“บ้าน” เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตครอบครัว เมื่อถึงวันที่ครอบครัวจะมีสมาชิกตัวน้อยๆ มาเติมเต็ม ย่อมเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดีและต้องเตรียมการกันยกใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสมกับการเติบโตของลูกน้อย
บทความวันนี้ BuilderNews จะพาทุกท่านไปเรียนรู้และเข้าใจถึงหลักการออกแบบบ้านสำหรับเด็กให้มีความปลอดภัย รวมทั้งใช้งานสะดวกและเหมาะสมกับขนาดพื้นที่
เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ในฐานะผู้ใช้งาน
“เด็ก” เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนพิเศษเต็มเปี่ยมไปด้วยความสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งอาจจะพลั้งเผลอประสบอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยิ่งในช่วง 7 ปีแรกของชีวิต ประสาทสัมผัสทุกส่วนในร่างกายของเด็กจะทำงานโดยขาดการกลั่นกรองหรือปฏิเสธ เพราะยังเป็นวัยที่ซุกซนกำลังเริ่มแบ่งแยกโลกจินตนาการ และโลกแห่งความจริง ทำให้อุบัติเหตุในเด็กยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย
สอดคล้องกับข้อมูลบทความ Accidents to children in the home ของเว็บไซต์ Healthily ที่กล่าวว่าเด็ก ๆ สามารถได้รับบาดเจ็บได้ทุกที่ภายในบ้านหรือบริเวณโดยรอบบ้าน โดยเฉพาะการออกแบบบริเวณบันไดของบ้านแบบเปิดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีปัจจัยมาจากการทำกิจวัตรประจำวันที่เร่งรีบหรือไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมของบ้าน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและนักออกแบบที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการออกแบบตัวบ้านหรือพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน เมื่อมีชีวิตน้อย ๆ มาร่วมอาศัยด้วย
หลักการออกแบบพื้นที่ใช้สอยสำหรับเด็ก
ก่อนที่สถาปนิกจะทำการออกแบบแต่ละครั้ง จะมีการคิดและวางแผนในการออกแบบบ้านจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้อาศัยเข้ามาปรับใช้ในการออกแบบ ดังนั้นการออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กเองก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของเด็กและมุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโต เพื่อให้ได้พื้นที่ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งาน
Safety Dimension
ระยะปลอดภัยและระยะการใช้งานที่สะดวกที่สอดคล้องกับความสูงของเด็กแต่ละช่วงวัย เป็นสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบเพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย
Storage Space
การจัดเก็บก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการออกแบบห้องเด็ก เพื่อให้การเก็บและหยิบของมาใช้แต่ละครั้งนั้นสะดวกและปลอดภัย เราสามารถเพิ่มการเก็บของในแต่ละมุมที่เด็กใช้งานประจำได้ เช่น เตียงนอนที่เพิ่มการจัดเก็บของส่วนตัวในมุมหัวเตียงหรือใต้เตียง
Soft Touching
การเลือกวัสดุออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น หัวเตียงควรบุฟองน้ำและหุ้มผ้า พรมปูพื้นควรเลือกใช้ชนิดหนา มีความนุ่ม รวมทั้งทำความสะอาดได้ง่าย ส่วนเฟอร์นิเจอร์หากเป็นไม้ควรลดเหลี่ยมมุมเพื่อกันการกระแทก หรือควรเลือกไม้ที่ไม่ผ่านการเคลือบผิวด้วยสารเคมี อาจเลือกแบบที่ใช้ขี้ผึ้งเคลือบผิวด้านแทน เพราะจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
BuilderNews หวังว่าบทความนี้จะสามารถใช้เป็นแนวทางริเริ่มออกแบบบ้านสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพื่อลดความเสี่ยง และเหมาะสมกับการเติบโตของลูกน้อยต่อไป
Source
https://www.livehealthily.com/parenting/accidents-to-children-in-the-home