โครงการอาคารเขียว ตามมาตรฐาน LEED มีข้อกำหนดซึ่งถือว่าเป็นข้อบังคับ สำหรับ Environmental Tobacco Smoke Control หรือ ETS Control เป็นอีกหนึ่งกลไกสำหรับการควบคุมพฤติกรรมการสูบบุรี่ของผู้ใช้อาคาร โดยพิจารณาถึงการควบคุมมิให้สารพิษจากควันบุหรี่มาส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพของผู้ใช้อาคารรายอื่น ๆ ด้วย

ในปัจจุบันพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ใช้อาคารนั้น นับว่าเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อร่างกาย ทั้งในส่วนของผู้สูบเอง และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ หรือ Second Smoker ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขในระดับโลก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ ทำลายสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมได้ องค์การอนามัยโลกได้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อแสดงถึงจำนวนของผู้สูบบุหรี่ พบว่ามีสูงถึงประมาณ 1,100 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากการสูบบุหรี่ปีละ 5 ล้านคน

แต่สำหรับในประเทศไทย ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้สูบบุหรี่ พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 30.1 ในปี พ.ศ. 2519 และเหลือร้อยละ 17.5 ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ลดการสูบบุหรี่ที่ต่อเนื่อง และการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย ที่มีมานานอย่างน้อยสองทศวรรษ

สำหรับโครงการอาคารเขียว ตามมาตรฐาน LEED นั้น ได้มีข้อกำหนดซึ่งถือว่าเป็นข้อบังคับ สำหรับ Environmental Tobacco Smoke Control หรือ ETS Control ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกสำหรับการควบคุมพฤติกรรมการสูบบุรี่ของผู้ใช้อาคาร โดยพิจารณาถึงการควบคุมมิให้สารพิษจากควันบุหรี่มาส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพของผู้ใช้อาคารรายอื่นๆ โดยหลักการในการกำหนดถึงแผนการควบคุมการสูบบุรี่ดังกล่าว ตามมาตรฐาน LEED ได้บัญญัติไว้ ดังต่อไปนี้

1. กิจกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ใช้อาคาร จะอนุญาตให้เกิดขึ้นได้ในบริเวณที่จะต้องห่างจากปากประตูทางเข้า, ช่องเปิดอาคารสำหรับระบบระบายอากาศและหมุนเวียนอากาศของอาคาร ในรัศมีอย่างน้อย 25 ฟุต หรืออย่างน้อยประมาณ 8 เมตร

2. ต้องจัดให้มีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ หรือสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ ทั้งในพื้นที่อาคารโดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่จะมีการลักลอบสูบบุหรี่ เช่น ห้องน้ำ, ระเบียง หรือพื้นที่ห้องเครื่องจักร เป็นต้น จะไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ 100% รวมไปถึงพื้นที่ด้านนอกของตัวอาคารในรัศมีอย่างน้อย 25 ฟุต หรืออย่างน้อยประมาณ 8 เมตร เพื่อให้เป็นการมั่นใจได้ว่า ในระยะดังกล่าวที่ห่างจากปากประตูทางเข้า, ช่องเปิดอาคารสำหรับระบบระบายอากาศและหมุนเวียนอากาศของอาคาร จะไม่มีกิจกรรมการสูบบุหรี่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้สารพิษจากควันบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ใช้อาคารรายอื่นได้

3. จัดตั้งนโยบายการห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร พร้อมอ้างอิงตามกฎหมายและกฎระเบียบท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เพื่อระบุถึงบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืนและทำให้มีการสูบบุหรี่ในอาคาร และบริเวณที่ห้วงห้าม หรือในบางกรณีสำหรับโครงการอาคารเขียว ตามมาตรฐาน LEED ในประเทศไทย ก็ออกนโยบายไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในพื้นที่โครงการ 100% ซึ่งนั่นหมายความว่ารวมทั้งพื้นที่ในอาคารและภายนอกอาคารด้วย

4. ในกรณีที่ไม่สามารถระบุกำหนดให้ภายในพื้นที่อาคาร เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ได้ จำเป็นต้องมีการออกแบบให้มีห้องสูบบุรี่ในอาคาร โดยห้องดังกล่าวนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นห้องปิด แบบลักษณะ Deck-to-Deck และแยกระบบปรับอาคารออกจากระบบโดยรวมของอาคาร และจะต้องมีระบบดูดอากาศในห้องทิ้งด้วยอัตราอย่างน้อย 5 ปาสคาล และอย่างน้อย 1 ปาสคาล ในขณะประตูห้องสูบบุหรี่ปิด

พฤติกรรมการสูบบุหรี่นั้น ถึงแม้ว่าจะมีกลไกและกำหนดกฎระเบียบที่จะไม่ให้มีการสูบบุหรี่มากเท่าใด หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ที่ทำให้ทราบถึงโทษและพิษภัยจากการสูบบุหรี่ ก็ไม่อาจทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นเปลี่ยนไปได้หากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้สูบเอง ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้สูบที่จะต้องมีความมุ่งมั่น แข็งแรงทั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อจะงดสูบบุหรี่ให้ได้ ทั้งนี้ Environmental Tobacco Smoke Control หรือ ETS Control ตามมาตรฐาน LEED นั้นเป็นเพียงอีกกลไกหนึ่งเท่านั้น ที่จะส่งเสริมการงดพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ซึ่งจะดีต่อสุขภาพของตัวท่านเอง ผู้อื่น และสังคมในอนาคต

นิตยสาร Builder Vol.13 Issue November 2014

Previous articleการส่งเสริมการทำคะแนนในหมวด Sustainable Site ของเกณฑ์ประเมินอาคารเขียว LEED
Next articleมหันตภัยเงียบ ‘สารอินทรีย์ระเหยง่าย’ เราเลี่ยงได้ด้วยโครงการอาคารเขียว
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร