โครงสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ใจกลางซอยสุขุมวิท 49 เป็นที่ตั้งของ Playville Kindergarten สนามเด็กเล่นของเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 6 ขวบ ผลงานการออกแบบของ NITAPROW  บริษัทออกแบบงานสถาปัตยกรรม ที่เน้นงานออกแบบในรูปแบบ ความเรียบง่าย เพื่อสร้างความสมดุลให้กับพื้นที่

Playville Kindergarten ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบ Indoor Playground มาจาก การทรงตัวของเด็ก ที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือน จนถึงช่วงอายุ 6 ขวบ

การออกแบบอินทีเรีย ได้แบ่งบริเวณด้านล่างของอาคารเป็นพื้นที่ Dog Park ส่วนบริเวณด้านบนทั้งหมดเป็นพื้นที่ Playville Kindergarten โดยโถงทางเข้าได้ออกแบบให้เป็นอุโมงค์ไม้ที่มีส่วนโค้งเว้ามนทอดยาวตลอดทางเข้าสนามเด็กเล่น เพื่อให้พื้นที่ดูกว้าง สบายตา และดูสวยงามในสไตล์โมเดิร์น เลือกใช้วัสดุหลักเป็น แผ่นไม้ทึบ ทำให้มีความรู้สึกอบอุ่นจากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ไล่เรียงระดับสีความเข้มอ่อนสลับกันไปตัดกับความเขียวขจีของหญ้าเทียมได้เป็นอย่างดี

เมื่อเข้าไปด้านในจะพบกับการออกแบบหลังคาในรูปแบบของ Skylight หลายช่องถูกจัดวางให้เท่ากัน ทั่วพื้นที่ของสนามเด็กเล่น เพื่อให้มีแสงแดดส่องเข้ามาสร้างบรรยากาศปลอดโปร่ง ใช้แสงธรรมชาติแทนหลอดไฟ ด้วยเหตุนี้จึงเลือกใช้โทนสีอ่อนตกแต่ง ทำให้เด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ปกครอง รู้สึกสบายตา ผ่อนคลาย และใช้เวลาอยู่บริเวณนี้ได้อย่างมีความสุข

การออกแบบสนามเด็กเล่นจะไม่มีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน เพื่อให้เด็ก ๆ เคลื่อนไหวอย่างอิสระ ทั้งการวิ่ง การเดิน การปีนป่าย ตามช่วงอายุที่แตกต่างกันไป เพราะทุกพื้นที่ต่างเชื่อมต่อถึงกัน ทั้งโถงต้อนรับ พื้นที่เล่นภายนอก สไลเดอร์ และบ่อบอลในอาคาร

บริเวณ Façade ของอาคารส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศใต้และทิศตะวันตกเพื่อรับแสงแดด เลือกใช้วัสดุเป็น กระจกลามิเนต พร้อมติดตั้งผ้าม่านสักหลาดที่นำมาตัดเย็บเป็นรูปร่างกลมมนคล้ายกับเกล็ดปลาถูกสกรีนทับด้วยภาพของสัตว์ป่าต่าง ๆ เพื่อลดความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้ามาและสร้างความเป็นส่วนตัวจากพื้นที่ภายนอก

นอกจากนี้เครื่องเล่นสไลเดอร์อันใหญ่ เลือกใช้วัสดุเป็น แท่นไม้ สำหรับเด็ก ๆ ปีนป่ายและลื่นไถลลงมา ส่วนด้านล่างสไลเดอร์จะเป็นเสมือนถ้ำส่วนตัว ที่สามารถเล่นได้ทุกอย่างอิสระตามความชื่นชอบของเด็ก ๆ

 

 

Playville Kindergarten” นับได้ว่าเป็นไอเดียการออกแบบสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ จะได้รู้สึกสนุกและมีอิสระ เกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านกระบวนการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่มาจากการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กในแต่ละช่วงวัยต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว

Source

https://www.archdaily.com.br/br/942471/jardim-de-infancia-playville-nitaprow

Previous articleLIXIL ยกนวัตกรรมประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม เตรียมโชว์ในงานสถาปนิก’65 ปีหน้า
Next articleมารู้จัก 5 วัสดุ “ปูพื้นบ้าน” ที่ลงตัวกับไลฟ์สไตล์ของทุกคนในบ้าน
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม