ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บ้านราคาเกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.5%, ที่ดินเกษตรกรรม 0.2%, อาคารพาณิชย์ทำธุรกิจ 2%, ที่ดินรกร้าง 5% โดยใช้หลักการให้คนที่มีทรัพย์สินมากต้องเสียภาษี ไม่ให้ถือครองทรัพย์สินมากเกินไป และกระจายทรัพย์สินออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

สำหรับการกำหนดเพดาน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราใหม่ แบ่งการจัดเก็บออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย:

1) ยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท หากราคาที่อยู่อาศัยเกิน 50 ล้านบาท หรือมีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ผู้ครอบครองจะต้องเสียภาษี โดยกำหนดเพดานสูงสุดอยู่ที่ ร้อยละ 0.5ของราคาที่อยู่อาศัย
2) กลุ่มที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดอัตราเพดานภาษี ร้อยละ 0.2
3) เก็บภาษีจากอาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม กำหนดเพดานภาษี ร้อยละ 2
4) เก็บภาษีจากที่ดินรกร้าง ว่างเปล่า ไม่ใช้ประโยชน์ กำหนดเพดานภาษี ร้อยละ 5

พร้อมกันนี้ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพ มีรายได้พัฒนาท้องถิ่น และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน จึงมีแนวทางยกเลิก พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โดยจะเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้ง

ขณะที่ กระทรวงการคลัง จะเร่งผลักดันให้ พรบ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้ ทันปีพ.ศ. 2560 โดยกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่า การกำหนดเพดานภาษีอัตราใหม่มีความสมดุล ประชาชนร้อยละ 99.96 ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี และไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งบ้านที่มีราคาเกิน 50 ล้านบาท จากการสำรวจพบมีอยู่ 8,556 หลัง คิดเป็นร้อยละ 0.04 ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ จะช่วยเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาษี จากเดิม 30,000 ล้านบาท เป็น 64,000 ล้านบาท

ภายใต้กฎหมายดังกล่าว จะยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินบางประเภท ประกอบด้วย:

1) ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
2) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
3) ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือ
ในกิจการสาธารณะ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์
4) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ที่ประเทศไทยมีข้อผูกพัน ให้ยกเว้นภาษีตามสนธิสัญญาหรือความตกลง
5) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูต หรือสถานกงสุลของต่างประเทศ ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
6) ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
7) ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใด เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
8) ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะ หรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
9) ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การที่ประกอบกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
10) ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วน ที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือทรัพย์สินของเอกชน ที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ใช้ หรือหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น
11) ทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
12) ทรัพย์สินตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

อนึ่ง ร่างกฎหมายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการเสนอล่าสุดนี้ ไม่ใช่การจัดเก็บภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจาย การถือครองที่ดิน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง

รายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
คลิกที่ภาพเพื่ออ่านรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้:

1) ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508

2) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

3) หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้จะเป็นของ อปท. ที่ทำหน้าที่จัดเก็บ

4) ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด

5) ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

6) อัตราภาษีที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ จะเป็นอัตราสูงสุดที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
โดยจะจัดแบ่งอัตราภาษีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ในที่ดิน คือ
(1) กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.2
(2) กรณี ใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 และ
(3) กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ (เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น) ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ในส่วนของที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน กำหนดอัตราภาษีสูงสุดในกฎหมายให้ อปท. เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินดังกล่าวในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี

7) ยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินบางประเภท เช่น สาธารณสมบัติ ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินของสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรที่มิได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และบ้านพักอาศัยหลักในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้น

8) อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้
(1) เกษตรกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึง ร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี
(2) ที่พักอาศัยหลัก ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 0.05 ถึงร้อยละ 0.1 และที่พักอาศัยหลังอื่น ตั้งแต่ร้อยละ 0.03 ถึง ร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี
(3) ประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ถึง ร้อยละ 1.5 ของฐานภาษี
(4) ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึง ร้อยละ 3 ของฐานภาษี

9) การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้
มาจากการรับมรดก ผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจาก
การชำระหนี้ และกิจการสาธารณะ ดังนี้
9.1 ในกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจากการรับมรดกก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีการบรรเทาภาษีให้ โดยการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย
9.2 ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปี ให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง
9.3 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย ที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของ เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
9.4 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 5 ปี
9.5 ให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย สำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น

10. นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคาร บ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลาย

ทั้งนี้ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลให้กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน กฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ และกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งถูกยกเลิกโดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป สำหรับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียหรือพึงชำระหรือที่ค้างอยู่หรือที่ต้องคืนก่อนที่จะเริ่มมีการบังคับใช้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างพระบัญญัติดังกล่าว

Previous articleย้อนดูผลงาน Zaha Hadid กับโปรเจค “ศูนย์วัฒนธรรมนานาชาตินานกิง” ดีไซน์โดดเด่น สุดอลังฯ
Next articleThe Cube Plus Chaengwattana ส่งโปรโมชั่นสุดว้าว จองเพียง 999!!
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม