เคยไหม นั่งดื่มน้ำทานข้าวอยู่ในร้านใหญ่กับเพื่อนฝูง กำลังจะเริ่มคุยกัน แต่เสียงที่เปล่งออกมาจากปากคู่สนทนาของคุณกลับเบาบางจนจับใจความไม่ได้ จมไปกับคลื่นเสียงก้องเสียงสะท้อนจากคนปากคนอื่น จากจานชามที่กระทบกัน หรือจากเสียงดนตรีที่ดังเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ต หรือเคยไหม ทำงานเหนื่อย ๆ มาทั้งวันกำลังจะเข้านอน แต่หมาข้างบ้านดันเริ่มต้นเห่า แล้วหมาตัวอื่นก็ดันพากันเห่าตามไม่หยุด
เมื่อนึกถึงงานสถาปัตยกรรม แน่นอนรูปร่างหน้าตาหรือ “ฟอร์ม” ของสถาปัตยกรรมย่อมเป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนนึกถึง แต่การสัมผัสสถาปัตยกรรมหรือการรับรู้ถึงพื้นที่ใดของมนุษย์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประสาทสัมผัสทางสายตาเท่านั้น หากเพียงหลับตาตั้งใจฟังจริง ๆ หลายคนก็สามารถบอกได้ว่าห้องมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใดด้วยการแค่ฟังระดับการสะท้อนของเสียง
เช่นนั้น การออกแบบเสียงในทางสถาปัตยกรรมจึงสำคัญไม่แพ้การออกแบบรูปทรงหรือองค์ประกอบอื่น ๆ เลย BuilderNews อยากชวนคุณมาใส่ใจเรื่องเสียงอีกนิด กับผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี คำนึงถึงทั้งความงามและความเงียบ
เคล็ดลับคือพื้นผิวที่ขรุขระ
ในภาพยนตร์ “Suckseed ห่วยขั้นเทพ” แผงลังไข่ถูกติดอยู่ทั่วผนังห้องซ้อมดนตรีเพื่อซับ/กันเสียง ความเข้าใจนี้อาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ข้อมูลจาก ZEN ACOUSTIC ระบุว่าแม้จะสามารถซับเสียงย่านความถี่กลางที่ 500 Hx ขึ้นไปได้(ในระดับที่ก็ไม่ได้ดีมาก) แต่แผงลังไข่ไม่สามารถกันเสียงได้ โดยสามารถซับเสียงได้เพียง 40-60% เท่านั้นเมื่อเทียบกับแผ่นซับเสียง Zandera ของ SCG
ความจริงหากต้องการวัสดุที่ซับและกันเพื่อลดความดังและลดการก้องสะท้อนของเสียง คุณสมบัติของวัสดุที่ต้องมองหาคือพื้นผิวที่ขรุขระ สำหรับการดูดซับเสียง (ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่หลายคนนึกถึงลังไข่) และความ “นุ่มและเบา” เพื่อลดเสียงก้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่บุโฟม ผ้านวม พรม ผ้าม่าน หรือวัสดุที่ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะอย่างแผ่นดูดซับเสียง เช่นแผ่นดูดซับเสียง Cylence Zandera ที่นอกจากจะผลิตจากแผ่นกลาสวูลแล้ว ยังหุ้มด้วยผ้าสีสันสวยงามจาก PASAYA ผู้ผลิตสิ่งทอคุณภาพของไทยอีกด้วย
หน้าต่างเพื่อการป้องกันมลพิษทางเสียงจากภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นเสียงตอก เสียงทุบ เสียงเจาะ ในการก่อสร้าง เสียงหมา เสียงแมว ยามค่ำคืน หรือเสียงเครื่องยนต์สุดแรงของนักซิ่ง ไม่ว่าใครก็คงไม่พอใจนัก แม้คุณจะสามารถควบคุมเสียงรบกวนภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์ถูกใจเพียงใด แต่ปัจจัยภายนอกไม่ใช่สิ่งที่คุณจะจัดการได้ง่าย ๆ ทางออกสำหรับปัญหานี้คือการติดตั้งหน้าต่างที่มีคุณสมบัติการกันเสียงที่ห้องนอน ห้องทำงาน หรือห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่นหน้าต่างจาก YKK AP ที่ป้องกันเสียงได้ระดับ Grade T-1 (-25 เดซิเบล) (JIS), RW 24-30(ISO) ด้วยกระจกสองชั้นพร้อมทั้งยางรอบบานวงกบและรอยต่อต่าง ๆ อย่างมิดชิด
หลังคาซับร้อน ก็ต้องซับเสียง
อีกหนึ่งองค์ประกอบของอาคารที่สัมผัสพื้นที่ภายนอกโดยตรง เมื่อนึกถึงหลังคา หลายท่านอาจนึกถึงคุณสมบัติการกันความร้อนก่อน เช่นด้วยการเคลือบหลายชั้นเพื่อป้องกัน UV ซึ่งชั้นเหล่านี้นี่เองที่สามารถช่วยซับเสียงได้ด้วย เช่น VG iR-uPVC Roof Sheet: Triple Layers ที่เคลือบป้องกัน UV ในชั้น Top Layer มีชั้นโครงสร้าง Inner Layer ที่เน้นความแข็งแรงและยังช่วยซับเสียง รวมทั้งทำหน้าที่เป็นฉนวนระบายความร้อน และชั้น Bottom Layer ที่เรียบ สวย เป็นฝ้าในตัว และยังเคลือบพิเศษด้วยสี Dupont ป้องกัน UV และความร้อนใต้ชายคา
Sources