เตรียมบังคับใช้แล้ว! กระทรวงมหาดไทยประกาศ มาตรการอนุญาตชาวต่างชาติซื้อที่ดินไทย ท่ามกลางเสียงหนุนและเสียงค้าน ไม่ว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไรบ้าง นี่คือประเด็นที่สำคัญและน่าจับตามองในช่วงเวลานี้อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

“ไม่มีการขายชาติใดๆทั้งสิ้น”
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565  

แน่นอนว่าสำหรับผู้สนับสนุน มาตรการนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นเสมือนทางรอดของวงการอสังหาริมทรัพย์ หลังวิกฤติซ้อนของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตามชื่อสัมมนาที่นายนิพนธ์ ขึ้นเป็น Special Keynote สอดคล้องกับที่เขาชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สำหรับผลดีของมาตรการนี้ คุณภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เห็นว่าจะสร้างการจ้างงาน เกิดการจับจ่าย เป็นปัจจัยบวกสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว

 

“คนไทยจะไปอยู่ที่ไหน”
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าว

ความกังวลของเขาคือกลุ่มทุนมั่งคั่งจากต่างชาติที่มีกำลังซื้อมหาศาล ไม่ว่าจะจากจีนหรือสหรัฐอเมริกา สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ชี้ว่าตั้งแต่ปี 2561-2564 จีนเป็นสัญชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศมากที่สุด

“ความเข้มแข็งทางการเงินของคนไทย” ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางรัก และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แสดงความกังวล เมื่อปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของคนไทยกำลังพุ่งสูง ค่าเงินบาทก็กำลังอ่อนที่สุดในรอบ 7 ปี เงินกำลังเฟ้อเพิ่มสูง การอนุญาตให้ต่างชาติซื้อที่ดินในไทยอาจทำให้คนไทยต้องขายที่ดินให้ต่างชาติในราคาที่ถูกแบบเสียเปรียบ ในขณะที่โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เห็นว่าการให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยถึงกับเห็นว่าการซื้อที่ดินของชาวต่างชาติในไทยจะเป็นการซื้อเพื่อสร้าง “อาณานิคม” เลยทีเดียว

ผู้อ่าน BuilderNews มีข้อมูลหรือความเห็นอย่างไร นี่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมระดมความคิดกัน ร่วมแสดงความเห็นในช่องคอมเมนต์กันได้เลย

 

Sources                        

Previous articleญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่นำ CO2 รีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิง พลาสติก และวัสดุก่อสร้าง พร้อมวางเป้า Net zero emissions ภายในปี 2050
Next articleหินอ่อน อิฐบล็อก และเวทีคาราโอเกะ: มนต์เสน่ห์แห่งยุค 60 ในดีไซน์ Reno Hotel Bangkok โดย PHTAA living design