วัสดุที่ใช้ภายในอาคารในช่วงการก่อสร้างมีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งนอกจากสารอันตรายเหล่านั้น กิจกรรมก่อสร้างก็สามารถนำสารปนเปื้อนอื่นๆ เข้ามาสะสมในสภาพแวดล้อมในอาคารเช่นกัน โดยสารอันตรายเหล่านั้นได้แก่ ฟอร์มันดีไฮด์ สารอินทรีย์ระเหยง่าย ฝุ่นละออง โอโซนแก๊สที่เผาผลาญจากอุปกรณ์ที่ใช้น้ำมัน และอากาศภายนอกจากอาคารรอบข้างมีกลิ่น หรือสารอันตรายอื่น ๆ ดังนั้นการลดสารอันตรายเหล่านั้นก่อนการเข้าใช้งานอาคารเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานอาคาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยจากสภาพแวดล้อมในอาคารที่ไม่มีคุณภาพลดน้อยลง และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อองค์กรที่เข้ามาใช้งานภายในอาคาร

กลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับแสดงว่าคุณภาพภายในอาคารนั้นมีคุณภาพที่ดี คือ การทดสอบระดับมลภาวะภายในอาคาร จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคารหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น และเป็นระยะเวลาก่อนการเข้าใช้งานอาคาร ซึ่งการตรวจสอบต้องตรวจวัดอากาศในสภาพตามที่มีการใช้งานอาคารตามปกติ

8a91a0d8

สารปนเปื้อนที่ควรดำเนินการตรวจสอบ และความเข้มข้นในอากาศสูงสุดของแต่ละชนิดสารปนเปื้อน ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่ใช้ในการอ้างอิง สำหรับมาตรฐาน LEED 2009 จะให้ดำเนินการตรวจสอบสารปนเปื้อนตามตารางด้านล่าง

069d1f01

ซึ่งในกรณีที่พบพื้นที่ที่มีค่าความเข้มข้นของสารปนเปื้อนชนิดใดสูงกว่าค่าสูงสุด ควรพิจารณาการดำเนินการเป่าอากาศที่หมุนเวียนในพื้นที่นั้น ให้เกิดระบายออกไปสู่ภายนอกอาคาร ด้วยการดูดอากาศจากภายนอกอาคารเข้ามาแทนที่อากาศที่หมุนเวียนอยู่ภายใน เราเรียกการดำเนินการนี้ว่าการ Flush-out

ในกรณีที่ประเมินว่าอากาศภายในอาคารมีการปนเปื้อนสารอันตรายจากวัสดุและกิจกรรมการก่อสร้างในปริมาณที่สูง เนื่องจากการเลือกใช้วัสดุ หรือการดำเนินแผนการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารระหว่างการก่อสร้างมีประสิทธิภาพต่ำ ให้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารด้วยกลยุทธ์การ Flush-out ภายในอาคารทั้งหมดก่อนการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร โดยควรจะดำเนินการนำอากาศภายนอกเข้ามาแทนที่อากาศภายในอาคารในปริมาณ 3.55 ลิตรต่อวินาทีต่อตารางเมตร (0.7 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาทีต่อตารางฟุต) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ตลอดเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นปริมาณที่เกณฑ์ประเมินอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา หรือ LEED ประเมินว่าเป็นปริมาณที่พอเพียงต่อการปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร (เป็นที่มาของตัวเลขปริมาณ 14,000 ลูกบาศก์ฟุตของปริมาณอากาศภายนอกต่อตารางฟุตของพื้นที่ภายในอาคาร โดยในหน่วย SI จะประมาณเท่ากับ 4,270 ลิตร ของปริมาณอากาศภายนอกต่อตารางเมตรของพื้นที่ภายในอาคาร) นอกจากนั้นต้องควบคุมสภาวะอากาศภายในให้มีอุณหภูมิระหว่าง 15-27 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60% (สำหรับเพดานอุณหภูมิภายในอาคารที่ 27 องศาเซลเซียส ถูกกำหนดในเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว LEED Version 4) เพื่อป้องกันความเสียหายต่อวัสดุในอาคารที่เกิดจากความชื้น และการเกิดแหล่งกำเนิดเชื้อราขึ้นภายในอาคาร

 

นิตยสาร Builder Vol.28 FEBRUARY 2016
เรื่อง: ผศ.ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์, LEED AP, TREES Founder
และ สุขสันติ์ ยงวัฒนานันท์ LEED Green Associate,
TREES Associates Executive Green Building Service, ISET (Thailand) Ltd.

Previous articleการสำรวจอาคาร และวางแผนอนุรักษ์พลังงาน สำหรับอาคารประเภทระหว่างใช้งาน
Next article‘ลลิล’ มั่นใจตลาดอสังหาฯฟื้นรับโค้งสุดท้ายมาตรการภาครัฐ ลุยเปิดโครงการครองพื้นที่โซนตะวันตก
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร