จากกระแสดราม่าการทุบเรือนขนมปังขิง หรือ อาคารบอมเบย์เบอร์มา บ้านเก่าอายุร้อยกว่าปีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองแพร่มานานถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่ ก่อกระแสความไม่พอใจและเศร้าโศกให้กับชาวบ้านรวมไปถึงกลุ่มอนุรักษ์จังหวัดแพร่ที่ต่างเสียดายสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีการประณีประนอมโดยการนำช่างฝีมือดีมาเพื่อสร้างให้เหมือนเดิม แต่บาดแผลครั้งนี้ก็ยังติดตรึงอยู่ในใจชาวบ้านอยู่ดี และเกิดคำถามที่ว่าถึงสร้างขึ้นมาใหม่ แล้วจะเทียบได้กับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเรือนขนมปังขิงแบบเดิมได้หรือ?
เมื่อไม่นานมานี้ ชาวลำปางก็เป็นอันต้องฮือฮาเมื่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบนกับกรมโยธาฯ ลำปางได้ดำเนินโครงการซ่อมแซม “บ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์” ซึ่งได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคที่ชาวต่างชาติเข้ามาทำสัมปทานไม้สักในเขตภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาวลำปางไม่แพ้กัน จึงเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวว่าจะซ้ำรอยเดิมกับการซ่อมแซมอาคารบอมเบย์เบอร์มาในจังหวัดแพร่หรือไม่
ล่าสุดวันที่ 18 มิ.ย.63 นายประทีป ประคองวงศ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า “การก่อสร้างดังกล่าวเกิดจากความต้องการของชุมชน คนที่ต้องการอนุรักษ์เมืองเก่า ก่อนจะดำเนินการได้มีการออกแบบกันมาตลอด เราไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงอะไร แค่มาเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้นเท่านั้น อันไหนผุพังใช้งานไม่ได้ก็เปลี่ยนให้ ส่วนรูปทรงอื่น ๆ เหมือนเดิมทั้งหมด ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กรมศิลปากร ได้เข้ามาขอข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวนำไปเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อดูว่าอาคารดังกล่าวจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ส่วนการปรับปรุงซ่อมแซมในครั้งนี้ ชาวลำปางไม่ต้องเป็นห่วง จะไม่มีการทุบทิ้งเหมือนอาคารเก่าของบอมเบย์เบอร์มา ในจังหวัดแพร่แน่นอน”
ขณะนี้บ้านหลุยส์ฯ อยู่ในขั้นตอนปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งมีการติดตามการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมมากที่สุด ทั้งนี้ทางจังหวัดลำปาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กลุ่มอนุรักษ์เมืองเก่าชุมชนท่ามะโอ ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้ควบคุม ดูแล เอาใจใส่การซ่อมแซมทุกขั้นตอนเพื่อปรับปรุงบ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดังเดิม และจะพร้อมเปิดให้เข้าชมความสวยงามเพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตของลำปางในห้วงเวลาสุดประทับใจได้ในอนาคตอันใกล้นี้
เปิดประวัติบ้านหลุยส์ฯ สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของชาวลำปาง
ในประวัติศาสตร์ไทย หลายคนคงคุ้นหูกันดีกับชื่อ “แอนนา เลียวโนเวนส์” ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบ้านหลุยส์หลังนี้คือบ้านของลูกชายครูสอนภาษาอังกฤษท่านนี้นั่นเอง
“บ้านหลุยส์ฯ” ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2448 โดยมีนายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นเจ้าของบ้าน เขาเป็นชาวอังกฤษที่เข้ามาทำการค้าในไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยขณะนั้น จากนั้นในปี 2462 หลุยส์ได้เสียชีวิตที่อังกฤษ ต่อมาในปี 2482 กรมป่าไม้ได้รับมอบโอนกิจการทำไม้ของบริษัท บริติช บอร์เนียว จำกัด และ บริษัทแอล. ที. เลียวโนเวนส์ จำกัด มาเป็นสมบัติของรัฐ ก่อนที่บ้านหลุยส์ฯ จะมาอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบนภายใต้การกำกับดูแลของกรมธนารักษ์จนถึงทุกวันนี้
บ้านโบราณหลังนี้ได้รับการบูรณะให้ยังคงความสมบูรณ์สวยงามในรูปแบบไม่ต่างไปจากเดิม โดยตัวบ้านจะมีลักษณะเป็นเรือนปั้นหยาสองชั้นยื่นมุขแปดเหลี่ยม มีลักษณะเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ รูปลักษณ์ใหญ่โต ตัวบ้านชั้นบนประกอบด้วยไม้ทำเป็นช่องเปิดแบบบานพับ และช่องระบายอากาศเป็นบานเกล็ดไม้ทั้งหมด บนเพดานมีการใช้ไม้แผ่นตีเรียงประกอบกันในลักษณะแปดเหลี่ยม
ส่วนเหนือบานประตูมีการแกะสลักแผ่นไม้ประดับตกแต่งไว้อย่างประณีตงดงาม เป็นบ้านโบราณที่เหมาะแก่การอนุรักษ์ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรวมถึงเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้คนได้เข้าไปเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้และเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวความเป็นมาของสถาปัตยกรรมเก่า ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
สถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งทรงคุณค่าที่ควรรักษาไว้ เพราะมันสะท้อนถึงการลงแรงกายแรงใจ ความคิดและตัวตนของผู้ออกแบบและเจ้าของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งซ่อนอยู่ภายใน และด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานก็ยิ่งทำให้สถาปัตยกรรมเหล่านั้นมีความสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นมรดกท้องถิ่น รวมไปถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ควรสืบสานต่อไปอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อสยบดราม่าที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ทาง BuilderNews ก็ขอให้ “อาคารบอมเบย์เบอร์มา” จังหวัดแพร่เป็นสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลังสุดท้ายที่ถูกทุบทิ้งและสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้คนนะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/775632