“ซิโน-ไทย” ผนึกกำลังการบินกรุงเทพ และ BTS จัดตั้ง “กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS” คว้าสัมปทาน 50 ปี จากภาครัฐ และในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 305,555 ล้านบาท พร้อมยกเป็นโครงการแห่งประวัติศาสตร์การก่อสร้างของไทย คุณภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าวการพัฒนา “โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก” ว่า ตนมีความภาคภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการแห่งประวัติศาสตร์การก่อสร้างของไทย ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ ในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มาสู่พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน
“บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเมกะโปรเจคมากว่า 58 ปี โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือมาตรฐานของผลงานก่อสร้างที่มีคุณภาพ ตรงเวลา โดยคำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยเป็นสำคัญ การบริหารงานโครงการฯ โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ทำให้ซิโน-ไทย มีความมั่นใจในความแข็งแกร่งของพันธมิตร อันได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการบิน มากว่า 50 ปี มีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องบริหารสายการบิน รวมถึงการบริหารสนามบิน และบริษัท บีทีเอส โฮล์ดิ้ง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้มีความเชี่ยวชาญด้าน โลจิสติก ระบบขนส่งทั้งหมด
รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทั้ง 3 องค์กรจับมือร่วมกันบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ทำให้มั่นใจถึงความสำเร็จในอนาคต ขอให้ความมั่นใจว่า ซิโน-ไทย บริษัทก่อสร้างของคนไทย จะทุ่มเทกำลังความรู้ ความสามารถ เพื่อดำเนินการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมเมืองการบินที่ยิ่งใหญ่อันทรงคุณค่า สง่างาม ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่ภาคภูมิใจต่อคนไทยทั้งประเทศ” คุณภาคภูมิ กล่าวสำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นการต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เพื่อพัฒนาไปสู่ประตูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง และ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐจะได้ผลประโยชน์ ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบิน เทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี
ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) ผู้ที่ได้รับสัมปทาน 50 ปี จากภาครัฐ และได้ลงนามสัญญาร่วมทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาโดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญา โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) เกิดจากความร่วมมือจาก 3 บริษัทเอกชนใหญ่ ได้แก่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงทุนประมาณกว่า 290,000 ล้านบาท
โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานจัดเตรียม แผนพัฒนาในด้านต่างๆ พร้อมทั้งยื่นซองเอกสารแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก รวมเวลาดำเนินงาน เจรจาเพียง 47 วัน เป็นระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เมื่อเทียบกับขนาดโครงการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาแสดงถึงความพร้อมทางการเงินที่แข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญ และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสามารถดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึง การเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
โดยได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี