รัฐบาล คสช. บริหารประเทศมาร่วม 2 ปื สิ่งที่ทำได้ดีสุดคือการนำความสงบมาสู่ประเทศ แต่การบริหารด้านอื่นยังทำได้ไม่ดีพอควร โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาก้าวหน้าดีขึ้นอีกครั้ง
อันที่จริงเศรษฐกิจของบ้านเราก็มิได้เลวร้ายมากนัก แต่ก็ยังรุกก้าวหน้าได้ช้ามาก อีกทั้งเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่สำคัญของเราเศรษฐกิจทรุดตัวลง เช่น อเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่สำหรับบางประเทศก็ดีขึ้น เช่น จีน และประเทศในยุโรปเหนือ โดย GDP ของประเทศก็โตพอควร แต่ไม่ถึง 3% ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา
ทั้ง ๆ ที่ คสช. เองพยายามปลุกปั้นเศรษฐกิจให้โตขึ้นรวดเร็วมากขึ้น เปลี่ยนท่านรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจการคลังมาแล้ว 2 คน และก็นำเอามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้หลายอย่าง โดยเฉพาะด้านอสังหาฯ ที่กระตุ้นด้วยการลดดอกเบี้ยการซื้อบ้านและการโอนลงมาเหลือ 0.01% เหมือนสมัยที่นายกทักษิณ โดยท่านรองสมคิดทำมาแล้ว และต่อให้อีก 6 เดือน จนสิ้นสุดครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลพอควรเพราะช่วยเร่งการโอนปลายปีที่ผ่านมา จนตัวเลขการโอนของอสังหาฯ ทุกผลิตภัณฑ์สูงขึ้น แต่ก็มิได้ช่วยกระตุ้นตัวเลขด้านการขายและการจอง เพราะผู้บริโภคก็ยังไม่มั่นใจในการบริหารงานภาครัฐและความสงบในระยาว
อสังหาฯ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย คือ “ดรรชนีที่สำคัญยิ่ง” ของทุกประเทศที่จะใช้ชี้วัดความแข็งแกร่งของผู้บริโภค ประเทศไทยเรามียอดโอนปีหนึ่ง ๆ ประมาณ 200,000 ยูนิต อยู่ในกรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่งในอเมริกามียอดโอนปีละ 1 ล้านยูนิต ส่วนจีนยุคหลังมียอดโอนปีละ 5 ล้านยูนิต การกระตุ้นด้านอื่นก็คือ “การลงทุนภาครัฐ” ซึ่งเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจหนึ่งใน 4 ที่เหลืออยู่และสำคัญยิ่ง ในทุกรัฐบาลทุกประเทศที่พอเศรษฐกิจไม่ดี เครื่องจักรเศรษฐกิจอีก 3 ตัว คือการส่งออก การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชนก็ไม่ดีตาม รัฐต้องรีบควักกระเป๋ามาลงทุนเพื่อสร้างงานเข้าระบบรัฐบาล คสช. ก็ทำเช่นกันคือ กระตุ้นด้วยการลงทุนในระบบรางทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ที่จะมีขนส่งมวลชน 10+3 สาย ระยะทาง 450 กิโลเมตร เท่าเมืองใหญ่ทั่วโลก อีกทั้งระบบรางของรถไฟจากเหนือมาใต้ ดึงจีนและญี่ปุ่นมาร่วมลงทุน ตะวันออก-ตก ข้ามแดนไปยัง AEC ไปลงทะเลเวียดนาม ก็จะได้เงินเบื้องต้น 2.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี
และอีกส่วนก็จะมาใช้สร้างระบบ “น้ำ” ให้ดี ในหน้าฝนมีฝนตก แต่หน้าแล้งไม่มีน้ำเพราะระบบจัดเก็บไม่ดี ระบบผันน้ำ
ใช้ในระบบเกษตร เมือง และอุตสาหกรรมก็ไม่มีคลองส่งน้ำ ฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขื่อน ก็ไม่มีการสร้างใหม่เลย
จนบัดนี้แผนการลงทุนด้านน้ำก็ยังไม่เห็นชัดเหมือนระบบรางทั่วประเทศหลังจากล้าหลังมานาน
ขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มกังวลว่า ในภาคอสังหาฯ เราคุ้นเคยกับ “การต้องกระตุ้น” ทุกครั้งที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง และมีแนวคิดว่าควรจะกระตุ้นอสังหาฯ ด้วยการลดค่าธรรมเนียม การโอนต่อไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี จะดีไหม หรือจะรอมาตรการกระตุ้นด้านอื่นบ้าง มิใช่ด้านลด TAX อย่างเดียว เช่น รัฐมาลงทุนด้านที่อยู่อาศัย เช่น สร้างบ้านคนจน (โครงการประชารัฐ ช่วยเร่งอีกนิดได้ไหม) หรือจะกระตุ้น แบบเป็นสินค้าส่งออกเหมือนเกาหลีที่ออกไปสร้างบ้านให้ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV แล้วเก็บค่าก่อสร้างแลกกับสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าที่เรานำเข้าจากลาวจำนวนมากก็ย่อมได้
โดยสรุปแล้วทั้งเศรษฐกิจและอสังหาฯ ต้องการการกระตุ้นและเคยจนเป็นนิสัยแล้ว แต่ต้องระวังเพราะการกระตุ้นต่อเนื่องติดต่อกันจะไม่ใช่การกระตุ้น แต่จะเป็น “การส่งเสริมในภาวะปกติ” ทั้งการกระตุ้นอาจจะต้องเปลี่ยนเป้า เช่น ปัจจุบันนโยบาย สว (สูงวัย) กำลังมาแรง จะมีระบบการให้ สว ซื้อบ้านหรือเช่าบ้านเมื่อเกษียณอายุดีไหม หลายบริษัทก็เริ่มมองสินค้าสำหรับ สว หรือการปรับปรุงบ้านให้ สว ก็จะช่วยเพิ่มแรงงานและวัสดุสู่ตลาด ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง
รัฐบาล คสช. จะกระตุ้นหรือเปล่าก็ยังบอกไม่ได้ แต่ดูเหมือนภาคเอกชนจะเรียกร้องจนรัฐอดตามใจจนเป็นนิสัยไม่ได้ ถ้าจะกระตุ้นเป็นครั้งที่ 3 ก็คงไม่แปลกจนเกินคาดครับ
นิตยสาร Builder Vol.33 July 2016