พื้นที่มากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และเขตชุมชนถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างและไม่น่าอยู่ ดูน่ากลัวสำหรับผู้ที่พบเห็น ซึ่งถูกปล่อยไว้เฉย ๆ โดยไร้ประโยชน์ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีสนามเด็กเล่นน้อยมาก เด็กไม่มีที่วิ่งเล่นเพื่อเสริมทักษะทางกายภาพและมีโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อย
ด้วยปัญหาดังกล่าว ถูกต่อยอดมาสู่แนวคิดการสร้างพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ โดย “คุณญารินดา บุนนาค” ผู้ที่สร้างสรรค์พื้นที่เหล่านั้นเพื่อให้เด็กได้สร้างทักษะต่าง ๆ ร่วมกับผู้ปกครอง รวมไปถึงญาติผู้ใหญ่อีกด้วย
โดยตอนนี้มี 3 โปรเจกต์หลัก ๆ ได้แก่
1.โปรเจกต์ Playgrounds for Bangkok สร้างสรรค์สนามเด็กเล่น ส่งต่อความสุขสู่เด็กในชุมชนและละแวกใกล้เคียง
จากพื้นที่ว่างสู่สนามเด็กเล่น แม่เหล็กที่ดึงดูดชุมชนเข้าด้วยกัน
เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ว่าง ไม่ได้ถูกใช้งานอยู่ในชุมชนเยอะมาก จึงคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างไรบ้าง อีกอย่างคือสังเกตเห็นว่าเมืองไทยมีสนามเด็กเล่นน้อยมาก มองว่าสนามเด็กเล่นจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ชุมชนเข้ามาอยู่ด้วยกัน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เมื่อเด็กมา พ่อแม่มา ได้พบปะสังสรรค์กันกับครอบครัวตัวเอง รวมไปถึงครอบครัวคนอื่นในชุมชนด้วย
อีกอย่างคือสนามเด็กเล่นมันทำง่าย ทำเร็ว ไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะ แต่ก็ให้ความสุขกับเด็กได้จริง ๆ เพราะเด็กไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะไปเล่นที่ไหน สนามเด็กเล่นมีน้อย เดินออกมาจากบ้าน คอนโดฯ ฟุตบาธแทบเดินไม่ได้ด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ก็จะไปเดินห้าง จึงอยากให้เด็กมีประสบการณ์ Outdoor มากขึ้น
สถานที่ตั้งในชุมชน เพื่อเด็กและคนในชุมชน
Bangkok Design week เป็นแพลตฟอร์มที่ดีในการเริ่มต้นโครงการ เพื่อให้คนสนใจโครงการนี้ เพื่อภาครัฐ หรือเอกชนจะสนใจสนับสนุนโครงการนี้ หรือให้ไปตั้งในพื้นที่ของเขา ตอนแรกเริ่มจากการไปหาพื้นที่นำร่องที่เป็นพื้นที่ว่าง 3 แห่ง มีตรงทองหล่อ เอกมัย, The Old Siam และหน้าไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีอยากไปตั้งไว้ตรงพื้นที่ชุมชนจริง ๆ แต่ในระหว่างหาพื้นที่ก็เกิดปัญหาขึ้นเยอะ เช่น ชุมชนมีพื้นที่ว่าง แต่หัวหน้าชุมชนอยากเอาพื้นที่ไปทำที่จอดรถมากกว่า เพราะสร้างรายได้ หรือพื้นที่ที่เคยเป็นสุสานเก่า ไม่อยากให้เอาไปตั้งเพราะดูเหมือนไม่เคารพบรรพบุรุษ สุดท้ายเลยมาจบที่ 3 พื้นที่ดังกล่าว
ตอนนี้สนามเด็กเล่นตั้งอยู่ที่ The Old Siam สวนรถไฟ และสวนบางบอน ซึ่งพบว่าอันที่จริงมีอุปสรรคเยอะกว่าที่คิด เลยพยายามรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญ มันมีประโยชน์ในการให้ความสุขกับเด็ก ๆ เป็นพื้นที่ให้การเรียนรู้กับเด็ก ๆ เพื่อเล่นกับคนอื่น รวมไปถึงบริหารร่างกายอีกด้วย อีกอย่างคืออิ่มเอมใจที่ได้เห็นเด็ก ๆ มาเล่น เห็นความไร้เดียงสาของเด็ก และตอนนี้ทำเป็นไซส์ S M L XL ให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ที่จำกัดของแต่ละแห่ง
สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ การออกแบบและศึกษาให้ตรงกับความต้องการและลักษณะการใช้งานมากที่สุด
การสร้างสนามเด็กเล่นมันเร็วกว่าสถาปัตยกรรมชนิดอื่นมาก ตึกใช้เวลาในการสร้าง 2-3 ปี อันนี้หนึ่งเดือนก็เสร็จ มันน่าสนใจเพราะได้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ในวิธีที่ไม่ปกติ คือ การออกแบบตึกจะเป็นการออกแบบวิธีที่คนสัญจร เดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แต่การออกแบบสนามเด็กเล่นจะคิดถึงกายภาพในอีกแบบหนึ่ง เป็นที่ให้ปีน คลาน หรือโหน เป็นการคิดถึงร่างกายมนุษย์กับสถาปัตยกรรมในวิธีที่แตกต่างกันออกไป
โดยการออกแบบสนามเด็กเล่นนั้นเราค่อย ๆ เรียนรู้มาเรื่อย ๆ แต่เริ่มจากการดู Guideline ของทางฝั่งยุโรปมาว่าพื้นที่สำหรับเด็กนั้นจะแคบได้มากสุดเท่าไหร่ มือจับราวโหนเท่าไหร่ สไลเดอร์จะชันได้กี่องศา มี regulation ของมันอยู่ ศึกษามาเรื่อย ๆ ก็พบอีกว่าจะมีเรื่องของการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ประเด็นหลักที่เป็นข้อคำถามใหญ่ของทุกฝ่ายเลย คือ ใครจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาสนามเด็กเล่น กรุงเทพฯ ชุมชน หรือสปอนเซอร์ ก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ นึกถึงประเด็นหลักตรงนี้ด้วย อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของความปลอดภัย ถ้าเด็กหัวแตก ใครจะรับผิดชอบ
และจากการที่ได้ทำโปรเจกต์ Playgrounds for Bangkok ทำให้เห็นปัญหาของการขาดแคลนพื้นที่เล่นของเด็ก ๆ อีกทั้งสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่น ต่อยอดมาสู่อีก 2 โปรเจกต์หลักที่รังสรรค์พื้นที่เล่นให้แก่เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์
2. สนามเด็กเล่น โรงเรียนทอสี โรงเรียนวิถีพุทธ กับการ “เล่น” ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ
ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ นำมาสู่ทางเดิน Skywalk และสนามเด็กเล่นลอยฟ้าที่ยังได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
โรงเรียนทอสีเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ แนวรักษ์โลก จึงอยากออกแบบสนามเด็กเล่นให้เด็กมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติมากที่สุด แต่โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ downtown มีพื้นที่ที่จำกัด โดยมีปัญหาที่ว่าพอฝนตกเด็กจะเปียก เพราะพื้นที่ที่ให้ผู้ปกครองมารับ-ส่งมันไกลจากตึกเรียน ต้องกางร่มมาส่ง สุดท้ายเลยออกมาเป็น Platform ที่เป็น Skywalk เชื่อมตึกเรียนเข้าด้วยกัน และมีหลังคาให้เด็กเดินด้วย แต่มีการใส่โปรแกรมต่าง ๆ เข้าไป เพื่อเป็นกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ เป็น Nature Walk เพราะแพลตฟอร์มอยู่ระดับความสูงของกิ่งไม้พอดี หรือตรงใต้ร่มไม้ติดกับห้องสมุดก็ขยายออกมาเป็นเหมือนมุมอ่านหนังสือกับร่มไม้ภายนอก
มีอีกปัญหาหนึ่ง คือ สนามเด็กเล่นเก่าอยู่ที่พื้น ซึ่งสาเหตุที่ต้อง renovate เพราะต้องตัดถนนใหม่ เพราะที่ดินตรงที่จอดรถถูกเจ้าของเอาคืนไป ตัดถนนใหม่ก็ตัดผ่านสนามเด็กเล่น จึงต้องรื้อสนามเด็กเล่นออก เลยคิดว่าจะเอาสนามเด็กเล่นไว้ที่ไหน พอมีแพลตฟอร์มที่ถูกยกออกมาจากพื้นดินแล้ว เลยคิดว่าจะออกแบบสนามเด็กเล่นยังไงให้เด็กยังติดดิน มีสายสัมพันธ์กับธรรมชาติอยู่ เลยออกแบบสนามเด็กเล่นบนแพลตฟอร์มให้เชื่อมกับต้นก้ามปูต้นใหญ่ที่ทะลุผ่านแพลตฟอร์มขึ้นมา
การออกแบบสนามเด็กเล่นให้เป็นวัตถุต่าง ๆ ประกอบกันเพื่อความครบครันทุกการเรียนรู้
ออกแบบสนามเด็กเล่นโดยการออกแบบให้มันเป็น object ต่าง ๆ ที่ทำด้วยไม้ มีไม้เลื้อย แต่ละอันจะให้ประสบการณ์การเรียนรู้กับเด็กที่แตกต่างกัน เราไปวิเคราะห์ดูว่าแต่ละอันจะให้ฟังก์ชันต่างกันยังไง ให้การเรียนรู้ยังไง มีสะพาน มี Tower เชื่อมกับกิ่งไม้ที่แทรกมา มีบ่อทราย บ่อหิน บ่อน้ำ มีบาร์ไว้โหน ทรงตัว มีที่สำหรับปีนป่าย เป็นขั้นบันได นั่งดูบอลได้ด้วย ปีนได้ มีถ้ำให้มุด สุดท้ายเอามาประกอบกันเป็นชุดให้เชื่อมต่อกัน ตั้งอยู่บนแฟลตฟอร์ม แต่พยายามดึงความเป็นธรรมชาติให้อยู่ด้วยกัน ปลูกไม้เลื้อย มีกระถางต้นไม้
ตอนแรกต้องคิดแยกส่วน เพราะพื้นที่มันจำกัดมาก ยังไม่สร้างแพลตฟอร์ม สนามเด็กเล่นต้องไปวางที่พื้นที่ชั่วคราวก่อน โดยพื้นที่เป็นเหลี่ยม ๆ จึงคิดว่าจะออกแบบยังไงให้เป็นชิ้นส่วนที่เอาไปตั้งในพื้นที่จริงแล้วไม่ต้องออกแบบใหม่ แค่ไปจัดเลย์เอาต์ใหม่เฉย ๆ เลยดีไซน์แยกส่วน พอย้ายไปเป็นที่ใหม่ก็ต่อเรียงกันได้ แล้วออกแบบให้ยกไปตั้งบนแพลตฟอร์มได้โดยที่ไม่ต้องลงฐานราก ไม่ต้องมีคาน แทบจะวางไว้ได้เลย แค่ยึดน็อตให้มันไม่โยกหรือขยับ
ในแง่ของกิจกรรมบนแพลตฟอร์มก็จะมีการประสานงานกับครูพละ ให้ความเห็นว่าการได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะมุด ปีน คลาน หรือการสร้างสมดุล เป็นการออกกำลังกายที่ดีกับเด็กไหม ไม่ใช่ให้แค่ความสุข แต่ยังให้ความแข็งแรงและพัฒนาการทางกายภาพด้วย ซึ่งโปรเจกต์ใช้เวลาออกแบบ 2 เดือน ตอนนี้กำลังก่อสร้าง คาดว่าเดือนหน้าก็น่าจะเสร็จ
3.โปรเจกต์แห่งอนาคต “Creative Center by Blue Door Creative Space” การจัดพื้นที่ให้ผู้คน 3 วัยมา “สุข” ร่วมกัน
Creative Center จากการปรับปรุงโรงงานเก่า เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับคน 3 วัย
เดิมที Blue Door Creative Space มีพื้นที่ให้เด็กมาทำกิจกรรมกัน มีพื้นที่ 200-300 ตารางเมตร มีกิจกรรมระบายสี เรียนรู้ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่มีไปจัดกิจกรรมตามสวนสาธารณะ ต่อมาไปโรงงานเก่าที่ศรีนครินทร์ เป็นพื้นที่ว่างมานาน จึงเช่าพื้นที่ทำเป็น Creative Center ไม่ใช่แค่สำหรับเด็ก แต่รวมถึงพ่อแม่ ปู่ย่าตายายด้วย ให้คน 3 Generation มาเจอกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ปู่ย่าตายายก็ชอบเลี้ยงหลานอยู่แล้ว กิจกรรมที่จะทำร่วมกันได้ก็น่าจะเป็นปลูกต้นไม้ ทำอาหาร หรือให้วัยผู้ใหญ่ได้ไปทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกาย สอนเด็กทำอาหาร ฯลฯ
พื้นที่การเรียนรู้ Indoor และ Outdoor การออกแบบเพื่อสร้างปฎิสัมพันธ์ให้กับเด็กและผู้ปกครอง
ตึกเก่ามีพื้นที่เปิดโล่ง มีใต้ถุน มองว่าเหมาะกับการทำกิจกรรม outdoor ส่วน indoor ก็จะเป็นห้องสมุด เวิร์กชอปสำหรับเด็ก และมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ เช่น คาเฟ่
นอกจากนี้ยังมองว่าพื้นที่ที่ดีสำหรับเด็กควรมีลักษณะ ดังนี้
- มีความเชื่อมโยงทางร่างกายกับธรรมชาติ
- พื้นที่ภายนอกควรมีร่มเงาที่ดี ให้เด็กออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งได้
- พื้นที่การเรียนการสอนภายในควรมีแสงธรรมชาติเยอะ มีวิวมองออกไปข้างนอกได้ ไม่ใช่พื้นที่ปิดตาย
- ควรเป็นพื้นที่ที่ Flexible สามารถจะจัดสรรปันส่วน แบ่งห้องได้หลาย ๆ แบบ เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย
- เป็นพื้นที่ที่มีเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สุงอายุอยู่ด้วยกัน เป็นแปลนเปิด มี Corridor ให้น้อยที่สุด เป็นพื้นที่ที่พ่อแม่ที่นั่งกินกาแฟอยู่สามารถมองเห็นลูกได้ ไม่ต้องคอยเดินตามหา
ตัวตึกเดิมที่มีอยู่ ถ้าเอาผนังออกไปหมดให้เหลือแต่โครงสร้าง สร้างเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ ใส่โปรแกรมที่ผสมคน 3 กลุ่มเข้าไปในจุดต่าง ๆ ให้มีปฏิสัมพันธ์กัน นำเสนอสิ่งต่าง ๆ ให้หลากหลายในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ด้านล่างให้เปิดโล่งเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นพื้นที่เล่น ให้เป็นอัฒจันทร์มานั่งได้ โดยชั้น 2 แบ่งเป็น 3 ส่วน มีคาเฟ่อยู่ตรงกลาง อัฒจันทร์ก็เดินขึ้นไปคาเฟ่ด้านบนได้ มีเสาให้ปีน ปีนขึ้นไปก็จะเจอโซนเวิร์กชอปของเด็ก โซนเวิร์กชอปของผู้ใหญ่จะอยู่อีกมุม แต่ก็มีบันไดและลิฟต์ตามปกติด้วย คิดแบบผสมสนามเด็กเล่นเข้ากับแปลนเดิมของอาคาร
พื้นที่สีเขียวที่จำเป็น การเรียนรู้ของเด็กในเมืองที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
ด้านหลังจะเป็นพื้นที่ outdoor ซึ่งมีพื้นของโรงงานเดิมอยู่ คิดว่าจะทำยังไงให้ใช้งบน้อยแต่ยังสามารถปลูกป่าได้ อยากเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะประเทศไทยหรือกรุงเทพฯ มีพื้นที่อุตสาหกรรมที่รกร้างเยอะมาก แล้วคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมัน อีกทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมมีพื้นที่คอนกรีตที่หนามาก จะรื้อเอาไปปลูกป่าหมดก็ใช้งบเยอะ
เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ยังไง ถ้าเกิดว่านี่คือพื้นฐานของธรรมชาติเมืองที่ต้องอยู่ในป่าคอนกรีต ร่วมกับธรรมชาติ คิดว่าจะเอาเครื่องเจาะมาเจาะให้คอนกรีตแตก แล้วพวกวัชพืชจะแทรกมาตามรอยแตกเองตามธรรมชาติ คอนกรีตก็สามารถให้เด็กปีนเล่นได้ จริง ๆ งบไม่ได้เยอะ เพราะไม่ได้รื้อใหม่หมด เก็บไว้แต่เจาะแค่บางส่วนเท่านั้น
ข้อความส่งท้าย กับความตั้งใจในการออกแบบทั้ง 3 โปรเจกต์
อันที่จริงแล้วตั้งเป้าหมายไว้ตอนแรกไปที่ชุมชนด้อยโอกาส แต่จริง ๆ มาคิดว่าใครก็ได้ ยิ่งมีพื้นที่กลางแจ้งให้เด็กเล่นเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่ได้จำกัดแค่ว่าเป็น Private Developer ไม่ใช่แค่หน้าห้าง อย่างน้อยก็ต้องมีใครที่ได้ประโยชน์
ซึ่งทั้ง 3 โครงการก็ค่อย ๆ พัฒนาปรับปรุงมาเรื่อย ๆ สเกลต่างกัน การใช้งานต่างกัน กิจกรรมต่างกัน สนุกกันคนละแบบ ค้นพบว่าการออกแบบพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นข้อจำกัดมันต่างกับการออกแบบตึกปกติ การออกแบบตึกจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ กฎหมาย การใช้สอยพื้นที่ วัสดุ แต่ออกแบบพื้นที่เล่นข้อจำกัดจะน้อยลงมากจึงสนุกกับการสร้างสรรค์มันมากกว่า
ทั้ง 3 โปรเจกต์ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่สำหรับส่งต่อความสุข ซึ่งคุณญารินดามองว่ามาตรวัดความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับ “ความสุข” ความสำเร็จเป็นอะไรที่รู้สึกและสัมผัสได้จริง โจทย์การออกแบบพื้นที่เหล่านี้จึงสนุกมาก ทำให้พื้นที่ “เล่น” กลายเป็นพื้นที่ “สุข” ได้อย่างสร้างสรรค์
และที่สำคัญยังสามารถรับชม Special Live#1 การแบ่งปันความสุขจาก 3 โปรเจกต์ดังกล่าวผ่านแนวคิดของคุณญารินดา บุนนาค ในหัวข้อ “เนรมิตพื้นที่เล่น ให้เป็นพื้นที่สุข” พร้อมกันในวันที่ 19 สิงหาคม นี้ เวลา 13.00-13.45 น. ผ่านช่องทาง
นอกจากนี้ยังสามารถมาพบไอเดียเพื่อ “ปันสุข” จากสถาปนิกทุกสาขาได้ในงาน ACT FORUM ’20 DESIGN + BUILT ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ActForumExpo.com
#งานเดียวในปีนี้จะพลาดได้ไง
#ACTFORUM #ACTFORUM20 #ACTFORUM2020 #DESIGNBUILT #Architect #Architecture #สถาปนิกปันสุข #SharingHappiness