หากพูดถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านหลายคนคงนึกไปถึง “อิฐ” หรือ “คอนกรีต” เป็นอย่างแรก เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของเมืองไทยได้ดี แต่ในกระบวนการผลิตนั้นกลับสร้างก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกไม่น้อย
วันนี้ BuilderNews จึงพาไปรู้จัก “เฮมพ์คอนกรีต” วัสดุก่อสร้างชีวภาพทำมาจากใบกัญชง มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำไปสร้างบ้านและอาคารได้ อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเฮมพ์ Hemp หรือกัญชง Kanchong
เฮมพ์ Hem หรือกัญชง Kanchong เดิมมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์เดียวกันคือ Cannabis sativa L เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว นิยมปลูกต้นกัญชงในทางภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ง่าย
ต้นกัญชงมีความสูงประมาณ 2 – 4 เมตร เส้นใยของต้นกัญชง มีความเหนียวนุ่ม น้ำหนักเบามีสีออกขาวแกมน้ำตาล จัดว่าเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น แข็งแรงทนทาน

หากลอกเส้นใยออกจากลำต้นกัญชงหมดแล้ว จะเหลือในส่วนของแกนลำตัน หรือเปลือกแกนลำต้น นิยมเรียกตามภาษาต่างประเทศว่า “แกนเฮมพ์ ” มีลักษณะน้ำหนักเบา รูตรงกลางด้านในเป็นโพรง มีสีขาวอมน้ำตาล และไม่มีฝุ่น ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี
ในปัจจุบันประเทศไทยนิยมนำเศษแกนเฮมพ์ไปใช้ประโยชน์หรือทำผลิตภัณฑ์ยังมีน้อย แต่ในต่างประเทศนิยมนำแกนเฮมพ์ไปใช้ในงานผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างอาคารและบ้าน

จากใบกัญชงสู่ “เฮมพ์คอนกรีต” วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ
เฮมพ์คอนกรีต ทำจากแกน กัญชง หรือ แกนเฮมพ์ ผสมกับเถ้าถ่านหิน ผ่านกระบวนการย่อยแกนให้ละเอียดปนหยาบ และปรับปรุงคุณภาพแกนเฮมพ์ด้วยสารอลูมิเนียมซัลเฟต ผสมร่วมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนไลม์ เถ้าถ่านหินบางส่วน และน้ำ นำมาขึ้นรูปโดยการอัดหรือหล่อก้อนตามขนาดที่ใช้งานทั่วไป ให้มีความแข็งแรงมากเมื่อสัมผัสกับอากาศเป็นระยะเวลานาน ส่วนมากใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ประเภทวัสดุก่อผนัง วัสดุเทพื้น วัสดุโครงสร้าง






คุณสมบัติอันโดดเด่นของ “เฮมพ์คอนกรีต”
- น้ำหนักเบา ความหนาแน่นต่ำ คลายความร้อนได้เร็ว ดูดซับเสียง ดูดซับกลิ่น ไม่ลามไฟ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ได้ดี เหมาะสำหรับเป็นวัสดุโครงสร้างประเภทไม่รับน้ำหนัก
- มีคุณสมบัติด้านกำลัง และความหนาแน่นปานกลางช่วยลดน้ำหนักของโครงสร้างหลัก เป็นฉนวนในตัว คลายความร้อนได้ดี
- ด้วยลักษณะของวัสดุที่หล่อและอัดขึ้นรูปเป็นบล็อก จึงสามารถก่อ ฉาบ ตกแต่งผิว ด้วยปูนที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปได้
- มีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น และยังเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่

“เฮมพ์คอนกรีต” แม้ว่าจะมีน้ำหนักเบา มีรูพรุน แต่เส้นใยของต้นกัญชง สามารถระบายความร้อนได้ดี ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทั่วไปได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานก่อผนังกันความร้อน งานผนังดูดซับเสียง งานโครงสร้าง หรือแม้แต่งานก่อผนังได้อีกด้วย
ในปัจจุบัน “เฮมพ์คอนกรีต” ถือได้ว่าเป็นกระแสการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้ก่อสร้างบ้านแทนคอนกรีตได้ ซึ่งเป็นไอเดียอีกทางเลือกของการสร้างบ้านแบบประหยัด และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม