เดือนนี้เมื่อปีที่แล้ว ทีมงาน BuilderNews ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ญารินดา บุนนาค” ถึง 3 โปรเจกต์สนามเด็กเล่นที่ต้องการสร้างสรรค์พื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สร้างทักษะต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ และผู้ปกครอง หนึ่งในโปรเจกต์ที่พูดถึงคือ “สนามเด็กเล่น โรงเรียนทอสี” โรงเรียนวิถีพุทธ กับการ “เล่น” ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ
ย้อนชม 3 โปรเจกต์เนรมิตพื้นที่ “เล่น” ให้เป็นพื้นที่ “สุข”
ของ “ญารินดา บุนนาค” ได้ที่นี่
วันนี้สนามเด็กเล่นได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทีมงาน BuilderNews จะพาผู้อ่านทุกท่านไปเยี่ยมชมสนามเด็กเล่นแห่งนี้กัน ที่สร้างบนข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงนำมาสู่ทางเดิน Skywalk และสนามเด็กเล่นลอยฟ้าที่สามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ไม่ยาก
ด้วยความที่โรงเรียนทอสีนั้นเป็นโรงเรียนวิถีพุทธและมีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน โจทย์ในการออกแบบจึงต้องทำให้ “การเล่น” ของเด็ก ๆ นั้น ต้องอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองระแวกเอกมัย-ปรีดีพนมยงค์ จึงจำเป็นต้องยกระดับพื้นที่ของสนามเด็กเล่นให้ขึ้นไปอยู่บน Platform ที่เป็น Skywalk เชื่อมต่อกับตึกเรียนเข้าด้วยกัน
สำหรับการออกแบบสนามเด็กเล่น ญารินดาได้ใส่กิจกรรมต่าง ๆ ให้หลากหลายและเสริมสร้างทักษะของเด็ก ๆ ในการเล่นเครื่องเล่นทุกชิ้นให้มีการเรียนรู้และพัฒนามากกว่าห้องเรียน เช่น บ่อทราย บาร์ห้อยโหนให้ยืดกล้ามเนื้อ หอคอยรังผึ้งสำหรับให้เด็ก ๆ ปีนป่ายเชื่อมต่อกับสะพานโยกเยกฝีกทักษะการทรงตัว ถ้ำขนาดย่อมช่วยฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เด็ก ๆ เรียนรู้การผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และที่สำคัญคือมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ให้เด็ก ๆ ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น แม้โรงเรียนจะอยู่ในเมืองก็ตาม
วัสดุที่ใช้ในการออกแบบคือ “ไม้” ซึ่งนำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างทั้งหมด ทั้งหอคอย สะพาน ถ้ำ ข้อดีของไม้ในสนามเด็กเล่นแห่งนี้คือมันสามารถถอดประกอบและนำไปติดตั้งนอกสถานที่ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้ฐานสร้างใด ๆ ขอแค่มีพื้นที่โล่ง ๆ ให้ติดตั้งก็ประกอบขึ้นได้สบาย ๆ
นอกจากนี้ในเรื่องของเครื่องเล่นต่าง ๆ ญารินดายังร่วมกันออกแบบกับคุณครูพละ เพื่อสร้างเครื่องเล่นที่พัฒนาทักษะ กล้ามเนื้อ รวมถึงกระบวนการคิดของเด็ก ๆ ไม่ใช่แค่มอบแค่ความสุข สนุกสนานเท่านั้น แต่ยังให้ความแข็งแรงและพัฒนาการทางกายภาพอีกด้วย ที่สำคัญคือต้องปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากโปรเจกต์นี้จะเป็นพื้นที่สำหรับส่งต่อความสุขให้เด็ก ๆ แล้ว ญารินดาต้องการให้พื้นที่เล่นกลายเป็นพื้นที่สุขอย่างสร้างสรรค์ และจะต้องช่วยด้านพัฒนาการของเด็ก ๆ ให้เติบโตกลายเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ เราอาจมองว่าสนามเด็กเป็นพื้นที่ที่สร้างแต่ความสนุกเท่านั้น แต่หลายคนอยากที่จะออกแบบพื้นที่ตรงนี้ให้มีการพัฒนาอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย “เพราะพื้นที่ของเด็ก ๆ สำคัญกับการเจริญเติบโตเสมอ”
ภาพจาก: archdaily