จากกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่ถ่ายทอดผ่านสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับ การทาพื้นถนนด้วยสีแดงในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดน่าน จังหวัดตาก ทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ และล่าสุดที่ถนนข้าวหลามในจังหวัดชลบุรีนั้น ทำให้หลายคนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงทาสีแดงบนพื้นถนน มีนัยยะแฝงอย่างไรหรือไม่ และสีแดงจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้จริงหรือ?

ทั้งนี้ รศ.ดร.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ชี้แจงว่าถนนทาสีแดงนี้ก็คือ ถนนเคลือบผิวจราจรเพื่อต้านการลื่นไถล (Anti-Skid Painting Road) ซึ่งสีแดงที่ว่านี้เป็นสีเคลือบผิวจราจรชนิดโคลด์พลาสติก (Cold Plastic) ผสมวัสดุมวลรวมละเอียด (Fine Aggregate) ประเภทสารพิเศษลูกแก้วและสารเคมีตัวหลัก กลุ่มโพลิเมทิลเมทาคริเลด (Polymethyl Methacrylate) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะประสานกับผิวถนนเดิมและผสานเชื่อมวัสดุ และอีกตัวคือสารเคมีที่ทำให้เกิดการแข็งตัวเป็นผงฮาร์ดเดนเนอร์กลุ่มเปอร์ออกไซด์ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่ช่วยทำให้เกิดการแข็งตัวยึดเกาะถนน ทั้ง 3 ส่วนประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เพิ่มแรงต้านการลื่นไถลให้กับผิวถนน ช่วยให้หน้าล้อยางรถยึดเกาะถนนได้เต็มที่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงฝนตก เมื่อผู้ขับขี่รถผ่านมาในเวลากลางคืน แสงไฟจากรถจะส่องกระทบพื้นสีแดงบนถนน ซึ่งมีส่วนผสมเป็นลูกแก้วจะมีแสงระยิบระยับสะท้อนให้เห็นชัดเจน

โดยวิศวกรผู้ออกแบบเลือกใช้สีฉูดฉาดมาเคลือบทับถนนพื้นถนนก็เพื่อให้โดดเด่นสะดุดตาและสร้างความตระหนักว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองแต่อย่างใด และการทาถนนสีแดงนี้ก็มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น สำหรับประชาชนในฐานะผู้ขับขี่เองก็ควรมีข้อปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่เขตทางถนนสีแดงควรที่จะลดความเร็วลง จะต้องขับรถตามมาตรฐานความเร็วที่กฎหมายการจราจรได้กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนด้วย


นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

Previous articleOculus อาคารศูนย์รวมด้านการค้าและการขนส่ง โดดเด่นด้วยการออกแบบคล้ายกับปีกนก
Next articleเมกะโปรเจ็กต์ในจังหวัดเชียงใหม่ โอกาสในวันนี้และวันหน้า อุปสงค์เพิ่มอีก 2 เท่า
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร