบิน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Hadid ที่สร้างผลงานทิ้งไว้ในประเทศจีน แต่ยังมีอีกหลายชิ้นที่หลายคนมีโอกาสไปเยือน เป็นสถานที่โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวแต่อาจจะไม่เคยรู้ด้วย เช่น Guangzhou Opera House (กวางโจวโอเปร่าเฮ้าส์) โรงละครโอเปร่าคุณภาพเยี่ยม ตั้งอยู่ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน ความสวยสะดุดตาทำให้โรงละครแห่งนี้ติดอันดับโรงละครที่สวยงามระดับโลกอีกด้วย
Galaxy Soho ย่านโซโห อาคารในปักกิ่งเป็นไอคอนของความบันเทิง มีพื้นที่ทั้งหมด 330,000 ตร.ม. เป็นกลุ่มอาคาร 4 ภายในโดมหลัก ความโค้งที่ลื่นไหลไร้รอยต่อสวยงามแปลกตา ทำให้อาคารโดดเด่นแตกต่างจากอาคารรอบข้าง
เราไม่มั่นใจว่าผลงานสนามบินต้าซิงแห่งนี้คือผลงานชิ้นสุดท้ายของเธอหรือไม่ แต่ใครที่อยากสัมผัสสปิริตของหญิงสาวเจ้าของรางวัล Pritzker Prize การไปเยือนปักกิ่ง แลนด์ดิ้งบนสถานที่นี้อาจจะเป็นสิ่งที่คุณต้องไปสักครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.designboom.com/architecture/zaha-hadid-daxing-airport-berlin-video-08-21-2019/
- https://bit.ly/2lvODEE
แหล่งที่มาภาพปก: businesstraveller.com