คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกอาวุโสผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในประเทศไทย ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ การเตรียมถนนและที่จอดรถ เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นข้อมูลด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม สำหรับสถาปนิกทุกท่าน ที่ต้องออกแบบที่จอดรถ สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ

โดยข้อควรคิดสำหรับการ การเตรียมถนนและที่จอดรถ เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ มีรายละเอียดดังนี้:

1. ต้องแยกถนนของรถยนต์ และทางเดินเท้า ออกจากกันให้ชัดเจน เพราะอันตรายที่สุด คืออุบัติเหตุจากความไม่รู้ ทั้งผู้อาวุโส ผู้พิการ และผู้ขับรถ ไม่ว่า ณ จุดใดก็ตาม อย่าให้ทางเท้าและถนนมาปนกัน แต่อาจจะ “ตัดกัน” ได้บ้าง โดยมีสัญญลักษณ์ที่พื้นของคนเดิน และสัญญลักษณ์เพื่อบอกให้ผู้ขับรถทั้งหลาย (รวมจักรยาน และ มอร์เตอร์ไซด์ด้วย) ให้รับรู้ และระวังตลอดเวลา ที่สำคัญทางเท้าที่ผู้พิการใช้ จะต้องมีคุณภาพด้วย

2. ที่จอดรถผู้พิการ ควรอยู่ใกล้ทางเข้าอาคารให้มากที่สุด มีลักษณะไม่ขนานกับทางเดินรถ มีพื้นผิวเรียบมีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้อ อยู่บนพื้นของที่จอดรถด้านที่ติดกับทางเดินรถ และมีป้ายขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ติดอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ ทางสัญจรจากที่จอดรถผู้พิการไปยังทางเข้าอาคาร ควรเป็นพื้นราบระดับเดียวกัน หรือเตรียมทางลาดในทางเปลี่ยนระดับให้ครบถ้วน

3. จากขนาดของช่องจอดรถปกติ ประมาณ 2.40×6.00 เมตร ควรเผื่อระยะความกว้างของที่จอดรถ สำหรับการขึ้นลงจากรถเข็นผู้พิการ เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1.00 เมตร ตลอดแนวยาวของพื้นที่จอดรถ โดยสามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างพื้นที่จอดรถ 2 คัน

4. เสาไฟที่อยู่ในบริเวณทางสัญจร ให้ทำแถบสีที่มีสีตัดกับสีของตัวเสา กว้างไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร แถบสีอยู่สูงวัดจากกึ่งกลางของแถบสีถึงระดับพื้น ระหว่าง 1.40-1.60 เมตร เพื่อให้ผู้มีปัญหาทางการมองเห็น สังเกตได้

5. ต้องปูพื้นผิวต่างสัมผัสในการเตือนโดยรอบเสาไฟ ให้ขอบพื้นผิวต่างสัมผัสห่างจากศูนย์กลางเสา 30 เซนติเมตร

handicap-sign-disabled-parking_2904856. กรณีมีถังขยะควรมีหลายถัง และวางในแนวเดียวกัน ความสูงของช่องทิ้ง อยู่สูงจากระดับพื้นระหว่าง 70-90 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกและเป็นจุดสังเกตุให้ผู้พิการ

7. บริเวณขึ้นลงของผู้โดยสาร ต้องมีที่ว่างอยู่ติดและขนานกับพื้นที่จอดรถ กว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ยาวเพียงพอสำหรับขนาดรถแต่ไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร

8. ที่จอดรถของผู้พิการ จะต้อง “ไม่ให้” คนปกติ มาแย่งใช้เด็ดขาด ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องสนใจว่าใครรวยหรือใหญ่มาจากไหนทั้งสิ้น

9. การเตรียมขนาดของที่จอดรถ และ การควบคุมการจอดรถเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเตรียมขนาดไว้ไม่กว้างพอ หรือการบริหารจัดการไม่ดี จะเกิดการ “จอดคร่อม” ที่จอดรถ ทำให้เสียพื้นที่ไปโดยไม่จำเป็น และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนครับ

10. จะต้องมีการดูแลและซ่อมสีของที่จอดรถผู้พิการ ให้เป็นที่สังเกตชัดเจนเสมอ และสิ่งที่น่าคำนึงก็คือ การใช้สีที่ถูกต้องเป็นสากล (เป็นสีฟ้า-น้ำเงิน) จะดีมาก

11. สัญญลักษณ์ที่เป็นสากล ไม่ต้องออกแบบให้มากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของที่จอดรถ ที่มีความเร็วของการขับรถเกี่ยวข้อง อีกทั้งมุมมองก็อาจถูกบดบังไปได้ ขอให้ใช้สัญญลักษณ์ที่เป็นสากลจะดีที่สุด

12. หากมีบันได บริเวณทางเข้า-ออกอาคาร ต้องมีทางลาดหรือลิฟต์ หรือวิธีเข้าแบบอื่น โดยมีป้ายสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกอย่างชัดเจน

13. ควรมีการปูพื้นผิวต่างสัมผัสเพื่อบอกทาง จากภายนอกอาคารไปยังประตูทางเข้า โดยปูให้แนวยาวของเส้นนูนตั้งฉากกับแนวประตูทางเข้า-ออกอาคาร ก่อนถึงประตู ควรปูพื้นผิวต่างสัมผัสในการเตือน กว้าง 30 เซนติเมตร และยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของประตู โดยปูให้ขอบพื้นผิวต่างสัมผัส ห่างจากประตู 30 เซนติเมตร

Previous articleออริจิ้น ยึดทำเลทองแหลมฉบัง-ศรีราชา ผุดอาณาจักร ORIGIN DISTRICT
Next articleสร้างแสง หลากอารมณ์ ด้วยหลอดประหยัดไฟ LED อัจฉริยะที่โฮมโปร
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม