ชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ใช้ในงานก่อสร้างนั้น มีหลากหลายแบบและหลากหลายการใช้งาน ก่อนที่เราจะพูดถึงประโยชน์และข้อดีของชิ้นส่วนสำเร็จรูปนั้น เราควรทำความตกลงกันถึงคำนิยาม ของคำว่าชิ้นส่วนสำเร็จรูปในงานก่อสร้างเสียก่อนว่าหมายถึงอะไร
ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปนั้น โดยทั่วไปมีความหมายถึง การที่เราหล่อชิ้นส่วนคอนกรีต ไว้ก่อนที่จะยกไปประกอบเป็นโครงสร้างทั้งโครงสร้าง เช่น หากในกรณีการสร้างบ้าน ก็ทำการหล่อชิ้นส่วน เสา คาน พื้น กำแพงไว้ก่อน ที่จะนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบ ซึ่งการหล่อชื้นส่วนสำเร็จนั้น อาจทำในโรงงาน หรืออาจทำกันที่หน่วยงานก่อสร้างนั้นเลยก็ได้
ถ้าพิเคราะห์กันให้ดีจะพบว่า การใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปมีมาแต่โบราณ ที่ชาวโรมันทำแบบหล่อชิ้นส่วนสำหรับท่อส่งน้ำของพวกเขา หรือแม้แต่ก้อนชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นพีระมิด ก็อาจจะเรียกได้ว่า เป็นระบบ Precast เหมือนกัน เหตุผลที่ ทำไมมนุษย์ถึงต้องพยายาม พัฒนาวิธีการหล่อชิ้นส่วนก่อนแล้วค่อยนำไปประกอบขึ้นมา สามารถอธิบายได้ดังนี้คือ
ประการแรก การทำชิ้นส่วนไว้ก่อน แล้วค่อยยกมาประกอบกันนั้น ทำให้การทำงานสามารถทำได้ง่ายกว่า เช่นถ้าหากไปทำอยู่ในโรงงาน การทำชิ้นส่วนก็สามารถควบคุมคุณภาพได้ และทำได้รวดเร็ว แบบไลน์การผลิตแบบอุตสาหกรรม การทำงานทำได้ต่อเนื่องรวดเร็วในโรงงาน ไม่ต้องระมัดระวังเรื่องดินฟ้าอากาศที่อาจควบคุมไม่ได้ เช่นหากทำงานในฤดูฝน การเทคอนกรีตในที่ ยิ่งทำได้ยาก และอาจต้องพักหากฝนตก เมื่อการทำงานได้ง่ายและควบคุมคุณภาพได้ง่าย ก็ทำให้ ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพที่ดีกว่า การหล่อชิ้นส่วนในที่ (ก่อสร้าง) นอกจากนั้น การใช้วิธีนี้ ทำให้ สถานที่ก่อสร้างสะอาด เป็นระเบียบ ขึ้น และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
ประการต่อมา การทำงานสามารถแยกส่วน และทำขนานกันไปได้ เช่น ที่สถานที่ก่อสร้างก็อาจเตรียมฐานราก ไปพร้อมๆ กับที่ในโรงงานก็หล่อชิ้นส่วนสำเร็จเป็นเรื่อย ๆ ทำให้ชิ้นส่วนสำเร็จนอกจากจะมีคุณภาพดีแล้ว ยังทำให้การทำงานโดยรวมเร็วขึ้นอีก
ยกตัวอย่าง ตึกที่สร้างเร็วที่สุดในโลก เวลาก่อสร้างที่ถูกใช้มานับเป็นการก่อสร้างเร็วที่สุดในโลกนั้น ถูกนับตั้งแต่ตึกเริ่มสร้างให้คนทั่วไปได้เห็น แต่ไม่ได้เห็นเวลาสร้าง ดังนั้นจึงเห็นว่ามันก่อสร้างเร็วมาก ทั้งที่ความจริงแล้ว มีช่วงการเตรียมการและการหล่อชิ้นส่วนสำเร็จอีก ที่เขาไม่ได้เห็น
และข้อดีอีกข้อหนึ่งของชิ้นส่วนสำเร็จรูป ที่ไม่ค่อยได้เป็นที่พูดถึงกันก็คือ การที่มีการใช้เวลาหน้างานที่น้อย ทำให้สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างลงไปได้อีก อันได้แก่
ก) ความเสี่ยงจากการขาดแคลนคนงาน
ข) ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่หน้างาน
ค) ความเสี่ยงจากดินฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติอื่นๆที่ควบคุมไม่ได้
ง) ความเสี่ยงจากการโดนปรับจากการทำงานที่ล่าช้า ส่งมอบงานไม่ทันตามกำหนด
จ) ความเสี่ยงจากการโดนเพื่อนบ้านฟ้องร้องจากปัญหาที่ฝุ่น ความสกปรก เสียง จากสถานที่ก่อสร้าง
ฉ) ความเสี่ยงอื่นๆ
ซึ่งการลดความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ลงนั้นเอง ทำให้ต้นทุนทางอ้อมของงานลดลงได้อย่างมาก เพราะถ้าหากเทียบกันเฉพาะต้นทุนทางตรงกันอย่างเดียวแล้วก็อาจจะเข้าใจไปว่า การใช้ระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปนั้น มีต้นทุนไม่ต่างจากการก่อสร้างปกติเท่าไหร่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก และในปัจจุบันบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจก็นำวิธีการนี้มาใช้กันทั้งหมดแล้ว