ถึงแม้แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายขึ้น อันก่อให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงสูงขึ้นตาม แต่ธุรกิจค้าปลีกก็ยังเป็นอะไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีตลาดอี-คอมเมิร์ซและตลาดออนไลน์ ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมอย่างมากเข้ามาแทนที่ก็ตาม จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในปืนี้ตลาดค้าปลีกจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
หากอ้างอิงจากรายงานการวิจัยเรื่อง “ผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกทั่วโลกมีความเคลื่อนไหวอย่างไร” ฉบับที่ 7 ของซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งได้ระบุเอาไว้ว่า ‘การเติบโตของยอดขายสินค้าทางออนไลน์ไม่สามารถเปลี่ยนแผนการขยายสาขาของผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกในปีพ.ศ. 2559 ได้เลย’
ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจในการลงทุนขยายพื้นที่ค้าปลีกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในปีนี้ได้แก่ อันดับ 1 คือ เยอรมนี โดยผู้ค้าปลีก 35% สนใจลงทุนในทำเลนี้ ตามด้วยฝรั่งเศส ที่ได้ 33% และสหราชอาณาจักรที่ได้ 29% ส่วนทำเลอย่างจีนครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และถือเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยผู้ค้าปลีก 27% วางแผนจะขยายสาขาที่นี่ ตามด้วยทำเลบนเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นอันดับ 6 โดยผู้ค้าปลีก 24% เลือกทำเลนี้ และตามด้วยญี่ปุ่นในอันดับ 7 ที่ได้ 22% และสิงคโปร์ในอันดับ 9 ที่ได้ 21%
ประเด็นสำคัญอื่น ๆ สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับความสนใจเพิ่มสูงขึ้นในปีพ.ศ. 2559 นี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ยกเว้นแต่จีนและเกาหลีใต้ที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจลดลงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซีย (10%) อินโดนีเซีย (9%)ไทย (8%) เวียดนาม (8%) และฟิลิปปินส์ (8%) ที่ต่างได้รับความสนใจมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีที่แล้ว ซึ่งภาพรวมของตลาดได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-3%
ทั้งนี้เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ หลายแบรนด์ต่างให้คำตอบว่าปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น (56%) และแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน (42%)
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายสูงขึ้นจากที่ผ่านมาและการเกิดข้อกังวลต่าง ๆ อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงและปริมาณพื้นที่ค้าปลีกคุณภาพที่มีน้อย ย่อมส่งผลให้ผู้เช่ามีความระมัดระวังมากขึ้นในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามแม้ตลาดในบางทำเลจะมีการชะลอตัว แต่ก็ยังพบได้ว่าในญี่ปุ่นและออสเตรเลียยังคงได้รับความสนใจอย่างมาก ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการเติบโตที่สูงขึ้น เนื่องจากยังมีโอกาสสำหรับผู้ค้าปลีกจากการขยายตัวของชนชั้นกลาง และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น
การมีหน้าร้านยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
จากผลสำรวจที่ว่านี้ยังแสดงให้เห็นว่ากว่า 83% ของแบรนด์ทั้งหลายระบุว่า แผนการขยายสาขาในปีพ.ศ. 2559 จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่ผู้ค้าปลีกมองว่า มีเพียง 22% ของแบรนด์เท่านั้นที่กังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงกับโลกออนไลน์ในฐานะคู่แข่งทางธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกมองว่าการขยายเครือข่ายร้านค้านั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างดี 17% ของผู้ค้าปลีกมีความตั้งใจที่จะขยายมากกว่า 40 สาขา ในปีพ.ศ. 2559 (เพิ่มขึ้นจาก 9% จากปีที่แล้ว) ขณะที่ส่วนใหญ่ (67%) ต้องการขยายมากสุดถึง 20 สาขา
เนื่องจากการมีหน้าร้านในทำเลหลักนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และเป็นการสร้างความผูกพันด้านจิตใจกับลูกค้าด้วย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าอยากไปซื้อของที่ร้าน สัมผัสกับตัวสินค้า และมีความรู้สึกที่ดีพร้อมกับการได้รับประสบการณ์เฉพาะของแบรนด์นั้น ๆ ดังนั้นหน้าร้านมีความสำคัญต่อการซื้อสินค้า รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น รับสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ไว้ วิจัยเกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์และทดลองสินค้า การมีหน้าร้านจึงมิใช่เป็นแต่เพียงเพื่อการซื้อขายสินค้าเท่านั้น
ดังนั้นแนวโน้มใหม่สำหรับปีพ.ศ. 2559 ทำให้พบว่าในปีนี้มี 5 แบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทวีปอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ที่ตั้งใจจะขยายสาขาไปยังศูนย์กลางการเดินทาง อย่างเช่น สนามบินและสถานีรถไฟ เนื่องจากเป็นทำเลที่คึกคัก มีลูกค้าเดินเข้าออกจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ค้าปลีกที่มาจากเอเชียแปซิฟิกศูนย์การค้ายังคงเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดด้วยอัตราสูงถึงเกือบ 90%
ขณะที่ปัจจัยที่แบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นกังวลในการเจรจาต่อรองการเช่าพื้นที่คือ ระยะเวลาการเช่า แต่มีปัจจัยที่ผู้เช่าจากเอเชียแปซิฟิกมีความกังวลมากที่สุด คือ เรื่องค่าเช่าที่คำนวณจากผลประกอบการ (GP) ซึ่งมีการกำหนดค่าเช่าขั้น ต่ำไว้ด้วย นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (40%) ซึ่งเป็นระดับความกังวลที่มีมากกว่าทั่วโลก (31%)
จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบันที่หันมาช้อปออนไลน์ หรือการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงมากขึ้น รวมทั้งการมีระบบโลจิสติกส์ในการรับส่งสินค้าที่สะดวกขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่หน้าร้านเช่นเดิม ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเกิดการแข่งขันที่รุนแรงสูงขึ้น การพัฒนาโอกาสของแต่ละแบรนด์จึงเกิดขึ้นหลากหลายช่องทางเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค การวิวัฒนาการด้วยการผสานการค้าปลีกเข้ากับกิจกรรมด้านความบันเทิงและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมดังที่เราเห็นกำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากในประเทศไทย ที่สรรหาสารพัดแนวคิด และกิจกรรมเข้ามาเสริมจุดขายให้กับตนเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคทั้งหลายย่อมได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกนี้กันไปเต็ม ๆ แต่อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะถือว่าดีหรือไม่ดีกันแน่!!
นิตยสาร Builder Vol.31 MAY 2016