สีสันคือ Agenda หนึ่งของการเปลี่ยนวัสดุเดิมให้น่าสนใจ เปลี่ยนความรู้สึกและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนที่สัมผัสมัน นี่คือเหตุผลที่ความก้าวหน้าของการพัฒนาในวงการวัสดุ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อฟังก์ชันเพียงอย่างเดียวแต่ให้ความสำคัญกับการใส่สีสันลงในวัสดุและวัตถุที่ผลิตขึ้นด้วย
Atrtur de menezes นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวบราซิลออกแบบเก้าอี้ที่ผลิตจากแก้วที่มีผิววัสดุเป็นสีรุ้ง สีสันที่สะท้อนบนแก้วโดยใช้เทคนิค Oil Slick หรือการสร้างพื้นผิวแบบคราบน้ำมันที่สามารถสะท้อนสีรุ้งออกมาได้อย่างสวยงาม
เมื่อเก้าอี้ดั้งเดิม รูปทรงเดิม และสีสันเดิมไม่มีความเปลี่ยนแปลงมายาวนานตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 20 Atrtur de menezes จึงวางคอนเซ็ปต์ผลงานนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่นำความร่วมสมัยมาผสานกับรูปทรงและความเรียบง่ายดั้งเดิม
“เบื้องหลังแนวคิดหลังเก้าอี้น้ำมันตัวนี้มาจาก Modernist Movement ที่มาพร้อมรูปทรงที่เรียบง่ายสุดเคร่งขรึม นี่คือภาพความเปลี่ยนแปลงที่ตีความใหม่จากมุมมองส่วนตัวของผมจากการค้นหาสีสันกับความเป็นไปได้ในการตกแต่งบนกระจก ผลที่ได้ออกมาจึงเป็นผลงานชิ้นนี้ที่เป็นบริบทชิ้นงานร่วมสมัย”
– Atrtur de menezes
ที่มาของสีรุ้งบนแก้วใสดึงดูดสายตาทำขึ้นจากส่วนโค้งของกระจกที่นำมาเคลือบภายในเพื่อสะท้อนสีที่แตกต่างกันตามองศาที่สามารถมองเห็นภาพและเปลี่ยนแปลงไปเมื่อย้ายที่มอง เกิดเป็นมิติที่มองได้ไม่รู้เบื่อ น่าค้นหากว่าเก้าอี้ที่สร้างขึ้นจากวัสดุแก้วทั่วไปซึ่งมักจะมีเพียงสีเดียวหรือไร้สี (ใส)
ผลงานชิ้นนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนาของ Atrtur de menezes ร่วมกับแบรนด์ดีไซน์ในอัมสเตอร์ดัม ชิ้นงานด้านหน้าจึงเป็นเพียงผลงานต้นแบบยั่วน้ำลายเท่านั้น แต่แค่เพียง 3 ภาพก็เรียกความสนใจของเราได้ เช่นเดียวกับที่ดีไซน์เนอร์ชาวบราซิลคนนี้กล่าวถึงวัสดุที่นำมาออกแบบเป็นผลงานของเขา
“แก้วหลากสีจากการจำลองเอฟเฟกต์น้ำมันสร้างแรงดึงดูดฝูงชนให้มาสนใจมันมากขึ้น”
เทคนิค Oil Slick แบบนี้ ไม่ได้โด่งดังเฉพาะในวงการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นกระแสในยุคนี้มายาวนาน โดยเฉพาะในฟากวงการแฟชั่นที่เรามักเห็นการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม หรือสนีกเกอร์ในรูปแบบเดียวกัน แต่สีสันที่วูบวาบและคงความใสยังไม่ค่อยมีให้เห็นในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เหมือนผลงานชิ้นนี้
ตัวอย่างการออกแบบแจ็คเก็ตที่สร้างเทคนิค Oil Slick ด้วยการฝังกระจกแก้วทรงกลม (Glass spheres) จำนวนกว่าสองพันล้านชิ้นบนเสื้อ เมื่อเสื้อกระทบแสงจะสร้างสีรุ้งบนผิวผ้า ชิ้นนี้แม้จะใช้วิธีที่แตกต่างจากการเคลือบเก้าอี้ แต่ก็ทำให้เห็นว่าวิธีการสร้างผลงานให้น่าสนใจไม่จำเป็นต้องมาจากรูปแบบการสร้างงานเพียงแบบเดียว อาจจะใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจได้เช่นเดียวกัน
BuilderNews ตั้งใจนำเสนอเส้นทางการออกแบบที่ไม่จำเจและภาพพลวัตของวงการวัสดุที่มีทั่วโลกเพื่อให้ผู้เสพผลงานทั่วไปหรือนักออกแบบที่เกี่ยวข้องได้เก็บเกี่ยวและนำไปพัฒนาผลงานตัวเอง หวังว่าทุกคนจะชื่นชอบกันและเราจะได้มีโอกาสนำเสนอวงการวัสดุไทยที่นำความน่าสนใจมาบอกต่อเช่นเดียวกับผลงานนี้และผลงานชิ้นอื่น ๆ ในเว็บไซต์
ประสบการณ์แม้ไม่ได้สัมผัสด้วยมือ แต่สายตาและการรับรู้เป็นอีกหนทางที่เราสามารถเรียนรู้ได้ไม่จำกัด เรื่องราววงการวัสดุ “ยิ่งเห็น ยิ่งได้”
ใครที่ชื่นชอบผลงานของ Artur de menezes ชิ้นนี้และอยากติดตามผลงานชิ้นอื่นเพิ่มเติม สามารถกดเข้าไปดูได้ที่ https://www.instagram.com/artur.de.menezes/ แต่บอกเลยว่าเขาไม่ธรรมดาและมีผลงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกมาแล้ว!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.designboom.com/design/artur-de-menezes-oil-chair-iridescent-08-31-2019/
- https://www.designboom.com/design/vollebak-black-squid-jacket-glass-spheres-08-16-2019/?fbclid=IwAR24vWIFeK85KFPFvwKIveJiq91RKhyDHOWJI7vlc_tcUt_ZItDdBPVczZg