ทรงวุฒิ ทองทั่ว Creative Director แบรนด์ Renim Project ภายใต้บริษัท บางกอก แอพพาเรล จำกัด ดีไซเนอร์คนไทยผู้นำแนวคิด ‘รีนิม โปรเจค’ (Renim Project) สร้างสรรค์แรงบันดาลใจจากขยะ ถุงปูนและคนงานก่อสร้าง ผู้ที่นำยีนส์เก่า เสื้อผ้ามือสอง ขยะที่คนไม่เห็นค่า นำมาชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ผ่าน กระบวนความคิดสร้างสรรค์ จนมาเป็นแฟชั่นเฉพาะสำหรับ “คนที่เห็นคุณค่าของความแตกต่าง”

ทำไมต้องเป็น Renim Project

ทรงวุฒิขยายความว่า “Renim มาจาก Denim คือยีนส์ ที่มาพร้อมกับแนวคิดที่ต้องการสร้างความยั่งยืน ให้กับวงการแฟชั่น ด้วยการนำเอาหลักของการ Remade – Reduce – และ Redesign มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ที่ดูสนุก มีพลัง และเป็นผลงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพราะตระหนักดีว่าโลกเรากำลังถูกทำลาย เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อรักษาสมดุลย์ และมันต้องเริ่มจากตัวเราก่อน”

10 ปีที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากมาย เมื่องาน Mass Fashion เข้ามามีบทบาท เกิดการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำขึ้นมาอย่างมาก แฟชั่นมาเร็วไปเร็ว การบริโภคผ่านทาง online platform เร่งขายของ เร่งการผลิตทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง มีการย้อมสีมีการใช้วัสดุที่คุณภาพไม่ดีโดยไม่ได้คำนึงถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตมากมายนั้น สินค้าบางอย่างเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ มันจึงเกิดขยะมากขึ้น

“เราคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้มันเริ่มไม่ใช่ ทุนนิยมกำลังทำลายอะไรบางอย่างที่สวยงามไป ถึงมองกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าการเอาของที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุด เราไม่อยากทำของใหม่ ถึงแม้ว่าการสร้างสินค้าใหม่จากวัสดุเก่าจะต้องมีกระบวนการที่มากมาย ใช้เวลา และซับซ้อนกว่าเดิม แต่ผลที่ได้มันคือ “คุณค่า” ที่มาพร้อมกับ “ความงาม” ของสินค้า เราใช้กางเกงยีนส์ใช้แล้ว 4 ตัว แกะออกมาแล้วทำใหม่ได้ 1 ตัว เป็นงานที่มีกระบวนการและใช้เวลาอย่างมากแต่เราก็ภูมิใจกับผลงานที่ได้ เพราะมันไม่เกิดของเสียหรือขยะที่ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

เราจับกลุ่มนิช กลุ่มลูกค้าที่สนใจในเรื่องของการรักษ์โลก คนรุ่นใหม่ที่มองหาการมีส่วนร่วมในการดูแลสภาพแวดล้อม คนที่กำลังมองหาความแตกต่าง คนที่ต้องการอะไรที่ไม่เหมือนใคร บางคนมองหาของชิ้นเดียวที่มีในโลกและไม่ซ้ำกับใคร มันคือผลงานการออกแบบของเรา” ทรงวุฒิขยายความ

ทรงวุฒิ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “สิ่งที่นักออกแบบควรคำนึงถึงในการสร้างสรรค์ผลงาน คือการสร้างสไตล์ หรือ แบรนด์ให้ชัดเจน ทำอย่างไรให้เกิดคุณค่าของผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า สร้างของดีมีคุณภาพ และควรต้องสื่อสารอย่างไรให้ถูกช่องทางตรงกลุ่มเป้าหมาย”

เห็นได้จากผลงานล่าสุดกับคอลเลคชั่น ยีนส์เก่า เสื้อผ้ามือสอง ขยะที่คนไม่เห็นค่าผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์ ที่ประสบความสำเร็จจนมาเดินท้าสายตากลางรันเวย์ในสัปดาห์แฟชั่นลอสแองเจลิส (LA Fashion Week 2019) งานสัปดาห์แฟชั่นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย โดย Renim Project เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทย จากดีไซเนอร์ทั้งหมด 4 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงแฟชั่น

สำหรับโครงการ DEmark Award 2020 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในปีนี้ จัดขึนภายใต้คอนเซปต์ Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก มันเหมาะมากตรงกับแนวโน้มของการดูแลรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ ทรงวุฒิมีความเห็นว่า “เราควรสร้าง Identity ของการออกแบบของประเทศไทยเราให้ชัดเจน ให้นักออกแบบมองภาพรวมสามารถใช้ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ได้โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมด้วย สำหรับผลกระทบด้านการผลิตและการตลาด ถ้า Designer จับมือกับ Factory ได้ ก็จะช่วยทำให้ต้นทุนผลิตถูกลง”

“คนทีเข้าใจก็จะรู้ว่า เรากำลังทำลายธรรมชาติ และธรรมชาติก็กำลังจะเอาคืน เราต้องช่วยกันรักษาและพยายามให้คนใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้น้อยลง ไม่ตัดไม้ ไม่ต้องปลูกฝ้ายเพิ่มขึ้น ใช้ของเก่าที่มีอยู่สร้างสรรค์ให้มันสนุก มองไปรอบๆ ตัวเรา มันยังมีอะไรให้เราสร้างสรรค์ออกมาได้อีกเยอะเลย โดยไม่ต้องไปรบกวนธรรมชาติ”

Previous article5,110 ชั่วโมงกับกระดาษแข็งรีไซเคิล 2,000 ปอนด์
สู่คอลเลกชันเก้าอี้กระดาษเพื่อความยั่งยืน
Next articlePart I: อนาคตหลัง COVID-19 เมื่อสถาปัตยกรรมต้องปรับตัวอีกครั้ง
หลังการระบาดครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ