ยังอยู่ในช่วงของงาน Bangkok Design Week 2020 คราวนี้ ขยับมาที่ย่านหลักของงานอย่าง เจริญกรุง – ตลาดน้อย แต่วันนี้เราไม่ได้จะพาไปชมการแสดงหรือนิทรรศการทั่วทั้งงาน แต่จะมาเจาะลึกกับหนึ่งในพาวิลเลียนที่น่าสนใจมาก ๆ ของงานนี้

Everlasting Forest เป็นพื้นที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ตั้งแต่อาคารและสิ่งก่อสร้าง พื้นที่สีเขียว สิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันที่มีการใช้ทรัพยากรและการจัดการวัสดุเหลือทิ้งอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG โมเดล รูปแบบการพัฒนาใน 3 มิติหลัก คือ B: Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่องโยงกับ C: Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึกถึงกระบวนการผลิตและการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างครบวงจร และ G: Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่ส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการด้วยวัสดุ และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พาวิลเลียนแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 โซนด้วยกัน จะมีโซนเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างที่หมุนเวียนได้ และอีกโซนจะเป็นการยกป่าไม้มาไว้ถ่ายรูปน่ารัก ๆ ครับ

วัสดุแห่งอนาคต Go Green Material

ที่ Everlasting Forest ได้จัดแสดงวัสดุที่ตรงกับคอนเซ็ปต์ Circular Economy ฉะนั้น วัสดุที่นำมาแสดงก็ย่อมรักษ์โลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

Wood Plastic Composite

ไม้พลาสติก รวมจุดเด่นด้านความทนทานของพลาสติก และผิวสัมผัสแบบไม้ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว ด้วยการนำเศษผงไม้มาเป็นส่วนผสมกับพลาสติก จึงลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการใช้พลาสติกลงได้มากถึงร้อยละ 40 อีกทั้งมีการขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนที่ถอดประกอบได้ จึงสามารถรื้อถอนและนำไปใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

Fiberglass Reinforced Polymer: FRP

เส้น FRP เป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามคุณสมบัติของลีดส์ (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) มาตรฐานที่ให้กับอาคารที่มีการออกแบบ และก่อสร้างตามลักษณะของการประหยัดพลังงาน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งโครงของพาวิลเลียนแห่งนี้ก็สร้างขึ้นจาก FRP ด้วย ตอนแรกที่ผู้เขียนเห็น คิดว่าเป็นลวดจริง ๆ แล้วทาสีทับเสียอีก

FRP ใช้การผลิตแบบ Pultrusion ที่นำม้วนเส้นใยมาเรียงไว้ แล้วดึงออกจากม้วน ผ่านการเคลือบด้วยพอลิเมอร์เหลว จากนั้นจึงอบให้แข็งตัว การผลิตแบบนี้จะใช้พลังงานน้อยและผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตด้วยกระบวนการอื่น รวมทั้งการถักเส้น FRP ขึ้นมา สามารถทำได้ไม่จำกัดความยาว จึงช่วยลดการเกิดเศษวัสดุจากการตัดทิ้งระหว่างผลิต

โดย FRP จะมีการรับแรงดึงดีกว่าเหล็ก ใช้แทนเหล็กเส้นได้ มีน้ำหนักเบา สะดวกต่อการขนย้ายและติดตั้ง ทนต่อการผุกร่อน ไม่ขึ้นสนิมจากความชื้น ไม่ลามไฟ และนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง

Flower Wall

เดินถัดมาอีกนิด ก็จะพบกับกำแพงดอกไม้ที่ผลิตจากผ้าที่นำเส้นใยขวด PET มาทอเป็นผืนผ้า ส่วนตัวผู้เขียนชอบมาก กับคอนเซ็ปต์ที่ว่า “นำสิ่งที่ห่างไกลจากความสวยงามอย่างขยะพลาสติก มาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่มีความอ่อนช้อยและสวยงามที่ถูกเติมเต็มด้วยคุณค่าด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม” หากดูผ่าน ๆ ไม่มีใครสังเกตเห็นว่าดอกไม้เหล่านี้ล้วนทำมาจากขยะทั้งสิ้น

Leaf Library

ติด ๆ กับกำแพงดอกไม้ คือห้องสมุดธรรมชาติขนาดย่อม ที่จัดแสดงให้เห็นรูปร่างที่แตกต่างกันของใบไม้จากพืชหลากหลายชนิด เพื่อให้เห็นประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น พืชป่าที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ พืชไร่พืชสวนที่เป็นแหล่งอาหารของเรา เป็นต้น

หากใครติดตามบทความก่อน ๆ ที่เขียนไป จะเห็นได้ว่า ช่วงนี้เทรนด์วัสดุการก่อสร้างหรืออะไรก็ตามที่ลดเรื่องขยะกำลังมาแรงมาก พาวิลเลียนแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดูที่ตอบสนองกับเทรนด์นี้อย่างชัดเจน หากใครสนใจ ก็เชิญแวะไปเยี่ยมชมได้ที่ลานจตุรัส หน้าไปรษณีย์กลางบางรัก ได้เลย ยังเหลือเวลาพรุ่งนี้อีกวันนะ!

Previous articleชมงานออกแบบ “LAUGH ALIVE PAVILION” พาวิลเลียนมากสีสัน แต่น้อยด้วยขยะ
Next articleโครงการประกวดออกแบบรูปด้านอาคาร (façade)อาคารสํานักงานกรรมาธิการสถาปนิกอีสานสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ศูนย์นครราชสีมา
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ