อย่างที่เรารู้ ๆ กันดีว่าแม้จะโลกเราจะมีทะเลทรายเต็มไปหมด แต่วงการสถาปัตยกรรมก็มักมีสงครามการแย่งชิงทรายอยู่เสมอ ถึงขนาดที่มีคนกล่าวว่า “น้ำจะเป็นทรัพยากรขาดแคลนลำดับแรกในโลก และต่อมาก็เป็นทรายนี่แหละ!” ซึ่งเรื่องนี้เราเชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแวดวงสถาปนิกอาจจะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วทำไมเมื่อทรายที่มีตามทะเลทรายมากมายมหาศาล โลกยังขาดแคลนทรายอยู่ดี จนถึงขั้นต้องขโมยแย่งชิงกัน เหตุผลนั้นมาจากอะไรกันแน่
ต้องบอกก่อนว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างทุกวันนี้ใช้ทรายจากแหล่งน้ำ ได้แก่ ทรายจากทะเลหรือแม่น้ำเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ทรายจากทะเลทราย เนื่องจากเหตุผลของลักษณะเม็ดทรายที่แตกต่างกัน รูปทรงของทรายจากแหล่งน้ำนั้นได้จากการกัดเซาะของน้ำ ขณะที่รูปทรงของทรายในทะเลทรายได้ขนาดและรูปทรงจากการกันเซาะของลม เม็ดทรายในทะเลทรายจึงมีลักษณะกลมเกินเมื่อนำมาผสมเพื่อทำงานก่อสร้างแล้วจะไม่เกาะติดกัน
เมื่อปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้น กลุ่มนักศึกษาจาก Imperial College London จึงเริ่มต้นพัฒนาวัสดุคอมโพสิตชื่อ “FINITE” ขึ้น โดยเจ้า “FINITE” นี้คือการนำวัสดุที่เคยไร้ประโยชน์อย่างทรายทะเลทรายนำมาสร้างเป็นคอนกรีต ซึ่งเขาคอนเฟิร์มมาว่ามันจะแข็งแรงเท่ากับอิฐที่เราใช้ในการก่อสร้าง แต่ช่วยลดเรื่อง carbon footprint ที่เกิดจากการผลิตคอนกรีตแบบเดิมได้ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง
“สารยึดเกาะหลักที่ใช้ในการผสมคอนกรีตคือ สารที่มีสัดส่วนสูงถึง 5% จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก” – Maccario หนึ่งในนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยที่ร่วมกันสร้าง FINITE กล่าว
ท่ามกลางความสำเร็จของการวิจัย ปัจจุบันสิ่งที่นำมาประสานเม็ดทรายจากทะเลทรายนั้นยังคงเป็นความลับที่ยังไม่เปิดเผยว่ามาจากอะไร แต่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าสิ่งนี้ที่พวกเขาคิดค้นได้มา จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าและเปลี่ยนโฉมการเลือกคอนกรีตเดิมให้เข้าสู่การเลือกใช้วัสดุที่สร้างขึ้นเพื่อความยั่งยืน
เมื่อเป็นนวัตกรรมการสร้างวัสดุที่ยั่งยืน ภาพรวมยังคงต้องมองเรื่องของการย่อยสลาย พวกเขาอธิบายว่า FINITE เป็นวัสดุที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุทางเลือก ทรายที่ยึดเกาะกันจากเทคนิคพิเศษนี้ไม่เพียงแกร่งเหมาะแก่การใช้งาน มันยังง่ายต่อการรีไซเคิลด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้อย่างอื่นเพื่อย่อยสลายมันเลย ต่างจากคอนกรีต
แต่ด้วยจุดตั้งต้นที่ไม่มีสิ่งที่เป็นอันตรายเข้ามาผสมด้วยแบบนี้ แน่นอนว่าระยะเวลาความคงทนของมันย่อมจำกัด ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนอาหารใส่สารกันบูดกับไม่ใส่ อาหารที่ไม่ใส่อาจจะดีกับร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตแต่มันก็เสื่อมง่ายกว่าเช่นกัน ไม่สามารถคงสภาพได้นาน ดังนั้น เจ้า FINITE ที่อยู่บนพื้นฐานเดียวกันนี้ก็เป็นวัสดุทางเลือกที่เหมาะนำไปใช้งานชั่วคราวเท่านั้น
“เรานำมันมาใช้เป็นวัสดุเพื่อสร้าง Pavilion ได้ จากนั้นสัก 3 เดือน เมื่ออีเวนต์นั้นจบลง เราจะแยกชิ้นส่วนมันได้อย่างปลอดภัย” Tam อธิบาย
เราคิดว่าทางวัสดุทางเลือกในวันนี้และวันหน้า นับจากนี้ต่อไปไม่ได้มองกันเฉพาะความคนทนของผู้อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องนึกถึงสภาพแวดล้อมและความเสื่อมโทรม รวมไปถึงการจัดการมันในวันที่เสื่อมโทรมด้วย ซึ่งเหตุผลทั้งหมดสามารถตอบโจทย์ได้ตั้งแต่การวางแผนสร้างและเลือกวัสดุ
โครงสร้างคือพระเอกที่ฉายแสงของสถาปนิก แต่วัสดุคือเสาเข็มที่บ่งบอกแนวคิดของสถาปนิกเช่นกัน หวังว่าองค์ความรู้ดี ๆ ที่นำมาฝากจะตอบโจทย์ทุกคนไม่มากก็น้อยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก