แม้ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีแรกของ 2565 นั้น ยังมีทิศทางที่ชะลอตัวอยู่ตามภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ บวกกับสัญญาณเตือนเงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างระมัดระวังเรื่องเงินที่จะออกจากกระเป๋ามากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรก มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางดัชนีอุปทานที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก DDproperty เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 84 จุด (ลดลง 1%) จากไตรมาสก่อน แม้ผู้ประกอบการจะจัดโปรโมชันสุดเร้าใจเพื่อกระตุ้นยอดซื้อก็ตาม ที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงเป็นที่นิยม เพราะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยดัชนีบ้านเพิ่มขึ้นถึง 5% จากไตรมาสก่อน และ 13% จากปีก่อนหน้า ด้านทาวน์เฮ้าส์เพิ่ม 1% จากไตรมาสก่อน ทรงตัวจากปีก่อนหน้า

สวนทางกับคอนโดฯ ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามเทรนด์การอยู่อาศัยในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่หันมาสนใจกับโครงการแนวราบมากขึ้น ผนวกกับนักลงทุนและชาวต่างชาติหายจากตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ดัชนีราคาคอนโดฯ ลดลง 1% จากไตรมาสก่อน และลดลงถึง 10% ในรอบปี

ขอบคุณภาพจาก Koushik Pal / unsplash (https://unsplash.com/photos/r2xLJEDb9xo)

ตลาดเช่าอสังหาฯ กำลังมา

เนื่องจากความต้องการเช่ามีเพิ่มสูงอย่างเห็นได้ชัด ตอบโจทย์สถานะการเงินในช่วงนี้ เห็นได้จากดัชนีค่าเช่าที่มีแนวโน้มลดลง เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เช่าซื้อมากขึ้น โดยดัชนีค่าเช่าในกรุงเทพฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 90 จุด จาก 93 จุด หรือลดลง 3% จากไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ลดลงถึง 13% เลยทีเดียว

ตลาดเช่าทุกรูปแบบยังคงมีทิศทางเติบโต ความต้องการเช่าในครึ่งปีแรกนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 22% โดยคอนโดฯ มาเป็นอันดับ 1 ด้วยความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น 26% ตามด้วยบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% และ 10% ตามลำดับเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน สวนทางกับจำนวนอุปทานอสังหาฯ สำหรับเช่าปรับตัวลดลงอย่างมากถึง 24% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ดีของผู้ที่มีอสังหาฯ ในการปล่อยเช่าเพื่อรับรองตลาดในช่วงนี้แทนการประกาศขายที่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะกับการทำกำไรเท่าไหร่นัก

สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-โครงการเริ่มกลับมาลงทุน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น

และยังมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายที่เดินหน้าเปิดตัวโครงการหรือแผนการตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ทุ่มงบกว่า 2,200 ลบ. เปิดตัว 3 โครงการบ้านคุณภาพ, TTA KRD และ TORAY เปิดตัวโครงการ “125 สาทร” เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การลงทุนเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากโควิด-19 เริ่มไม่ส่งผลกับการใช้ชีวิตของมนุษย์แล้ว แต่ก็ยังไม่เรื่องเงินเฟ้อที่ประชาชนต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ร่วมมือกันช่วยให้เอื้อต่อการซื้อ-ขายมากขึ้น อาทิ การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ชั่วคราวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

นอกเหนือจากอสังหาฯ แล้ว ตลาดวัสดุก่อสร้างก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนี้ เพราะการก่อสร้างที่เกิดขึ้นจะช่วยให้วัสดุก่อสร้างกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งการแข่งขันกันในด้านคุณสมบัติ นวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่แน่ว่าช่วงครึ่งปีหลัง เราอาจจะเห็นโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งแนวราบและแนวสูงผุดกันเป็นดอกเห็ดอีกครั้ง ส่วนวัสดุก่อสร้างไม่แน่ใจว่าจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้น หรือการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ก็คงต้องดูกันต่อไป

 

ที่มาข้อมูลจาก
https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/จับตาอสังหา-ไตรมาส-1-ปี-2565-เช่าอสังหา-มาแรง-62139
https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2022/Pages/n3165.aspx

ภาพประกอบจาก
Joshua Rawson-Harris / unsplash (https://unsplash.com/photos/k3fmuSvQi2A)
Koushik Pal / unsplash (https://unsplash.com/photos/r2xLJEDb9xo)

Previous article3 กระบวนทัศน์เพื่อรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม จาก เบเยอร์
Next articleหลังคาแบบผีเสื้อ (Butterfly roof) กับสถานีรถไฟ: คืออะไร มีลักษณะอย่างไร และทำไมถึงเลือกใช้กัน
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ