ในการดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ นั้น งานรากฐานเสาเข็ม คือองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องดำเนินการในลำดับต้น ๆ เพราะฐานรากเสาเข็มทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายเทน้ำหนักของตัวอาคารทั้งหมดลงสู่ชั้นดิน แต่ทว่ากระบวนการติดตั้งงานฐานรากเสาเข็มแบบทั่วไปมีขั้นตอนที่หลากหลาย
วันนี้ BuilderNews จะพาไปรู้จักกับ เข็มเหล็ก หรือ ระบบรากฐานยุคใหม่ที่เป็นทางเลือก ในการแก้ปัญหาของกระบวนการติดตั้งงานฐานรากเสาแบบทั่วไป
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “เข็มเหล็ก”
“เข็มเหล็ก” ระบบงานฐานรากยุคใหม่ผลิตมาจากเหล็กกล้าหรือเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยผ่านกระบวนการป้องกันสนิม หรือ Hot dip Galvanized ซึ่งผสานเข้ากับเนื้อเหล็กกล้าโดยตรง จึงช่วยเพิ่มอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่า 30 ปี
เข็มเหล็กถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดขั้นตอนที่หลากหลายของกระบวนการติดตั้งงานฐานรากเสาเข็มแบบทั่วไป เช่น การเปิดหน้าดิน การเข้าแบบหล่อปูน การใช้เหล็กเส้นและการทำความสะอาดหน้างาน จึงทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของหน้างานและช่วยประหยัดเวลา สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายและแม่นยำกว่าระบบเสาเข็มแบบทั่วไป
จุดเด่นของเข็มเหล็ก
- ช่วยให้หน้างานสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยไม่มีเศษดินและเศษปูน
- ไม่ต้องเข้าแบบหล่อปูนหรือใช้เส้นเหล็ก
- ช่วยลดมลพิษทางเสียง จากการตอกเสาเข็มแบบเดิม ๆ
- ช่วยลดปัญหาเรื่องแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเข็มแบบทั่วไป
- ติดตั้งได้รวดเร็วเพียง 30 นาทีต่อต้นและสามารถถอนออกจากชั้นดินได้ง่ายดายรวดเร็ว จึงสามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดก็ได้ เพราะมีใบเกลียวที่ช่วยยึดเกาะพื้นดินซึ่งจะช่วยเพิ่มการรับน้ำหนักให้กับฐานรากรวมไปถึงเพิ่มแรงกดในการติดตั้งและแรงถอนให้กับเสาเข็มเพื่อการเคลื่อนย้ายที่รวดเร็ว
- ใช้ทรัพยากรในการติดตั้งเพียง 2-3 คน เท่านั้น ช่วยให้สามารถควบคุมเวลา และค่าใช้จ่ายได้โดยไม่บานปลาย เพราะสามารถคำนวณจำนวนแรงงานและเวลาในการติดตั้งได้อย่างแม่นยำ
“เข็มเหล็ก” เหมาะกับงานแบบไหน
เข็มเหล็กเป็นฐานรากที่ใช้หน้าดินในการแบกรับน้ำหนัก โดยอาศัยแรงเสียดทานในการรับน้ำหนักของดินที่มาเกาะรอบตัวเสา ดังนั้นเข็มเหล็กจึงเหมาะสมและสะดวกสำหรับการก่อสร้างจำพวก โครงสร้างเบา เช่น งานต่อเติมบ้าน โรงจอดรถ ห้องเก็บของ จนไปถึงบ้านไม่เกิน 2 ชั้น
ในปัจจุบัน “เข็มเหล็ก” ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ สำหรับการก่อสร้างงานโครงสร้างเบาที่ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องขุดเจาะหน้าดิน
Source