Kevin J Singh รองศาสตราจารย์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม แห่งสถาบันด้านการออกแบบ มหาวิทยาลัย Louisiana Tech เผย 21 หนทางสู่ความสำเร็จในสายงานสถาปัตยกรรม และทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในอาชีพสถาปนิก เพื่อเป็นข้อแนะนำให้แก่นักศึกษา และผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพสถาปนิกทุกคนที่ต้องการหันกลับมาจดจ้องกับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ
กฎ 21 ข้อที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในเส้นทางสถาปัตยกรรม
1. เมื่อจบการศึกษา ควรเริ่มต้นทำงานในสายงานของคุณให้เร็วที่สุด เพื่อสั่งสมประสบการณ์
2. อย่ายึดกับบริษัทออกแบบเก่า ๆ แต่เลือกทำงานในบริษัทออกแบบที่ยังอายุน้อย
3. สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงสถาปัตยกรรม เพื่อขยายเครือข่ายในวิชาชีพให้กว้างขวาง ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะ
อายุเท่าไหร่ หรือมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหนก็ตาม
4. อย่าไปอารมณ์เสียเมื่อเจอลูกค้าที่คิดว่าตนเองรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมมากกว่าคุณ
5. อย่าทำลายอาชีพ หน้าที่การงาน หรือผลประโยชน์ของตนเองที่กำลังได้รับ เพราะแวดวงของสถาปัตยกรรมนั้นแคบ การกระทำต่าง ๆ ของคุณจะเป็นที่จดจำ และคุณอาจไม่มีโอกาสได้รับโอกาสนั้นอีกเป็นครั้งที่สอง
6. หางานใหม่ หากงานที่ทำอยู่ไม่ได้ทำให้คุณพัฒนาฝีมือ ไม่ได้มอบประสอบการณ์ที่ดี ไม่ได้ทำให้คุณได้รับโอกาสใหม่ ๆ และไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
7. กล้าแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม และแจกแจงทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าของโปรเจคต่าง ๆ ที่คุณเห็นว่าควรได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ต่อผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ
8. ออกแบบเส้นทางอาชีพของคุณเอง ค้นหาตนเองว่าลึก ๆ แล้วคุณอยากทำอะไร ถนัดสิ่งไหน โดยอาศัยประสบการณ์ทั้งหมดที่มี แล้วพาตัวเองไปยังจุดหมายนั้นให้ได้
9. ทำให้ตัวเองแตกต่างโดดเด่นจากคนอื่น หมั่นพัฒนาทักษะและความสามารถ
10. อย่าเปรียบเทียบพนักงานประจำกับเด็กฝึกงาน หากคุณเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ เด็กฝึกงานจะคอยแนะนำข้อมูลขององค์กรและโปรเจคต่าง ๆ ที่องค์กรเคยทำ แต่พนักงานประจำ จะเป็นคนมอบหมายงานและความรับผิดชอบให้กับคุณ
11. ติดตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมสม่ำเสมอ ที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม
12. ใส่ใจเรื่องของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกทุกท่านพึงมี เช่น การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นอกจะช่วยลดการใช้พลังงานแล้ว ยังสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้คนด้วย หรือเข้าร่วมอบรม LEED Green Associate เพื่อให้ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว
13. ทำให้ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainably Built Environments)
14. Kevin J Singh กล่าวว่า มีคนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่สามารถจ่ายค่าบริการให้สถาปนิกได้ แล้วที่เหลืออีก 98 เปอร์เซ็นต์ คุณจะช่วยพวกเขาอย่างไร ดังนั้นจงสร้างสังคมของคุณขึ้นมา แล้วเข้าไปช่วยเหลือคลุกคลีกับสังคมนั้น
15. สถาปนิกมักได้รับค่าตอบแทนอย่างไม่ยุติธรรม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของอาชีพสถาปนิก หรือไม่รู้ว่าสถาปนิกทำอะไรบ้าง ดังนั้นคุณควรอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าคุณสร้างสรรค์สิ่งใดให้แก่โลกบ้าง
16. การศึกษาไม่ได้จบอยู่แค่สถาบันที่คุณเรียนมา หมั่นเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของวัสดุใหม่ ๆ ไปจนถึงเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม
17. ให้ความรู้แก่คนรุ่นหลัง นอกจากคนรุ่นหลังจะได้ประโยชน์แล้ว คุณเองก็จะได้ทบทวนความรู้ไปในตัว และเป็นสิ่งเตือนใจว่าทำไมคุณถึงมาประกอบอาชีพสถาปนิก
18. คิดบวกและมองโลกในแง่ดี
19. บนโลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา เลือกมาสักหนึ่ง หรือ สองสิ่ง แล้วแก้ไขมัน
20. ส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัล อย่างเช่น การประกวดออกแบบอาคาร เป็นต้น
21. ตั้งใจทำงานแต่ละชิ้นให้ดีที่สุด และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกให้ยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 21 ข้อที่กล่าวมา นอกจากจะเป็นคำแนะนำที่ดีต่อสถาปนิกรุ่นใหม่ รวมไปถึงสถาปนิกรุ่นเก๋าแล้ว
หลาย ๆ ข้อ ยังสามารถนำไปใช้กับสายงานอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
Source: Archdaily