การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม เพราะเป็นพลังงานที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่พลังงานหมุนเวียนก็ยังมีข้อจำกัดที่ว่า ‘ยังไม่เสถียร’ เพราะพลังงานหมุนเวียนแต่ละชนิดจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.จึงได้ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มดำเนินงานมานานกว่า 10 ปีแล้ว
โดยโครงการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ โครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน กฟผ. ซึ่งเป็นระบบผสมผสานหรือระบบไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) โดยนำร่องแห่งแรกที่ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยโครงการฯ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2563 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนแม่กลอง ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมทั้งยังมียุทธศาสตร์จัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมด้านคุณภาพอากาศ EGAT AIRTIME เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
รูปแบบที่ กฟผ. จะดำเนินการเป็น “ระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid” หรือ ระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่าง ‘พลังน้ำจากเขื่อน’ และ ‘พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อน’ ซึ่งจะเป็นโครงการไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน (ASEAN) ที่มีจุดเด่นของโครงการคือ
ราคาต่ำ โดยองค์ประกอบที่ทำให้ราคาต่ำ ได้แก่
– เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตมากกว่า 30 เมกะวัตต์ขึ้นไป (Economy of Scale)
– ใช้โครงสร้างของระบบไฟฟ้าเดิมที่ กฟผ. มีรองรับอยู่เช่น ระบบเชื่อมต่อไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า โดยใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด Maximized Existing Facility
เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยระบบ Integrated Renewable Firm Power System โดยโครงการจะเริ่มที่ระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid และในอนาคตสามารถพัฒนาร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานเพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น
ไม่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
– จะใช้พื้นที่ผิวน้ำบนเขื่อน กฟผ. ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ทำให้ไม่กระทบกับพื้นที่การเกษตร และเส้นทางการเดินเรือของชุมชน และผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันในบริเวณพื้นที่เขื่อน
– ใช้เทคโนโลยีในการสำรวจ และตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบสารสนเทศ และหุ่นยนต์ถ่ายภาพใต้น้ำ
– วัสดุที่ใช้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเป็นแบบเดียวกับท่อประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แนวคิดการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานผสมผสานเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เป็นความพยายามของ กฟผ. ในการพัฒนาพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับภารกิจการสร้างเสถียรภาพทางไฟฟ้าให้คนไทย
Source
https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=6590:28-12-61-1&Itemid=129