หลอดไฟ LED หรือ Light Emitting Diode นั้น เป็นหลอดไฟที่มีหลักการทำงานโดยกล่าวได้ง่าย ๆ คือ เป็นหลอดไฟที่ปล่อยให้กระแสไฟฟ้าวิ่งไปในทิศทางเดียว ให้ผ่านสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าประเภทไดโอด จนทำให้เกิดการเปล่งแสงออกมาเป็นสีต่าง ๆ ตามคลื่นความถี่ที่เปล่งออกมาได้ เราจึงมักจะได้ยินอีกชื่อหนึ่งของหลอดไฟ LED ว่า “หลอดไดโอดเปล่งแสง”
หลอดไฟ LED หรือ “หลอดไดโอดเปล่งแสง” จะมีคลื่นความถี่ที่เปล่งออกมาโดยในแต่ละความถี่นั้น สีที่ได้ก็แตกต่างกันออกไปด้วย อาทิ ที่คลื่นความถี่ประมาณ 630 นาโนเมตร จะได้แสงสีแดง, ประมาณ 468 นาโมเมตร จะได้แสงสีเหลือง และประมาณ 462 นาโนเมตร จะได้แสงสีขาว เป็นต้น
คุณสมบัติและหลักการทำงานของหลอดไฟ LED นั้นแตกต่างจากหลอดไฟชนิดเก่า ๆ ที่เราเคยใช้กันมา ไม่ว่าจะเป็นหลอดไส้ที่อาศัยกระแสไฟฟ้า ทำให้ขดลวดขั้วหลอดที่อยู่ในหลอดบรรจุก๊าซเฉื่อยร้อนจัดจนเปล่งแสงสว่างออกมา ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากและยังปลดปล่อยความร้อนออกมาอีกด้วย แม้กระทั่งหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขั้วหลอดให้ได้ความร้อนในระดับหนึ่ง เพื่อไปกระตุ้นให้สารเรืองแสง ได้แก่สารปรอทที่บรรจุอยู่ในหลอดเปล่งแสงออกมา
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลอด LED นี้ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าหลอดชนิดอื่นตามที่ได้กล่าวไว้ในกรณีที่เปรียบเทียบในระดับการปล่อยความเข้มแสงที่เท่ากัน อีกทั้งความร้อนที่หลอด LED ปลดปล่อยออกมานั้นมีปริมาณน้อยกว่าหลอดไส้และหลอดฟลูออเรสเซนต์ ทำให้หลอด LED มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงทำให้ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ใช้หลอด LED กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีการรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาใช้หลอดไฟ LED และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับหลอดไฟ LED สำหรับหลอดไฟ LED ที่ได้รับการรับรองฉลากเบอร์ 5 ต้องมีการใช้งานยาวนานไม่น้อยกว่า 15,000 ชั่วโมง และประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 85% เมื่อเทียบกับหลอดไส้ โดย กฟผ. ระบุว่าได้ประสานงานกับผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย ให้ลดราคาหลอด LED ชนิด Bulb ในราคาพิเศษ และบรรจุลงในกล่อง กฟผ. จำหน่าย พร้อมประสานงานการจำหน่ายผ่านผู้จัดจำหน่ายชั้นนำทั่วประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดการจำหน่ายประมาณ 500,000 หลอด (ที่มา: http://www.egat.co.th)
นอกเหนือจากนั้นหลอดไฟ LED ก็ยังเป็นที่นิยมใช้ในโครงการอาคารเขียวอีกด้วย เนื่องจากคุณสมบัติของหลอดไฟ LED ไม่ได้ประกอบด้วยสารโลหะหนักโดยเฉพาะสารปรอท จึงถือว่าหลอดไฟ LED นั้น เป็น No-Mercury Lamp
ซึ่งจะสามารถพิจารณาทำคะแนนในหัวข้อ Sustainable purchasing-reduced mercury in lamps สำหรับข้อกำหนด LEED O+M: Existing Buildings Version 3 ได้ โดยผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายหลอดไฟ LED จำเป็นต้องแสดงการยืนยันในประเด็นดังกล่าว เพื่อยื่นขอการรับรองในลำดับต่อไป
อีกคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของหลอดไฟ LED นั้น คือทำให้สามารถลดจำนวนดวงโคมลงได้ เมื่อพิจารณาถึงค่าส่องสว่างในแต่ละพื้นที่เท่ากันตามกฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายความถึงค่า Lighting Power Density หรือปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์การส่องสว่างจะต่ำลงตามไปด้วย ผลพลอยได้คือ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าของอาคารหรือโครงการโดยรวมนั่นเอง ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการดำเนินงานโครงการอาคารเขียว ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาคารเก่าสำหรับ LEED O+M: Existing Buildings และอาคารใหม่สำหรับ LEED New Construction and Major Renovations และไม่ว่าจะเป็นประเภทอาคารแบบ Retails หรือไม่ก็ตาม การประหยัดพลังงานก็จะส่งผลดีต่อโครงการในแง่ของ Energy Saving ทั้งสิ้น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการเลือกใช้หลอดไฟ LED ยังมีมูลค่าต้นทุนที่สูงกว่าหลอดไฟชนิดอื่น ๆ หากแต่เมื่อพิจารณาถึงอายุการใช้งานที่สูงกว่า ก็เป็นความท้าทายของเจ้าของโครงการที่จะเลือกตัดสินใจหันมาใช้และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลอดไฟจากชนิดเดิม ๆ มาเป็นหลอดไฟ LED หรือไม่นั่นเอง
นิตยสาร Builder Vol.34 AUGUST 2016