ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วยความร่วมมือกับ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมระดับเยาวชนจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาผลงานนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งประดิษฐ์ที่น้อง ๆ สร้างขึ้นจะเป็นนวัตกรรมที่มองปัญหาภายในชุมชนเป็นโจทย์สร้างนวัตกรรมต้นแบบสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนในอนาคต พบกับนวัตกรรมจำนวน 2 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก โดยนักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้แก่ นวัตกรรมเครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน (Nano Ocean bin) และนวัตกรรมเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ (Zero food waste) เตรียมความพร้อมประกวดรอบชิงชนะเลิศ 4 – 6 ก.ย. นี้
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก และโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก ซึ่งโครงการหลังจะเป็นการประกวดนวัตกรรมระดับเยาวชนจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาผลงานนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถต่อยอดเป็นผลงานต้นแบบสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ทั้งในด้านการเป็นวิทยากร นักวิจัยพี่เลี้ยง คณะกรรมการ และทีมที่ปรึกษา เพื่อการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชน โดยมีโครงการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากเด็ก ๆ เข้ารอบมา 10 ทีม (สายสามัญ 5 ทีม สายอาชีพ 5 ทีม) ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจาก 200 โครงการของเยาวชนทั่วประเทศที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้มีโอกาสคิดค้น สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดผลงาน ด้วยการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยี นำไปสู่ทักษะในการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์และการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมของครูและนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงช่วยสร้างความตระหนักและเกิดการกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้มีความรู้เรื่องการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องอีกด้วยคุณเซฟดี ศรีเมือง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสำคัญ เมื่อทางโตโยต้า และนาโนเทค สวทช. เปิดเวทีให้เยาวชนสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เราในฐานะที่เป็นสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากรคุณภาพรุ่นใหม่ พร้อมสนับสนุนทีมเยาวชนนักประดิษฐ์ที่มองเห็นปัญหาและความต้องการในชุมชน และนำมาเป็นโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรม โดยมี 2 ผลงานจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่เตรียมส่งต่อเพื่อทดลองใช้ประโยชน์ในชุมชน ได้แก่ นวัตกรรม “เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน (Nano Ocean Bin)” คือ ทุ่นลอยระดับผิวน้ำ ซึ่งสามารถกักเก็บขยะลอย เช่นพลาสติก กล่องโฟม เป็นต้น โดยใช้สายพานดึงเศษขยะเข้ามาสู่ถังขยะ และที่สำคัญคือมีการนำเทคโนโลยีนาโนมาช่วย คือ การเคลือบผิวด้วยอนุภาคนาโน (Nanoparticle Surface Coating) ของโซล่าเซลล์และวัสดุ เพื่อป้องกันสนิมและมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น และนวัตกรรม “เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ (Zero Food Waste)” เป็นถังขยะเพื่อช่วยในการกำจัดขยะเศษอาหารในชุมชน โดยออกแบบให้เพิ่มระบบผลิตฉีดน้ำผสม EM และจุลินทรีย์ และนำขยะเศษอาหารไปผสมเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
ด้านเยาวชนผู้พัฒนา นายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ นักศึกษาชั้น ปวส.2 วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เล่าว่า เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนำโน ได้ออกแบบเป็นทุ่นลอยระดับผิวน้ำ ซึ่งสามารถกักเก็บขยะลอย เช่น พลาสติก กล่องโฟมได้ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะทำให้ท้องทะเลมีความสะอาด ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของสัตว์ทะเล และที่สำคัญส่งผลคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหารคือ มนุษย์ ได้อย่างยั่งยืนขณะที่ นายพชรกร บาลเมือง และนายสรวิก สิกธรรม นักศึกษาชั้น ปวส.2 วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เล่าว่า เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารและผลิตเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ เป็นการรวมจุดเด่นของวิธีกำจัดขยะเศษอาหารในต่างประเทศกับภูมิปัญญาของไทย โดยการออกแบบประกอบด้วยเครื่องย่อยขยะเศษอาหาร ที่เพิ่มระบบผลิตฉีดน้ำผสม EM และจุลินทรีย์ และชุดนำขยะเศษอาหารไปผสมเป็นปุ๋ย โดยเครื่องสามารถประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการกำจัดขยะในครัวเรือนและขยะเศษอาหารที่มีปริมาณมากและส่งกลิ่นเหม็นได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ดร.ภาวดี กล่าวต่อว่า นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของเยาวชนทั้ง 2 ทีมจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เป็นตัวอย่างความก้าวหน้าและศักยภาพของเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์ พัฒนา และส่งต่อสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ และทุกผลงานทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้ร่วมต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันเพื่อเข้านำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2563 ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต่อไป โดยทีมผู้ชนะเลิศในโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก และนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงาน เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ จากญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ต่อยอดผลงานของตน โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ระดับจังหวัด ขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป