กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ขยายเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง ยกระดับแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ของคนในพื้นที่ที่ผูกพันกับสายน้ำและพระพุทธศาสนา ตามแนวคิด สายน้ำแห่งความเชื่อ เส้นทางแห่งความศรัทธา “นาคาวิถี”

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ที่ให้บูรณาการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายสายทางเพื่อพัฒนาให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) รวมทั้งยกระดับถนนให้มีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการปรับปรุงบริเวณพื้นที่ถนนเดิมด้วยการบูรณาการด้านทัศนียภาพ สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อันจะนำไปสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินงานอยู่ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของกรมทางหลวงชนบท

โดยเส้นทางถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” เป็นเส้นทางเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง จากจังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 750 กิโลเมตร โดยปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจออกแบบระยะที่ 1 จากจังหวัดมุกดาหารถึงจังหวัดนครพนม (จวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร – สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) – หาดมโนภิรมย์ – วัดสองคอน – แก่งกะเบา – พระธาตุพนม)  ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะได้พบกับ   ความงดงามของทัศนียภาพของแม่น้ำโขง หาดทรายน้ำจืด และเกาะแก่งต่างๆ รวมทั้งความสวยงามของศาสนสถานของศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าค้นหา ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำของผู้เดินทางอย่างแน่นอน และจะดำเนินการสำรวจออกแบบส่วนที่เหลือในระยะถัดไป ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565

ซึ่ง ทช. มีแผนที่จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อจะได้เกิดการบูรณาการทางความคิดและใช้เป็นหลักในการออกแบบรายละเอียดต่อไป

 

Previous articleปตท. ยืนยันมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยท่อส่งก๊าซฯ ตามมาตรฐานสากล เน้นความปลอดภัยสูงสุดเป็นสำคัญ
Next articleกทม.เชิญร่วมออกแบบสติ๊กเกอร์ติดข้างรถเก็บขยะ เริ่มส่งผลงานได้ 12 พ.ย. นี้
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท