เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ทรงสละพระวรกายคิดค้นแนวทางช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยอยู่เรื่อยมา ดังที่เห็นตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ มากมาย และอีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ได้อย่างเด่นชัดก็คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ที่เป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสียด้วยการเติมออกซิเจนในอากาศลงไปในน้ำ สามารถแก้ไขความเสื่อมโทรมของสภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก
จุดเริ่มต้นของโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนานั้น สืบเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระประสงค์ต้องการแก้ไขความเสื่อมโทรมของสภาพน้ำ เพื่อบำบัดน้ำเสียตามแหล่งน้ำทั่วภูมิภาคให้พสกนิกรสามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ปกติ ด้วยการนี้พระองค์จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณวิจัยและประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” โดยทรงได้แนวทางจาก “หลุก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านา อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น
กังหันน้ำชัยพัฒนา ใช้รูปแบบบำบัดน้ำเสียด้วยการเติมอากาศลงไปในน้ำทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี ผ่านระบบกังหันวิดน้ำแบบทุ่นลอย สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ตามระดับของน้ำ มีส่วนประกอบหลักคือ โครงกังหันน้ำรูปทรง 12 เหลี่ยม พร้อมด้วยซองบรรจุตักน้ำขนาด 110 ลิตร ติดตั้งโดยรอบจำนวน 6 ซอง ซึ่งแต่ละซองนั้นจะเจาะรูพรุน เพื่อให้น้ำที่วิดเข้าไหลออกกระจายเป็นฝอย ตัวกังหันหมุนได้ด้วยพลังงานจากเกียร์มอเตอร์ขนาด 2 แรงม้า ขับเคลื่อนผ่านเพลากังหันให้ซองตักน้ำหมุนรอบเป็นวงกลม ส่วนด้านล่างของกังหันในที่จมน้ำ จะมีแผ่นไฮโดรฟอยล์ยึดปลายของทุ่นลอยด้านล่าง
เมื่อเดินเครื่อง กังหันจะหมุนอย่างช้าๆ ด้วยความเร็วต่ำ 5 รอบต่อนาที วิดตักน้ำลึกลงไปใต้ผิวน้ำประมาณ 0.5 เมตร แล้วยกขึ้นไปตามซองด้วยความสูงประมาณ 1 เมตร พร้อมปล่อยน้ำไหลผ่านรูเล็กๆ ให้น้ำไหลตกลงมาเป็นฝอยสู่ผิวน้ำตามเดิม สร้างพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศกว้างขวางมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนในน้ำละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว และในขณะที่ซองน้ำกำลังเคลื่อนที่ลงสู่ผิวน้ำแล้วกดลงไปใต้ผิวน้ำนั้น จะเกิดการอัดอากาศภายในซองน้ำ ภายใต้ผิวน้ำ จนกระทั่งซองน้ำจมน้ำเต็มที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงขึ้น หลังจากนั้นน้ำที่ได้รับการเติมอากาศแล้วจะเกิดการถ่ายเทของน้ำเคลื่อนที่ออกไปด้วยการผลักดันของซองน้ำ
กังหันน้ำชัยพัฒนามีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างอเนกประสงค์ อีกทั้งยังติดตั้งง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ ที่มีความลึกมากกว่า 1 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3 เมตร เมื่อโครงการได้ประดิษฐ์กังหันตัวต้นแบบออกมาก็ได้นำไปทดลองติดตั้งใช้ในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาวิจัยปรับปรุงคุณภาพการทำงานของกังหันอย่างต่อเนื่อง จนมีประสิทธิภาพสมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้
ด้วยประสิทธิภาพของกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 และนับว่าเป็นเรื่องที่สร้างความปิติยินดีและความภาคภูมิใจของเราชาวไทยทั้งปวง เพราะเป็นสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor ภายในงาน “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สะท้อนให้เห็นถึงความอัจฉริยภาพและความห่วงใยพสกนิกรทั้งชาติของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ได้อย่างชัดเจนยิ่ง
Source : chaipat, เรารักพระเจ้าอยู่หัว, nutchicha.wordpress