คลังสินค้า (Warehouse) หรือที่รู้จักกันดีว่า ‘โกดัง’ มีความหมายถึงสถานที่สำหรับเก็บของหรือเก็บสินค้าจำนวนมาก และครอบคลุมถึงสถานที่จุดพักและจุดกระจายสินค้า หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วย อดีตโกดังอาจเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ค่อยน่าสนใจนัก จนต่อมาได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างเข้ามาพัฒนาจนทันสมัยกลายเป็นคลังสินค้าอย่างที่เห็นเช่นทุกวันนี้

ธุรกิจคลังสินค้าถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งยังมีการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากผลบวกในการลงทุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐ และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอีคอมเมิร์ช รวมถึงบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภคทั้งหลายที่ต่างก็ต้องการพื้นที่เพื่อกระจายสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ ให้เข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมากขึ้นและสะดวกขึ้นด้วย

จึงนำมาสู่แนวโน้มการใช้บริการธุรกิจคลังสินค้าแบบครบวงจรหรือธุรกิจคลังสินค้าพรีเมี่ยม (Premium Warehouse) ซึ่งเป็นธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าที่ออกแบบก่อสร้างมาเพื่อเอื้อต่อระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร ทั้งนี้จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2559 นี้ ธุรกิจคลังสินค้าแบบครบวงจรน่าจะเติบโตร้อยละ 9.9-12.6 หรือประมาณ 12,200-12,500 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.5 ของมูลค่าตลาดคลังสินค้าทั้งหมด ทำให้ธุรกิจนี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าลงทุนของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือหากใครเป็นเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินว่างเปล่าอยู่ในมือก็สามารถพัฒนาที่ดินให้เป็นคลังสินค้าให้เช่าขึ้นมาบ้างก็เป็นได้

16605641 - industrial warehouse with double roller doors
16605641 – industrial warehouse with double roller doors

ธุรกิจคลังสินค้านั้นก็มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้บริการ แต่แบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ คลังสินค้าสาธารณะ (Public Warehouse) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคลังสินค้าแบบเช่าเปิดที่สร้างสำเร็จเอาไว้แล้ว (Ready Built Warehouse) และคลังสินค้าเอกชน (Private Warehouse) ซึ่งจะเป็นคลังสินค้าที่เช่าโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใด อาจเป็นได้ทั้งแบบสร้างสำเร็จ (Ready Built Warehouse) หรือสร้างขึ้นตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า (Built to Suite) แต่ปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมาพิจารณาเพื่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการคลังสินค้า มักจะขึ้นอยู่กับ 1.) ทำเลที่ตั้ง 2.) ขนาดของคลังสินค้า 3.) สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐาน และ 4.) ราคาค่าบริการคลังสินค้า

โดย ‘ทำเลที่ตั้ง’ ถือเป็นหลักพื้นฐานของการจัดการคลังสินค้าเลยก็ว่าได้ อย่างเช่น การสร้างคลังสินค้าใกล้แหล่งตลาดก็จะมีประโยชน์กับกลุ่มลูกค้าผู้อุปโภคบริโภคมาก จึงเหมาะกับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการตอบสนองผู้บริโภคหรือสินค้าที่มีปริมาณการขนส่งได้ในจำนวนมาก ๆ จากแหล่งผลิตมายังคลังสินค้า หรือการสร้างคลังสินค้าใกล้แหล่งผลิตก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต เพราะเหมาะสำหรับการขนส่งวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน เพื่อเป็นการประหยัดค่าขนส่ง และที่สำคัญคือเป็นการควบคุมอายุของการเก็บวัตถุดิบให้ได้กำหนดส่งเข้าโรงงานผลิตนั่นเอง หรือการสร้างคลังสินค้าระหว่างกึ่งกลางแหล่งตลาดและแหล่งผลิต ซึ่งทำเลที่ตั้งคลังสินค้าแบบนี้เหมาะสำหรับการผลิตที่มีโรงงานหลายแห่งกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ โดยคลังสินค้าจะทำหน้าที่เป็นจุดพักและจุดกระจายสินค้าไปด้วย การเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนในการขนส่งโดยรวมเป็นหลักด้วย

ส่วน ‘ขนาดของคลังสินค้า’ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน เพราะในการเลือกคลังสินค้าก็ต้องให้เหมาะกับปริมาณการเก็บสินค้า ระดับการบริการคลังสินค้า รอบเวลาในการนำสินค้าเข้าและออก รวมถึงการวางผังและพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในคลังสินค้านั้นด้วย เช่น คลังสินค้าที่มีการบริการสูงจำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก คลังสินค้าที่มีการบริการต่ำก็ใช้พื้นที่น้อยลง หรือคลังสินค้าที่มีรอบระยะเวลาการเข้าหรือออกของสินค้านาน ๆ ครั้งจำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ส่วนคลังสินค้าที่มีรอบระยะเวลาการเข้าหรือออกสั้นจะสามารถใช้พื้นที่จัดเก็บที่น้อยลงได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ
การดำเนินงานนั่นเอง

นอกจากนี้ ‘สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐาน’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ใช้บริการเลือกคลังสินค้านั้น ๆ หากคลังสินค้ามีการเตรียมความพร้อมและเพิ่มเทคโนโลยีที่ช่วยให้การควบคุมคลังสินค้ามีระบบปฏิบัติการที่ดี หรือมีนวัตกรรมก่อสร้างเพื่อการประหยัดพลังงานมาเสริมอีกด้วยแล้ว ก็จะสามารถสร้างจุดเด่นให้แก่คลังสินค้าได้นอกเหนือจากสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วไป และยังสามารถเป็นจุดแข็งแข่งขันกับคลังสินค้าอื่น ๆ ได้ด้วย

ส่วนปัจจัยเรื่อง ‘ราคา’ นั้นจะตามมาขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งสามข้อก่อนหน้านี้ อย่างคลังสินค้าพรีเมี่ยมที่มีบริการแบบครบวงจร หรือมีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อสร้างในบริการด้วยแล้ว ย่อมเป็นที่ต้องการของลูกค้าแม้จะมีราคาที่สูงกว่าคลังสินค้าโดยทั่วไปก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจคลังสินค้าเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูงและต้องขึ้นอยู่กับธุรกิจอื่น ๆ ค่อนข้างมาก รวมทั้งยังมีการแข่งขันกันสูงอีกด้วย ดังนั้นการสร้างจุดเด่นด้วยเทคโนโลยีเฉพาะด้านและการพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างของคลังสินค้าจึงเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดผู้เช่าได้เป็นอย่างดี อาทิ การให้บริการอาคารคลังสินค้าในรูปแบบ Green
Warehouse หรือการก่อสร้างคลังสินค้าที่มีการควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ หรือการก่อสร้างด้วยนวัตกรรมระบบโครงสร้างพิเศษ เป็นต้น

DSC_5830
ตัวอย่างคลังสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Parks) ของ TPARK
Warehouse2
ตัวอย่างคลังสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Parks) ของ TPARK

ในปัจจุบันคลังสินค้ามีการพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้นในหลายรูปแบบ คลังสินค้าสีเขียว หรือ Green Warehouse เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาคลังสินค้า ซึ่งเป็นการสร้างคลังสินค้าแบบยั่งยืน (Sustainable Warehouse) ที่เป็นการผสานระหว่างการคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับผลดีในการดำเนินงานทางธุรกิจให้สมดุลกัน ทั้งยังประหยัดพลังงาน และช่วยลดต้นทุนด้วยวิธีการ Reduce, Reuse และ Recycle ในขณะเดียวกันก็มีการจัดการคลังสินค้าอย่างมีศักยภาพและได้ประสิทธิภาพอย่างดีด้วย

การพัฒนา Green Warehouse นั้นถือได้ว่าเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นอกจากลูกค้าจะได้ประโยชน์แล้ว องค์กรธุรกิจยังได้รักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกคนในสังคมได้ประโยชน์เหมือนกันทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถนำแนวคิด Green Warehouse ไปขยายต่อเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด หรือ TPARK ผู้ประกอบการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปรายใหญ่ ที่ได้พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Parks) อย่างเต็มรูปแบบขึ้น และยังได้จับมือร่วมกับ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาคลังสินค้าสีเขียวแห่งแรกของลอรีอัลในประเทศไทย โดยพื้นที่คลังสินค้าแห่งใหม่นี้ได้รับการก่อสร้างตามมาตรฐาน LEED
(Leadership in Energy and Environmental Design) การก่อสร้างออกแบบระบบพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ในอาคาร อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ในระดับ Certified ด้วย ทั้งนี้ทาง TPARK ยังมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของอาคารตั้งแต่การออกแบบที่ใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานของลอรีอัล จนกระทั่งเลือกใช้ผู้รับเหมามืออาชีพที่มีประสบการณ์ก่อสร้างอาคารประเภทนี้ โดยเน้นจุดสำคัญ อาทิ พื้นอาคารที่ต้องทนทานและมีความเรียบเหมาะสมกับการปฏิบัติงาน รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงถึง 30-40% ปริมาณการใช้น้ำลดลง 45% และการใช้น้ำหมุนเวียนของระบบภูมิทัศน์ลดลง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารพลังงานทั่วไป คาดการณ์ว่าจะนำขยะและสิ่งของที่ไม่ได้ใช้งานแล้วระหว่างการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ถึง 75% อีกทั้งระบบระบายอากาศที่มีมากเพียงพอที่จะสร้างความรู้สึกสบายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในอาคาร

และล่าสุดโครงการคลังสินค้า W16 TPARK WANGNOI 2 ตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยา ยังผ่าน ยังผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED ในระดับ SILVER ประเภท Core & Shell อีกด้วย

RBW Brochure 2014 NEW-FINAL_Page_26
สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และคลังสินค้าของ TPARK
2
สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และคลังสินค้าของ TPARK

นอกจากนี้ TPARK ยังได้มีการนำเทคโนโลยีพื้นคอนกรีตเสริมใยเหล็กแบบไร้รอยต่อ หรือ Steel Fibre Reinforced Concrete (SFRC) มาพัฒนาในการก่อสร้างพื้นอาคารคลังสินค้าในโครงการ TPARK Eastern Seaboard 3 แห่งใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับ Twintec Industrial Flooring ผู้นำด้านการก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรม
จากสหราชอาณาจักรอังกฤษ สร้างพื้นโครงการซึ่งมีพื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตร ด้วยเทคโนโลยี SFRC ซึ่งเป็นการผสมผสานคอนกรีตและเส้นใยเหล็ก จึงไม่เกิดร่อง ไม่เกิดการแตกร้าวบริเวณรอยต่อ มีความแข็งแรงกว่าพื้นคอนกรีตทั่วไป ถึงแม้พื้นจะมีความหนาเพียง 160 มิลลิเมตร และยังให้ความยืดหยุ่นในการจัดวางสินค้าได้ดี นอกจากนี้ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เหมาะสำหรับการรองรับน้ำหนักสินค้าจำนวนมากในคลังสินค้าและการเคลื่อนย้าย โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 4 วัน ซึ่งน้อยกว่าการเทพื้นคอนกรีตทั่วไปที่ต้องใช้เวลานานกว่ามาก ทำให้ช่วยประหยัดระยะเวลาในการก่อสร้างและลดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้อีกด้วย

_DSC0099

5
ตัวอย่างคลังสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Parks) ของ TPARK

จากตัวอย่างที่ยกมานั้นทำให้เราเห็นว่าคลังสินค้าในปัจจุบันได้มีการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทางด้านการประหยัดพลังงานและการก่อสร้างที่สูงขึ้น เป็น Sustainable Warehouse มากขึ้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากตามไปด้วย แต่อีกหนึ่งโซลูชั่นที่เป็นทางเลือกใหม่ของคลังสินค้าในยุคดิจิตอลก็คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ เกิดเป็น คลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ Smart Warehouse ซึ่งหมายถึงคลังสินค้าที่มีกระบวนการวางแผน ปฏิบัติ และควบคุมการเคลื่อนย้ายจัดเก็บสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการบริการโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วย

คุณลักษณะของการคลังสินค้าอัจฉริยะ ควรประกอบด้วย
1. นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยให้การจัดเก็บ และขนถ่ายสินค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
2. จัดเก็บสินค้าคงคลังให้น้อยลง และให้มีอัตราการหมุนเวียนสินค้าสูง
3. สร้างระบบปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูงขึ้น
4. ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
5. เทคโนโลยีและอุปกรณ์สิ่งอำนวยการที่มีคุณภาพสูง
6. ระบบสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ และมีการปรับปรุงระบบสื่อสารที่ครอบคลุมทั่วถึง

ตัวอย่างโซลูชั่นของคลังสินค้าอัตโนมัติ อาทิเช่น คลังสินค้าที่บริหารงานด้วยระบบ Automatic Storage and Retrieval System (ASRS) ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บและเรียกคืนวัสดุอัตโนมัติที่ใช้อุปกรณ์จัดเก็บ SRM (Storage and Retrieval Machine) และควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ ระบบ ASRS สามารถช่วยบริหารจัดการคลังสินค้าในด้านต่าง ๆ กล่าวคือ สามารถรับและจัดเก็บสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ลดระยะเวลาในการทำงานและจำนวนบุคลากรได้ โดยสามารถระบุการจัดเก็บสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม และยังช่วยป้องกันความเสียหายของสินค้า โดยการตรวจสอบขนาดของสินค้าอัตโนมัติก่อนจัดวางและช่วยให้การจัดเรียงสินค้าเป็นระเบียบมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ลดปัญหาสินค้าสูญหาย/โจรกรรม และสามารถตรวจนับสินค้าคงคลังได้อย่างแม่นยำอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้อย่างมาก

ตัวอย่างคลังสินค้าที่นำระบบ Automatic Storage and Retrieval System (ASRS) เข้ามาปฏิบัติงานในคลังสินค้า
ตัวอย่างคลังสินค้าที่นำระบบ Automatic Storage and Retrieval System (ASRS) เข้ามาปฏิบัติงานในคลังสินค้า

หรือคลังสินค้าที่บริหารงานด้วยระบบควบคุมพาหนะนำทางอัตโนมัติ AGVs (Automated guided vehicles) ซึ่งเป็นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงานของพาหนะทำงานอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกับระบบขนถ่ายอื่น ๆ เช่น สายพาน การนำทางพาหนะสามารถใช้ระบบนำทางด้วยเลเซอร์ หรือการฝังสายไฟใต้พื้น หรือฝังแม่เหล็กลงในพื้นคลังสินค้าและควบคุมการทำงานของพาหนะที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้าด้วยคอมพิวเตอร์ พาหนะเหล่านี้จะเป็นรถขนถ่ายสินค้าพลังงานไฟฟ้าไม่ใช้คนขับ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ทำงานตามคำสั่งด้วยระบบคลื่นวิทยุหรือการฝังสายใต้พื้น อุปกรณ์ควบคุมจะจับสัญญาณบนพาหนะว่ามีการเคลื่อนที่ตามกำหนดหรือไม่ สัญญาณจะถูกส่งไปยังมอเตอร์พวงมาลัยเพื่อบังคับทิศทางให้สามารถไปหยิบสินค้าจากสถานที่จัดเก็บไปส่งยังสถานที่ที่กำหนด

นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการบ่งบอกและติดตามสินค้า ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของคลังสินค้าอัจฉริยะ ซึ่งคอยควบคุมการไหลของสินค้าตั้งแต่กระบวนการรับสินค้าเข้าจนสิ้นสุดกระบวนการที่มีการนำส่งสินค้าไปยังลูกค้า ทั้งนี้เทคโนโลยีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบความถี่วิทยุ (Radio frequency identification : RFID) ซึ่งมี
การพัฒนาใช้ในระบบการจัดการคลังสินค้าอย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การติดตามฉลากวัตถุด้วยอุปกรณ์ที่มีชิพความจำอยู่ ซึ่งเป็นชิพมีคุณลักษณะพิเศษในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มากขึ้น สามารถอ่านข้อมูลได้พร้อมกันตามที่ต้องการ ข้อมูลที่เป็นชิพจะถูกติดอยู่กับวัตถุที่ใช้ในการขนถ่ายตามความต้องการในการติดตั้ง ชิพจะถูก
บรรจุอยู่ใน Tags ที่มีลักษณะเป็นแผ่นมีขนาดเล็ก สามารถอ่านข้อมูลได้ด้วยเครื่องอ่านสัญญาณที่ติดตั้งไว้เฉพาะตามความถี่ของคลื่นสัญญาณวิทยุที่กำหนดไว้ ทำให้สะดวกในการจัดการบริหารคลังสินค้าได้ดี

ซึ่งในปัจจุบันความท้าทายอย่างหนึ่งที่แต่ละธุรกิจโลจิสติกส์เผชิญอยู่คงจะหนีไม่พ้นการที่จะต้องตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันในตลาดและเทรนด์ของอุตสาหกรรมภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อย่างเช่น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนเงิน เป็นต้น ตลอดจนการขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางและมืออาชีพ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น การขาดแคลนพนักงานขับรถ และพนักงานขนถ่ายสินค้าสำหรับบริหารจัดการในคลังสินค้า ซึ่งต้องมีทักษะและความเข้าใจในลักษณะและข้อจำกัดของสินค้าที่จัดเก็บในคลังเป็นอย่างดี ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้โซลูชั่นคลังสินค้าอัจฉริยะจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้การลงทุนอาจสูงแต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุนเช่นกัน

 

นิตยสาร Builder Vol.33 July 2016

Previous articleE-Newsletter Vol.3
Next article‘San Shan Bridge’ สะพานสุดเก๋ ไอเดียจากสัญลักษณ์โอลิมปิกฤดูหนาว 2022
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร