นับว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงอย่างยิ่ง หลายคนถึงกับส่ายหัวเมื่อเข้าฤดูฝน และต้องเตรียมเวลาเพื่อไว้มาก ๆ สำหรับการเดินทางฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงเวลาเลิกงานเพื่อกลับไปหาครอบครัว หรือเตียงนุ่ม ๆ ที่บ้าน เพราะเมื่อไหร่ที่ฝนมา น้ำท่วมแน่นอน! บางที่ถึงเข่า บางที่ต้องยกข้าวยกของหนีน้ำ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาระดับจังหวัดเบอร์แรก ๆ ที่คนกรุงไม่ชอบใจ ตกไม่กี่นาทีก็ท่วมเสียแล้ว
จากบทวิเคราะห์ของ Thai PBS เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา กทม. ใช้งบประมาณไปกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมรวมกันมากกว่า 20,000 ล้านบาท คิดเป็นโครงการประมาณ 1,300 โครงการ แค่ในปี พ.ศ. 2561 ปีเดียวฟันงบไปกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้ผล
ข้อมูลจากสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ให้ข้อมูลว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่จะทรุดตัวลงปีละ 2 ซม. และในปี พ.ศ. 2573 หากทาง กทม. ไม่มีการแก้ไขเพื่อหยุดยั้งการทรุดตัวของผืนดิน 40% ของกรุงเทพฯ จะจมอยู่ในใต้ทะเล
ปัญหาหลัก ๆ ที่ไจก้าระบุคือ “ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก จนทำให้โครงการแก้ไขปัญหานี้ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง”
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2485 ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กินเวลาประมาณเดือนเศษ ถนนและตรอกซอยย่านในเมืองมีสภาพไม่ต่างจากลำคลอง ผู้คนที่ต้องเดินเท้าหรือหาเรือมาเป็นยานพาหนะแทนรถ ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เริ่มเห็นภาพชัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. 2518 เกิดน้ำท่วม เนื่องจากพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ
พ.ศ. 2521 พายุ 2 ลูก คือ “เบส” และ “คิท” พาดผ่านขณะเดียวกันมีปริมาณน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมากทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออก และ เข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2523 ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ2.00 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วง 4 วันทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
พ.ศ. 2526 น้ำท่วมในปีนี้มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือ และภาคกลางในช่วงเดือนกันยายน- ตุลาคมประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม
พ.ศ. 2529 เกิดฝนตกหนักมาก และตกติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากได้มีพายุ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในกรุงเทพฯ
พ.ศ. 2533 ในเดือนตุลาคม พายุโซนร้อน “อีรา” และ “โลล่า” พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2537 เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝน ได้มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกได้ว่าเป็น “ฝนพันปี” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วกรุงเทพฯ
พ.ศ. 2538 มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนัก ในช่วงเดือนสิงหาคม- ตุลาคม เนื่องจากพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50-100 ซม.
พ.ศ. 2539 มีน้ำท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพียงน้ำท่วมขังในเวลาไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ
เป็นเวลาหลายสิบปีที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและไม่สามารถแก้ไขได้ ผ่านมือผู้ว่าฯ กทม. ไปหลายต่อหลายคน ก็ไม่สามารถสลัดปัญหานี้ให้ขาดได้ BuilderNews จึงขอหยิบยกเอาวาทะเด็ด ๆ จากผู้ว่าฯ กทม. คนก่อน ๆ มาเล่าสู่กันฟัง
จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ 2 สมัย คนที่ 10 (พ.ศ. 2528-2535) – ในปี พ.ศ. 2529 เกิดฝนตกอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง จำลองได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของน้ำท่วมว่าเนื่องจากฝนตกหนักที่สุดในรอบหนึ่งพันปี จึงเป็นที่มาของวาทะสุดคลาสสิก “ฝนพันปี”
สมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 13 (พ.ศ. 2543-2547) – ผู้ว่าฯ คนแรกที่ได้คะแนนเกิน 1 ล้านเสียงต้องมาเผชิญปัญหาซ้ำซากอย่างน้ำท่วม แต่วิธีการปฏิบัติอาจไม่เหมือนคนอื่น เพราะแกไม่ลุยน้ำท่วมเลย เน้นสั่งการและบริหารให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปดูแล “น้ำท่วมทำไมผู้ว่าฯ ต้องลงมาดู ถ้ามาดูแล้วฝนจะหยุดตก และน้ำจะลดหรือ” เท่านั้นแหละ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งประเทศ ขนาดคนที่เชียร์แกยังออกมาด่าเลย
สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ 2 สมัย คนที่ 15 (พ.ศ. 2552-2559) – เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ด้วยนโยบายจัดการน้ำท่วมที่ดูดีอย่าง “สร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ สร้างสถานีสูบน้ำ การปรับปรุงท่อระบายน้ำ”
ในปี พ.ศ. 2554 อุโมงค์ยักษ์ของสุขุมพันธุ์ที่สร้างด้วยงบกว่า 16,000 ล้านบาท ก็ไม่สามารถต้านทานไหว นับเป็นครั้งที่หนักที่สุดครั้งหนึ่ง ผ่านไปอีก 4 ปี ในปี พ.ศ. 2558 พายุซัดกระหน่ำทำให้กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมขังหลายจุดส่งผลต่อคนกรุงอย่างมาก ใช้ชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญ
พอคนไปบอกว่าน้ำท่วมขังแก้ไขให้ที แกก็ตอบมาว่า “ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกน้ำรอระบาย เพราะถ้าน้ำท่วมต้องเป็นเหมือนปี 2554” คนกรุงก็เดือดดาลเลย วิจารณ์อย่างหนักจนหลุดวาทะสุดแจ๋วขึ้นมา “ประเทศเราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ” เท่านี้ก็เรียบร้อยดีครับ
อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนที่ 16 (พ.ศ. 2559-2565) – ขานี้ก็โดนไม่ใช่น้อยกับปัญหาเรื่องเดิม ๆ ก็เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ฝนตกฟ้าถล่มหนักจนน้ำท่วมแถว วงเวียนบางเขน สูงราว ๆ 20 ซม. แกก็ลงพื้นที่เสร็จก็ออกมาบอกว่า “น้ำท่วมบางเขนเพราะกุญแจหาย” แต่มารู้ทีหลังว่ากุญแจอยู่กับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง water bank ซึ่งยังไม่ได้ส่งมอบงานให้กับ กทม. และนำกุญแจติดไปด้วย จนไม่อาจตามตัวมาได้ทันสถานการณ์ อีกซีนหนึ่งที่ถือว่าเด็ด (ไม่แพ้สุขุมพันธุ์) คือ “ผมไม่อยากให้เรียกน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำมาก” สุดไม่แพ้กัน
กรุงเทพฯ หนีไม่พ้นทุกยุคทุกสมัย จริง ๆ ถ้าไล่ดูไทม์ไลน์ก็ท่วมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2328 นับปีเล่น ๆ ก็ประมาณ 200 กว่าปี การเรียนรู้เหตุการณ์ในอดีตบางอย่างอาจจะเข้ามาแก้ไขปัจจุบันหรืออนาคตได้ และวาทะเด็ด ๆ เหล่านี้ก็เป็นการสะท้อนตัวตน สะท้อนทัศนคติต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของผู้ว่าฯ อย่างแท้จริง เราก็หวังให้ผู้ว่าฯ คนใหม่อย่าง “ชัชชาติ” เข้ามาจัดการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังและแก้ไขอย่างยั่งยืนคนกรุงจะได้หมดทุกข์กับเรื่องน้ำท่วมเสียที…
Source
https://news.thaipbs.or.th/content/315680
https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_87006
https://waymagazine.org/bkk-governor-flood-policy/