ลองจินตนาการดูว่าถ้าเราจะนำ “กระจก” มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สักชิ้น ตัวกระจกควรมีรูปร่างแบบไหน?

ส่วนใหญ่เราก็มักจะคิดว่าน่าจะเป็นรูปทรงแบน ๆ แนวระนาบวางติดกับฐานเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นเพื่อความแน่นหนา หรือถ้าเน้นความสวยงามอีกหน่อย อาจจะต้องเติมรอบใส่ขอบให้กระจกที่มาวางเพื่อเพิ่มลวดลาย แต่ในความเป็นจริง แม้จะเป็นกระจกใส ๆ แผ่นเดียวไม่มีอะไรมากั้น เราก็สามารถเติมความน่าสนใจได้ถ้าใช้เทคนิคและพลิกมุมมอง

The Slump คือคอลเลกชันเฟอร์นิเจอร์ใหม่ของ Paul Cocksedge ที่เปิดตัวในงาน London Design Festival ปีนี้ หลังจากที่เขาเคยโด่งดังจากการออกแบบคอลเลกชัน Please be seat! ที่นั่งสาธารณะ ในงาน London Design Festival ครั้งที่ 17

ผลงาน Please Be Seat ในนิทรรศการ London Design Festival ครั้งที่ 17

มาครั้งนี้เขาเลือกนำเสนอก้าวใหม่ของการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กระจกในแบบที่เรายังไม่ค่อยเห็นจากที่ไหนมาก่อน ยอมรับว่ามองครั้งแรกแล้วยังรู้สึกไม่อยากเชื่อสายตาเท่าไร เพราะไม่คิดว่ากระจกจะสามารถยืดหยุ่นรูปทรงในสภาพสุญญากาศแบบนี้ได้ น่าจะเป็นวัสดุประเภทพลาสติกมากกว่า

แต่ที่มากกว่านั้นคือพอมองไปเรื่อย ๆ จะเริ่มรู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นมีชีวิต มองแล้วไม่น่าเบื่อ เพราะปฏิกิริยาจากแรงกดเป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่เราคุ้นตา

หนึ่งในคอลเลกชันที่ชอบคือโต๊ะกาแฟตัวนี้ที่ใช้กระจกกดลงบนหินที่มียอดเป็นแท่งแหลม เมื่อกดลงไปแล้ว ยอดหินที่ปกคลุมทับอีกชั้นด้วยกระจก เหลี่ยมมุมและภาพตรงหน้าทำให้รู้สึกเหมือนยอดเขาที่ปกคลุมด้วยธารน้ำไหลผ่านโขดหิน สร้างความผ่อนคลาย แทนที่จะเป็นโต๊ะตัดแนวระนาบอย่างที่เคย

Paul Cocksedge

Cocksedge เผยที่มาแรงบันดาลใจในการออกแบบไว้ในบทสัมภาษณ์ของ Dezeen ว่าเกิดขึ้นจากความรู้สึกส่วนตัวและการตั้งคำถามที่เขามีต่อวัสดุในโรงงานอุตสาหกรรม เขาจึงต้องการท้าทายด้วยการออกแบบผลงานชิ้นนี้ขึ้น

ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนโรงงานมากกว่าร้อยแห่ง ทุกที่มีวัสดุหลากหลายประเภท ส่วนใหญ่ออกแบบมาให้เป็นแนวราบ ปรับรูปร่างของวัสดุเป็นแผ่นของแข็ง ทั้งไม้ เหล็ก หิน หรือกระทั่งแก้ว ผมรู้สึกเสมอว่าความเรียบราบนี้มันแฝงความรู้สึกตึงเครียดเวลามอง จึงต้องการค้นหาว่าจะทำอย่างไรให้วัสดุดูนุ่มนวล ผ่อนคลาย จัดวางพื้นที่ของวัสดุให้เหลือพื้นที่หายใจบ้าง”

กระบวนการผลิตที่ทำขึ้นแบบชิ้นต่อชิ้น ต้องอาศัยการร่วมมือด้านการออกแบบของเขาร่วมกับช่างฝีมือในอังกฤษ กระจกทุกบานต่างรูปทรงที่เราเห็นกดเหนือฐานวัสดุแต่ละประเภท กว่าจะได้มาจึงต้องผ่านการยืดกระจกด้วยอุณหภูมิสูงก่อนนำมากดเข้ากับฐานที่แข็งแรง

ลักษณะของเนื้องานที่เชื่อมต่อกันระหว่างวัสดุ 2 ชิ้น สอดประสานลงตัวอย่างนุ่มนวลในสภาพที่พื้นผิวกระจกด้านบนคล้ายสุญญากาศ กอดรับยึดฐานไว้อย่างนุ่มนวล ลงล็อกพอดี นี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพียงชิ้นต่อชิ้น ต่อให้ใช้วัสดุประเภทเดียวกัน ขนาดเท่ากัน เมื่อนำมากดใหม่ ผลที่ได้จากการกดแต่ละครั้งก็จะให้รูปทรงที่แตกต่างกัน

เสน่ห์สำคัญอีกอย่างจึงไม่มีชิ้นไหนที่เหมือนกันเลย ทุกชิ้นเป็นของที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น

รอยบุ๋มทรงลูกโป่งบนผิวกระจกจากฐานเหล็กทรงกระบอก

แม้จะดูเหมือนทำได้ง่าย เพราะทางทฤษฎีต้องใช้ความร้อนเพื่อขยายหรือขึ้นทรงวัสดุประเภทแก้วอยู่แล้ว แต่สำหรับการลงมือทำจริง ๆ มันซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่านั้น เพราะการเปลี่ยนรูปทรงของแก้วที่ออกแบบมาเป็นแผ่นบางจะเพิ่มแรงอัดเข้ากับตัววัสดุ ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ต้องรู้ว่าข้อจำกัดของแก้วมีอยู่แค่ไหน กดเท่าไรจึงจะไม่แตกและสามารถรองรับน้ำหนักและฟังก์ชันการใช้งานได้

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าถ้าคอลเลกชันนี้ผลิตออกมาจำหน่าย การหาอะไหล่เปลี่ยนกรณีกระจกแตกคงค่อนข้างวุ่นวายเพราะต้องให้ช่างมานั่งขึ้นรูปใหม่ทั้งหมด แต่ถ้ามองอีกแง่ของเฟอร์นิเจอร์ในฐานะงานศิลป์หรืองานภูมิปัญญา การออกแบบผลงานชิ้นนี้ก็อาจเป็นทางรอดใหม่ของนักออกแบบสายคราฟต์ และช่างฝีมือในอนาคต ที่โดนแย่งจากตลาดผลิตรูปแบบโรงงานอุตสาหกรรมได้

นอกจากผลงานชิ้นนี้ ใครที่อยากชมงานชิ้นอื่น ๆ ในนิทรรศการ London Design Festival ถึงที่ ตอนนี้งานบางส่วนเริ่มจัดให้เข้าชมได้แล้ว ส่วนสถาปนิกและนักออกแบบชาวไทยคนไหนที่ชื่นชอบและอยากติดตามผลงานชิ้นอื่น ๆ แต่ไม่มีโอกาสเดินทางไป ไม่ต้องเสียใจ เพราะสามารถเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://www.londondesignfestival.com/

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.londondesignfestival.com/

https://www.dezeen.com/2020/09/13/paul-cocksedge-slump-furniture-design/

Previous articleกทม.จัดกิจกรรม “นัดทิ้งขยะชิ้นใหญ่ทุกสัปดาห์” ลดปัญหาทิ้งขยะลงแม่น้ำ คู คลอง กีดขวางทางระบายน้ำ
Next articleกู้ชีพโรงหนังให้ได้ไปต่อ LAYER สตูดิโอออกแบบในลอนดอนผลิต “เก้าอี้โรงหนัง”
สู้โควิด-19 และสตรีมมิง