ขณะที่ราคาหน้ากากอนามัยริมทางวันนี้ (วันที่ 4 ก.พ.) เราเจอว่าไต่ไปได้ถึงอันละ 25 บาทแล้วในย่านพร้อมพงศ์ ตาม demand ที่สูงขึ้นตามเพราะวิกฤตทั้งเรื่องไวรัสโคโรนา และ PM 2.5 โดยยังไม่ได้มีหนทางการแก้ไขเป็นรูปธรรม ผู้คนลดการออกจากบ้านหรืออยู่ตามพื้นที่สาธารณะเพราะกลัวอันตราย
งาน Bangkok Design Week ที่มาปีละหนก็วนมาถึงและเรียกผู้คนให้ออกมาเดินชมศิลปะกันอีกครั้ง แน่นอนว่าคนคงบางตากว่าปีที่แล้วเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าจะต้องออกมาจริง ๆ เราเชื่อว่ามีที่หนึ่งที่ปลอดภัยและเหมาะสำหรับการพักฟื้นทั้งอารมณ์ศิลป์ สภาพจิตใจ และร่างกาย
Bangkok #Safezone Shelter งานพาวิลเลียนอาร์ตแห่งเดียวของ TCDC ที่ดึงดูดใจให้เราออกมาดู เพราะเขาสร้างโดมที่เรียกว่าหลุมหลบภัยทางอากาศขึ้นจากธรรมชาติ ใช้ต้นไม้ดักฝุ่น จนเราสนใจเปลี่ยนบรรยากาศไปสูดอากาศไร้ฝุ่นให้เต็มปอด ย้ายจมูกไปอยู่นอกหน้ากาก หายใจสบาย ๆ เพื่อสูดออกซิเจนเข้าไปบ้าง
โดมมุ้งสีขาวรูปร่างนุ่มนวล คล้ายก้อนเมฆ แต่ดูร่วมสมัยหลังหนึ่งตั้งอยู่บริเวณบันไดเดินลงด้านล่างไปรษณีย์กลาง จากตำแหน่งติดตั้งเราเข้าใจได้ทันทีว่านักออกแบบตั้งใจให้มันคล้ายกับหลุมหลบภัย ปกป้องผู้คนเวลาที่พบกับวิกฤตสงคราม ฯลฯ จากโลกภายนอก
สิ่งที่ต่างจากภาพหลุมหลบภัยทั่วไปคือ ทางเข้าที่รายล้อมด้วยสีเขียวจากพืชต่างชนิด เรียงซ้อนกันเป็นเลเยอร์สูงต่ำ มีสายน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น เสียงน้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงพืชพรรณให้งอกงามสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ตัวมุ้งผ้าสีขาวที่ทำหน้าที่เป็นกำแพงและหลังคาล้อมจนหน้าตาเสมือนอาคาร มีความละเอียด โปร่ง เห็นแสงธรรมชาติส่องผ่าน
Bangkok #Safezone Shelter หรือหลุมหลบภัยทางอากาศชิ้นนี้เป็นผลงานของ บริษัท ภูมิสถาปนิก ฉมา ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency: CEA) และได้ที่ปรึกษาโปรเจกต์เป็น ผศ. ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โปรเจกต์นี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยอากาศในงานอาร์ตกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นจากไอเดียต้นไม้กรองอากาศซึ่งเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องจากงานวิจัยเรื่องพืชดักฝุ่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยนำข้อมูลการวิจัยมาประยุกต์สร้างแผงกรองขึ้นมา อ้างอิงรูปแบบจากนวัตกรรมเครื่องกรองอากาศในปัจจุบัน
ถ้าเราลองแยกชั้นออกมาดูจะเห็นว่าองค์ประกอบของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นล้วนมีประโยชน์และทำงานต่อเนื่องกัน เรียงลำดับจากด้านนอกสุดสู่ด้านใน
แผงต้นไม้ภายนอกอาคาร: ดักจับฝุ่น บางสายพันธุ์อย่างพลูด่างเป็นไม้ราคาประหยัด ทนทาน มีคุณสมบัติใบลื่นมัน ช่วยดักฝุ่นได้ดี อีกทั้งความสูงต่ำของต้นไม้แต่ละชนิดที่ต่างกันจะทำหน้าที่เสมือนไส้กรองธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ
ม่านน้ำหยด: ถึงจะเป็นวิธีแก้ชั่วคราวแต่ใคร ๆ ก็รู้ว่าการสร้างม่านละอองน้ำหรือฉีดม่านน้ำเป็นวิธีดักฝุ่น Manual ที่ยังใช้งานได้ผล ดังนั้น เมื่อกรองจากต้นไม้มาได้ระดับหนึ่ง ฝุ่นก็มาเจอกับละอองน้ำอีกก็โดนเก็บกวาดไปอีกชั้น
พัดลมขนาดใหญ่: หน้าตาพัดลมอาจจะคล้ายเครื่องกรอง แต่ในความจริงพัดลมเครื่องนี้คือพัดลมธรรมดาที่คอยดูดอากาศจากภายนอกมาถ่ายเทเข้าสู่ด้านใน
ม่านมุ้งสีขาว: กรองแสงแดดจ้าให้เบาบางและกรองฝุ่นละอองขนาดใหญ่ได้บางส่วน
นอกจากแต่ละชั้นด้านนอกแล้ว ด้านในยังมีต้นไม้อีกหลากหลายชนิดที่คายออกซิเจนและความชื้นให้ตลอดเวลาทำให้ตอนอยู่ภายในโดมรู้สึกเย็นสบายตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามผลงานชิ้นนี้ ทีมออกแบบเผยว่ามันยังเป็นชิ้นงาน prototype เพราะยังเป็นโปรเจกต์ที่อาศัยการรวบรวมความรู้นำมาสร้างการทดลองเชิงรูปธรรมขึ้น แม้จะมีมอนิเตอร์แสดงให้เห็นว่าอากาศด้านนอกเมื่อเปรียบเทียบกัน ทั้งค่าฝุ่น PM2.5 ฝุ่น PM10 อุณหภูมิ หรือความชื้น ว่าแย่กว่าด้านในโดมแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าการใช้ธรรมชาติฟอกอากาศจะช่วยกรองได้ 100%
กระนั่นการริเริ่มสักนิดย่อมดีกว่า
จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของกลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองผ่านการออกแบบ ดำเนินการจากงบประมาณไม่ได้มากเพราะต้นไม้บางต้นหลักสิบบาท หรือถ้าแพงกว่านั้นพอเอามารวมกันแล้วยังไงก็ยังถูกกว่าราคาเครื่องฟอกอากาศที่กินพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรอยู่ดีอาจช่วยแก้ปัญหาระยะยาวของกรุงเทพฯ ได้
ลองคิดว่าถ้าเรามีพาวิลเลียนเล็ก ๆ นี้ตามพื้นที่สาธารณะอย่างทางเดินสกายวอล์ก ป้ายรถเมล์ หรือตามอาคารสูงจะช่วยลดปริมาณฝุ่นได้ขนาดไหน หรือถ้าเอารูปแบบเดียวกันมาประยุกต์ใช้กับที่พักเชื่อว่าการไปชมครั้งนี้ทุกคนจะได้ไอเดียกลับมาใช้งานต่อที่บ้านได้อย่างแน่นอน
Bangkok Design Week 2020 จัดระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ มีงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ 11:00 – 21:00 น.
ให้ได้ชมไอเดียดี ๆ ความคิดสุดสร้างสรรค์จากฝีมือคนไทยและต่างประเทศ รวมทั้งได้ถ่ายรูปกลับไปเป็นที่ระลึกลงโซเชียลไว้เป็นความทรงจำ จำไว้ว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิ่งที่ BuilderNews นำมาฝากคงไม่เท่าความประทับใจที่คุณพบเจอเองอย่างแน่นอน
อย่ารอให้ถึงวันที่ 10 ล่ะ เตรียมตัวหาวันออกไปดูงานนอกบ้านกันดีกว่า