แม้จุดเริ่มต้นในการก่อตั้งบริษัท OPENSPACE DESIGN จะแตกต่างจากแนวทางในการถือกำเนิดขึ้นของบริษัทออกแบบอื่นๆ แต่ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปื ของการค่อยๆ เติบโตขึ้นของบริษัทฯ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าการไม่เคยละทิ้งความพยายาม กอปรกับการเรียนรู้รอบด้านเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนก้าวใหม่ๆ ในการทำงานได้เช่นกัน

ทั้งนี้ คุณมณฑล สงวนพงษ์ Vice Managing Director และ Project Director ของ OPENSPACE DESIGN ได้เอ่ยถึง ก้าวแรกก้าวแห่งความภาคภูมิใจ และก้าวต่อไปของบริษัทออกแบบที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งนี้

“ผมเป็นสถาปนิกที่จบการศึกษามาในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งช่วงปี พ.ศ. 2542 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับ เด็กจบใหม่ที่จะได้ทำงานในบริษัทออกแบบที่มีการเลย์ออฟพนักงานกันในช่วงนั้นแต่ผมก็ยังอยากทำงานออกแบบ เพราะเชื่อว่าแก่นของงานดีไซน์คือเรื่องของการดีไซน์ ไม่ใช่เพียงแค่สถาปัตยกรรมอย่างเดียว เป็นงานอินทีเรียร์ก็ได้ งานเอ็กซิบิชั่นก็ได้ งานกราฟิกดีไซน์ก็ได้ อีกอย่างสมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย เราก็ไม่ใช่เด็กเรียนดีนัก เพราะฉะนั้นในยุคนั้นจึงไม่เลือกงานขอเพียงแต่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก็พอ

NAJ_5710 OKก่อนที่ผมกับหุ้นส่วนบริษัทคือ คุณจักรวาล สมรรถศรบุศย์ และ คุณทรงพล จิริยะสิน จะมารวมตัวกัน เราต่างทำงานในคนละสายงาน ตัวผมเองเริ่มต้นทำงานกับบริษัทออกแบบกราฟิก คุณทรงพลทำงานบริษัทอินทีเรียร์คุณจักรวาลทำงานบริษัทคอนซัลท์ ซึ่งไม่มีใครทำงานบริษัทสถาปนิกเลย จนเวลาผ่านไปกว่า 3 ปี ความคิดเดิมที่อยากทำงานสถาปัตยกรรมนั้นก็ยังอยู่ กอปรกับที่มีประสบการณ์มากขึ้น จึงชักชวนมารวมตัวกันรับงานออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมเล็กๆ น้อยๆ มาทำกัน จนกระทั่งผมย้ายมาทำงานด้านเอ็กซิบิชั่นซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเราอยากทำงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง อยากเปิดเป็นสตูดิโอเล็กๆ ขึ้นมา จึงชวนกันมาเปิดสตูดิโอออกแบบอย่างจริงจังที่ผ่านมาการได้ทำงานในสายอื่นๆ มันก็ทำให้เราได้ความรู้ในเรื่องการทำ Conceptual Design มากขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้ล่ะที่ผมมองว่าจุดเริ่มต้นของเราไม่เหมือนบริษัทอื่นนัก แต่ก็อาจจะเป็นข้อได้เปรียบบ้างจากการที่เราได้ไปเรียนรู้งานในสายงานอื่น จึงทำให้เรามองภาพงานสถาปัตยกรรมไม่เหมือนเดิม

เราจดทะเบียนบริษัทจริงจังในช่วงปีพ.ศ. 2548 ช่วงแรกๆ ยังไม่มีผลงาน ด้านสถาปัตยกรรมเลย เวลาคนถามถึงงานด้านสถาปัตยกรรมที่เราเคยทำมาว่ามีงานอะไรบ้าง เราก็รู้สึกเจ็บใจลึกๆ เหมือนกันเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีงานด้านนี้มาก่อนเลย (ยิ้ม) ช่วงนั้นงานด้านเอ็กซิบิชั่นและอีเว้นท์จะค่อนข้างเยอะ เพราะผมทำงานในสายนี้มาก่อน ครั้งแรกที่เราเริ่มทำงานเป็นเอ็กซิบิชั่นในขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เป็นบูธขนาด 100 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งในประเทศไทยงานที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีไม่กี่งาน เช่น มอเตอร์โชว์ มันนี่เอ็กซ์โป และงานสถาปนิก แต่ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกจึงมีความผูกพันกับงานสถาปนิก เราจึงมุ่งไปที่งานสถาปนิกเป็นหลัก อีกอย่างผมเชื่อว่าบูธเหล่านั้นย่อมเน้นทางด้านการออกแบบมากกว่าในงานอื่นๆ ในช่วงแรกที่เราออกแบบบูธในงานสถาปนิก ได้ทำให้ลูกค้าพร้อมกันถึง 3 ผลงาน ซึ่งฟอร์ไมก้าเป็นหนึ่งในลูกค้าที่เรายังได้ร่วมงานกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่อุปสรรคของการทำงานในช่วงแรกของเราเป็นเรื่องของผลงานอ้างอิง ดังนั้นเราจึงใช้เวลาค่อนข้างนานในการจะค่อยๆ ไต่ให้ตัวเองมีผลงานมากพอ โดยเฉพาะงานด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งแตกต่างกับนักออกแบบที่อาจจะเคยทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมในบริษัทใหญ่ๆ มาก่อน ซึ่งก็มักจะมีผลงานอ้างอิงที่เคยทำมาก่อน และน่าสนใจกว่า

งานสถาปัตยกรรมชิ้นแรกๆ ของบริษัทเป็นบ้าน 2 หลังของรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่คุ้นเคยกันอยู่ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการออกแบบด้วยค่าจ้างที่สูงนัก แต่เรามองว่าถ้าเราไม่คว้าบ้านหลังแรกไว้เราก็จะไม่มีผลงานอ้างอิงเสียทีการทำงานกับบ้าน 2 หลังนี้สำหรับเราจึงถือว่าเป็นการลงทุน บ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์น อีกหลังหนึ่งสไตล์คอนเทมโพรารี่ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถึงแม้ว่าทุกวันนี้พอย้อนกลับไปมองแล้วเราจะรู้สึกว่าถ้าให้ไปออกแบบในตอนนี้น่าจะทำได้ดีกว่านั้น แต่ผมว่านักออกแบบส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นแบบนี้ เพราะในวันหนึ่งประสบการณ์และความสามารถเราในวันนี้ก็น่าจะต้องทำการออกแบบได้ดีกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ในทุกๆ งาน เราก็จะเต็มที่กับมันและทำดีที่สุด ณ วันนั้นเสมอ”

Wind House

ในวันที่เติบโตขึ้น

ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่าน คุณมณฑลและ OPENSPACE DESIGN ได้เดินทางมาในเส้นทางที่เป็นทั้งความฝันและความตั้งใจจริง การมีแก่นขององค์ความรู้ที่แข็งแกร่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ในหลายผลงานได้รับการยอมรับ และกลายเป็นความภูมิใจ

“จริงๆ ที่ผ่านมาเราทำงานมาหลายรูปแบบและมีช่วงเวลาที่ประทับใจกับงานอยู่หลายชิ้นแต่ผมขอเล่าถึงงานที่ค่อนข้างใกล้ตัว ซึ่งเป็นงานประกวดแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นความภูมิใจมากคืองานประกวดแนวคิดการออกแบบอาคารสำนักงานของกรมทางหลวง ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศมา เราทุ่มเทกับงานชิ้นนี้มากๆ โดยจุดเริ่มต้นคือเมื่อกลางปีพ.ศ. 2557 มีการจัดประกวดออกแบบอาคารสำนักงานกรมทางหลวง ทางเราก็อยากฝึกวิธีคิดของตัวเองจึงได้ตัดสินใจส่งงานเข้าประกวดด้วย ซึ่งเราเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ตอนนั้นรู้เลยว่าต้องเหนื่อยมากเนื่องจากเป็นงานขนาดแสนตารางเมตร เราจึงไปรวมทีมกับพี่ๆ ที่เป็นวิศวกร ซึ่งมีผลงานที่ดีและเป็นที่ชื่นชอบอยู่ แม้จะมีเวลาในการทำประกวดแค่เดือนเดียวแต่เราก็เต็มที่มาก จนกระทั่งชนะการประกวดขึ้นมา เราก็มีความสุขมาก ไม่ได้มีความสุขเพียงเพราะเราชนะการประกวดออกแบบ แต่เพราะรู้สึกว่าแนววิธีคิดของเรามีคนยอมรับมากกว่าโดยแนวคิดในการออกแบบของโครงการคือ คำว่า ‘ถนนสร้างชาติ’ เนื่องจากโครงการนี้คือสำนักงานแห่งใหม่ของกรมทางหลวง เราต้องสร้างสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในองค์กรมากว่า 100 ปีขึ้นมา เราจึงเสนอแนวคิดเป็นการสร้างอาคารใหม่บนที่ดินเดิมและนำทางลาดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในงาน ซึ่งน่าจะนำมาใช้ให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของกรมทางหลวง ทั้งนี้จากแนวคิดของถนนสร้างชาตินั้น เรามองว่าการที่ประเทศเจริญขึ้นมาได้อย่างทุกวันนี้ก็เพราะในอดีตที่ผ่านมามีการสร้างถนนเข้าไปยังถิ่นทุรกันดารและนำพาความเจริญเข้าไปถึงที่เหล่านั้น

อีกโครงการหนึ่งที่อยากพูดถึงคือบ้าน Wind House ที่ประทับใจเนื่องจากเจ้าของโครงการค่อนข้างให้อิสระในการออกแบบและเข้าใจในงานสถาปัตยกรรม รวมถึงให้โอกาสเราในการทำอะไรที่เป็นการทดลอง บ้านหลังเดิมของเจ้าของมีขนาดใหญ่ อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อผมเข้าไปแล้วจะรู้สึกว่าค่อนข้างอบอ้าว แนวคิดในการออกแบบที่ผมเสนอไปคือการทำบ้านให้เย็นสบาย จึงตั้งใจทำบ้านที่มีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่โถงบันไดเพื่อให้ลมจากบริเวณรอบๆ ไหลเข้ามายังโถงตรงกลางทำให้บ้านร่มเย็นขึ้น ประกอบกับที่ดินที่อยู่ติดด้านข้างของบ้านเป็นสวน เมื่อมองไปจะรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยู่ที่สวนในต่างจังหวัด ซึ่งสิ่งที่เราได้ทดลองในบ้านหลังนี้มีหลายอย่างและผลที่ได้ออกมาก็ค่อนข้างประทับใจ

อีกโครงการที่อยากเอ่ยถึงคือบูธของฟอร์ไมก้าในงานสถาปนิกปีนี้ เพราะมีข้อจำกัดของโจทย์ค่อนข้างเยอะ โจทย์แรกคือแนวคิดที่ต้องสร้างสรรค์ภายใต้ธีม Back to Basic ซึ่งในความคิดของผมคือการย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เรียบง่าย แต่ทั้งนี้ปัญหาของงานด้านเอ็กซิบิชั่นคือ เราจะทำสิ่งที่เรียบง่ายออกมาอย่างไรให้โดดเด่นตามความต้องการของลูกค้า เพราะในงานเอ็กซิบิชั่นนั้นคุณจะมีเวลาเพียงแค่ 10 วินาที เท่านั้น ที่จะดึงดูดสายตาของคนที่เดินผ่านไปมาให้ตัดสินใจว่าจะเข้าหรือไม่เข้า ถ้าบูธดูไม่น่าสนใจคนก็ไม่เดินเข้ามาหรือหากดูเป็นบูธที่เน้นแต่ขายของมากๆ คนก็เดินผ่านไปเลยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องออกแบบให้ดึงดูดคนที่ผ่านไปมาให้ได้มากที่สุด อีกทั้งลูกค้าเองก็อยากจะโชว์สินค้าให้ได้มากที่สุดด้วยเราจึงมาเบรนสตรอมกันภายในทีม สำหรับ OPENSPACE DESIGN นั้นเวลาเราทำงานกันทุกครั้งเราจะมีการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ออกไอเดียเบรนสตรอมกันเพื่อหาไอเดียที่ดีที่สุด เราได้พบสิ่งที่น่าสนใจคือ ในเมื่อเป็น Back to Basic และพื้นที่บูธเป็นสี่เหลี่ยม จึงมีแนวคิดที่ลงตัวกับหน้าลามิเนตที่เป็นสี่เหลี่ยมที่เรียบง่ายและพัฒนาการออกแบบให้เป็นเสา สืบเนื่องจากตอนที่ได้คุยกับลูกค้าผมก็เพิ่งได้ทราบว่า ฟอร์ไมก้ามีลามิเนตแผ่นขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งไม่มีรอยต่อ เป็นขนาดพิเศษ 3-4 เมตร เราจึงจับมานำเสนอในบูธ นอกจากนี้เรายังอยากได้พื้นที่ที่เป็นแกลเลอรี่โชว์สินค้าไม่ใช่ร้านขายของ สุดท้ายงานจึงออกมาภายใต้แนวคิด ‘Magic from Basic’ โดยออกแบบให้ประกอบด้วยเสาเกือบ 100 ต้น ซึ่งหุ้มด้วยลามิเนตชนิดต่างๆ ซึ่งทำให้เราได้พื้นที่โปร่งและได้โชว์ลามิเนตบนเสาแต่ละต้นจำนวนมาก ผมว่าจุดหนึ่งที่ทำให้บูธนี้ได้รางวัลก็คงเพราะความเรียบง่ายแต่ก็เป็นบูธที่โดดเด่น”

Formica 2016

“เป้าหมายในการทำงานของเราก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากทำงานให้ดีขึ้นในทุกๆ งาน มันคงจะดีมากถ้าหากวันนี้เราได้ทำบ้านอีกหลังแล้วเราชอบมากกว่าบ้านหลังแรกที่เราเคยทำ ถ้ามันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นก็แสดงว่าเราเดินหน้าไปเรื่อยๆ แล้วล่ะเพราะมันแปลว่าเราดีขึ้น และมีทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ แค่เราเห็นว่าดีขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว”

โลกธุรกิจคือการเรียนรู้

คุณมณฑล เล่าถึงวิธีการทำงานอย่างหนึ่งของ OPENSPACEDESIGN ที่ให้ความสำคัญกับการระดมความคิดและการให้สิทธิความคิดสร้างสรรค์จากทีมงานคนรุ่นใหม่ ซึ่งนั่นทำให้ผลงานที่กำเนิดจากบริษัทออกแบบแห่งนี้ได้รับการมองเห็นในระดับประเทศมากขึ้น และแน่นอนว่าอนาคตของ OPENSPACE DESIGN ก็ยังวาดหวังถึงก้าวใหม่ๆ ที่ต้องดีขึ้นกว่าวันวาน

“วิธีการทำงานของบริษัทเรานั้น หลังจากรับบรีฟจากลูกค้ามาแล้วเรามักจะเริ่มต้นแชร์ไอเดียกันก่อน โดยบางงานเราจะนำเอาโจทย์ของบรีฟนั้นให้ทุกคนนำไปทำสเก็ตซ์ดีไซน์ บางครั้งก็เป็นงานเดี่ยว บางครั้งก็เป็นงานกลุ่ม เพื่อหาความหลากหลายของไอเดีย ผมมองว่าหลายครั้งหลายไอเดียเราสามารถนำมาปรับรวมกันได้ หลายครั้งงานที่ไอเดียดีๆ ก็มีจุดเริ่มต้นก็มาจากน้องๆ ในบริษัท เพราะฉะนั้นทีมงานที่อยู่ที่นี่ก็จะทราบวิธีการทำงานของเรา และเนื่องจากผมเป็นดีไซเนอร์มาก่อนผมก็รู้ว่าทุกคนอยากออกแบบ ไม่อยากโดนครอบ ไม่อยากมีคนสเก็ตซ์มาแล้วให้เรานำไปพัฒนาต่อ แต่ทั้งนี้ทุกคนจะทราบว่าคุณก็ต้องขัดเกลาไอเดียตัวเองให้ดีพอ ถึงจะเป็นไอเดียที่ถูกเลือก ผมมองว่า OPENSPACE คือการเปิดกว้างด้านความคิด ไอเดียจากน้องคนไหนในทีมก็ได้ ขอให้เป็นไอเดียที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้เราก็ต้องทำงานให้ตอบโจทย์ลูกค้าด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากๆ จากการเปิดบริษัทคือการบริหารคนและการบริหารบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เอง เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราได้เรียนจากศาสตร์ของการออกแบบ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนที่เปิดบริษัทของตัวเองต้องเรียนรู้ให้ได้เพราะเราต้องบริหารคนและบริหารบริษัทให้อยู่ได้โดยมีผลกำไร ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้อย่างมากทั้งการบริหารและดูแลความรู้สึกของคนเหล่านั้นในแต่ละแง่มุม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ทีมงานของเราทุกคนพึงพอใจและทำให้เขาสามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ในทิศทางเดียวกันกับเรา หรือทิศทางที่เราพึงพอใจ แต่ทั้งนี้สไตล์การทำงานของแต่ละออฟฟิศก็คงจะแตกต่างกันออกไป

ก้าวต่อไปของบริษัทคือการที่เราอยากประกวดออกแบบในระดับสากลบ้าง หรือหากมีการประกวดแบบในระดับชาติอีกครั้งเราก็อยากจะลองทำอีก แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นเวทีที่เหมาะสม เช่นเป็นงานในเวทีที่คณะกรรมการเป็นผู้ที่เราเชื่อถือ เป็นเวทีที่ใสสะอาด ส่วนเป้าหมายในการทำงานของเราก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากทำงานให้ดีขึ้นในทุกๆ งาน มันคงจะดีมากถ้าหากวันนี้เราได้ทำบ้านอีกหลังแล้วเราชอบมากกว่าบ้านหลังแรกที่เราเคยทำ ถ้ามันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นก็แสดงว่าเราเดินหน้าไปเรื่อยๆ แล้วล่ะ เพราะมันแปลว่าเราดีขึ้นและมีทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ แค่เราเห็นว่าเราดีขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว”

Builder Vol.32 June 2016

Previous articleBSG Natural Glass นวัตกรรม กระจกธรรมชาติ
Next articleเฝ้าระวัง “20 จุดเสี่ยงในกรุงเทพ” ฝนตกหนักระบายน้ำไม่ทัน
นะโม นนทการ
หรือ ธนสัติ นนทการ นักเขียนนิตยสาร Builder อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันร่วมงานกับนิตยสารหลากหลายฉบับ