มนุษย์ทุกคนต่างมีวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่เปลี่ยนผ่าน แต่วัยวุฒิที่ทรงคุณค่ามักต้องมาพร้อมคุณวุฒิและประสบการณ์ ซึ่งเสมือนสินทรัพย์ล้ำราคาที่ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องบ่มเพาะ การเป็นส่วนหนึ่งในแวดวงสถาปนิกไทยมากว่า 32 ปื ของคุณประภากร วทานยกุล สถาปนิก และกรรมการผู้จัดการบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด จึงไม่ใช่เพียงระยะเวลาของการทำงาน แต่หมายถึง ‘สายตา’ ที่มองวงการนี้อย่างแตกฉานรอบด้าน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ประสบการณ์ในการทำงานอย่างดีเยี่ยม
“ผมว่าในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา สถาปนิกได้รับการยอมรับมากขึ้น จากเมื่ออดีตในสายวิชาชีพนี้อาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับหรือให้ความสำคัญมากเหมือนอย่างในทุกวันนี้ สมัยก่อนเวลาจะก่อสร้าง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคนก่อสร้างมากกว่าจะมองเห็นคนออกแบบ ในยุคก่อนโครงการใหญ่ ๆ จะยังไม่ค่อยเกิดขึ้น การก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นการก่อสร้างบ้าน ซึ่งลูกค้าเองก็มักจะมีแบบในใจหรือไม่ก็ขับรถพาผู้รับเหมาไปดูว่าชอบแบบไหน อยากได้บ้านแบบไหน แล้วก็ให้ผู้รับเหมาเขียนแบบด้วยมือให้ดู หลายครั้งในรายละเอียดก็คุยกันแต่ปากเปล่า ซึ่งในปัจจุบันเราได้ผ่านยุคนั้นไปแล้ว จนมาถึงยุคที่ผู้คนมีความเข้าใจในการประกอบวิชาชีพสถาปนิกชัดเจนขึ้น นอกจากสถาปัตยกรรมหลักที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตัวอาคารแล้ว ก็ยังมีสาขาอื่น ๆ แยกย่อยลงไปอีก ทั้งงานออกแบบตกแต่งภายใน งานแลนด์สเคป งานไลท์ติ้งดีไซน์ งานกราฟิกดีไซน์ ไปจนถึงงานออกแบบธีมดีไซน์ ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา วงการการออกแบบได้ถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น และเกิดงานคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันการทำงานมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากอดีตพอสมควร ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องของความยากหรือความง่าย หากแต่มองในเรื่องของความก้าวหน้าของวัสดุและเทคโนโลยีก็อาจเรียกได้ว่าสามารถทำงานง่ายขึ้น แต่ถ้าในมุมมองของการคิดแบบก็คงพูดไม่ได้ว่าปัจจุบันการทำงานนั้นง่ายขึ้น เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ยุคไหน การคิดแบบที่ดี ให้มีสาระ รวมถึงมีเหตุผล ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย คนออกแบบจะต้องใส่ใจ และก็ไม่ได้หมายความว่างานทุกงานจะดีหรือถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ในงานที่เราตั้งใจออกแบบที่สุดแล้วก็อาจจะมีข้อบกพร่องได้ คือบกพร่องโดยวิสัยของการออกแบบ เช่น อาจจะต้องปรับแก้ไขในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความลงตัวมากยิ่งขึ้น แม้แต่สถาปนิกระดับโลกอย่าง แฟรงค์ เกอร์รี่ ที่เวลาทำการออกแบบแต่ละชิ้นยังต้องทำแบบจำลองสามมิติมากมาย เพื่อปรับแก้จนเกิดเป็นความลงตัวที่สุด ซึ่งปัจจุบันสถาปนิกทั่วไป ก็เริ่มทำงานกันในลักษณะนี้ หากถามว่ารูปแบบการทำงานแบบนี้ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นไหม ก็ต้องบอกว่ามีส่วนทำให้เราสนุกกับการออกแบบขึ้นมากกว่า ส่วนความยากนั้นก็ยากเท่าเดิม นั่นหมายถึง ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ดีย่อมไม่เคยง่าย และสถาปัตยกรรมที่ดีย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จะเกิดขึ้น อาจมี 1 ใน 100 ที่บังเอิญออกแบบแล้วออกมาดี แต่ส่วนใหญ่แล้วงานสถาปัตยกรรมที่ดีจะออกมาจากความตั้งใจ ซึ่งการทำงานด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ จะทำให้เราทราบว่าสิ่งไหนที่ควรหรือไม่ควรออกแบบในงานสถาปัตยกรรม สิ่งไหนที่ทำแล้วเกิดหรือไม่เกิดประโยชน์ในงานสถาปัตยกรรม เพราะสถาปัตยกรรมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสนองตอบกับผู้ออกแบบ แต่ทำมาเพื่อทุกคนที่มีชีวิต หรือสิ่งที่มีชีวิตมาใช้งาน แต่หากพูดถึงความสวยงามในเชิงสถาปัตยกรรมย่อมมีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น สวยงามด้วยสัดส่วน สวยงามด้วยสีสัน รวมถึงสวยงามด้วยการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่จะทำให้งานสถาปัตยกรรมแตกต่างจากสิ่งก่อสร้าง”
มองปัจจุบันด้วยสายตาแห่งความเข้าใจ
การมีโอกาสร่วมงานกับสถาปนิกหลากหลายวัย ทำให้คุณประภากรได้พบแนวคิดการทำงานที่หลากหลายเช่นกัน และแม้จะเป็นรุ่นพี่ที่รุ่นน้องให้ความเคารพและเกรงใจ แต่ในแง่ของการทำงานแล้วคุณประภากรเองก็ชื่นชมคนรุ่นใหม่และเคารพในความสามารถของทุกคนเช่นกัน
“ทุกวันนี้น้อง ๆ หลายคนเข้าใจว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างเท่ากับการสร้างสถาปัตยกรรม ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะสถาปัตยกรรมนั้นมีองค์ประกอบมากมายในตัวเอง ทั้งองค์ประกอบในเชิงศิลป์ หรือสุนทรียะของความสวยงามในสัดส่วนที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างการมองสุภาพสตรีที่สวย เราจะมองเป็น ‘Universal’ คำว่า Universal ยกตัวอย่างได้จากภาพของการประกวดนางงามจักรวาล ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะนางงาม ไม่ว่าจะมาจากชาติไหน ภาษาไหน ผิวสีใด เมื่อมีความสวยที่เป็น Universal แม้กรรมการจากชาติไหนตัดสินก็จะต้องมองผู้หญิงคนนั้นว่าสวย ในงานสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน การออกแบบงานที่เป็น Universal นั่นคือต้องสวยงามในส่วนองค์ประกอบ สัดส่วน สีสัน การเลือกใช้วัสดุ แล้วก็เรื่องของการใช้งานซึ่งเป็นศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ผมมักจะบอกกับน้อง ๆ ว่าเมื่อเราออกแบบสิ่งก่อสร้างแล้วทึกทักเอาว่ามันเป็นสถาปัตยกรรม ก็อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เพราะสิ่งก่อสร้างในบ้างครั้งจะไม่มีองค์ประกอบดังที่กล่าวมา ดังนั้นในแง่ของการทำงานออกแบบจึงต้องแยกสิ่งนี้ให้ออก สำคัญตรงนี้ว่าต้องแยกให้ออกว่า Building กับ Architecture ต่างกันอย่างไร และสิ่งนั้นมีสุนทรียะหล่อเลี้ยงทางใจอย่างไร
โดยส่วนตัวแล้วผมให้ความเคารพกับน้อง ๆ ทุกคน หลายครั้งพบว่าคนที่ประกอบวิชาชีพสถาปนิกมาจนอาวุโสแล้วก็มักคิดว่า ตัวเองมีความคิดที่เฉียบคมหรือชาญฉลาดมากกว่าน้อง ๆ ที่เพิ่งเข้ามาในวงการ ซึ่งผมว่าเรื่องนี้ไม่จริงเสมอไป เพียงแต่สิ่งที่จะทำให้คนสองรุ่นแตกต่างกัน เป็นเรื่องของประสบการณ์ และประสบการณ์เท่านั้นที่จะบอกว่าคุณอยู่ในวงการนั้น ๆ มานาน รวมถึงทราบว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควรทำ หรือสิ่งไหนที่ควรทำในลำดับและขั้นตอนไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างจากน้อง ๆ ที่เดินทางตามหลังมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้อง ๆ จบใหม่ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว แต่ถ้าถามว่าในเรื่องของแนวความคิดหรือไอเดียการสร้างสรรค์ต่างกันไหม ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่ดูจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่ดีกว่าคนที่เดินมาก่อนก็เป็นได้ เหตุนี้ถึงได้มีคำที่ว่า ‘ตกยุค’ ในทุกสาขา ดังนั้นเราจึงไม่สามารถดูถูกคนรุ่นใหม่ได้เลย แต่หากถามผมว่าในวัย 62 ปี ผมมีจุดแข็งอะไรหรือมีความสามารถอะไร ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่ผมสามารถมองเห็นได้มากกว่าว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรออกแบบ ในฐานะที่มีประสบการณ์และเคยผ่านมาก่อนก็เท่านั้นเอง นี่คือข้อแตกต่างระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าใคร และเมื่อสามารถเอาสองสิ่งนี้มาผสานเข้าด้วยกันได้ก็จะเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งการทำงานของบริษัท สถาปนิก 49 ก็ดำเนินไปในแนวทางแบบนี้ นั่นคือการผสมผสานความคิดของคนรุ่นใหม่ กับประสบการณ์ของผู้ที่อาวุโสกว่า เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันก็จะได้งานออกแบบที่ลดทอนความผิดพลาดไปได้เยอะ และได้งานที่สมบูรณ์ในระดับที่เราพึงพอใจ”
ทุกผลงานคือความทรงจำ
สำหรับคุณประภากรแล้ว ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 32 ปีที่ผ่านมา ผลงานการออกแบบทุกโครงการล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่อยู่ในความทรงจำทั้งสิ้น ด้วยว่าในการทำงานแต่ละครั้งหรือแต่ละโครงการ ก็ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวในแบบของตัวเองในแต่ละแง่มุม
“ในบริษัทเราจะมองสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนมากกว่าสถาปัตยกรรมที่เป็นยุค ซึ่งการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนก็จะต้องมีองค์ประกอบที่ถูกต้องในหลายเรื่อง ทั้งความสวยงามและสัดส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานที่สมบูรณ์แบบ ในแง่ของการทำงาน โดยส่วนตัวของผม ทุกโครงการล้วนแล้วแต่อยู่ในความทรงจำ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ชอบและไม่ถูกใจ หรือบางโครงการก็ชอบบางมุมมาก แต่ก็มีแอบไม่ชอบในบางมุมเช่นกัน ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะเป็นแบบนั้น ถ้าเกิดบอกว่าชอบทั้งตึกนี่ผมว่าไม่จริงหรอก ถ้าถามว่าผมชอบโครงการไหนบ้าง ตัวผมเองชอบโครงการที่ไม่ได้ใหญ่ หรือสร้างชื่อเสียงอะไรมากมาย ตัวอย่างเช่นบ้านผมเองผมก็ชอบ ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรแต่ผมใส่ชีวิตที่เป็นชีวิตผมลงไป สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามบอกน้อง ๆ ว่าเวลาที่จะออกแบบงานสถาปัตยกรรม ถ้าเราลองไปใช้ชีวิตในแบบคนที่เขาจะใช้งาน เราจะออกแบบได้ดีกว่า ก็เหมือนที่ผมออกแบบบ้านตัวเอง ผมว่าเราก็จะทำได้ดี รู้สึกชอบและสามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด ตรงกันข้ามเมื่อคุณออกแบบงานให้ลูกค้า ถ้าคุณไม่ได้ใส่รองเท้าลูกค้า แต่ใส่รองเท้าของตัวเองไปออกแบบ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ในบางทีลูกค้าเองก็อาจเกรงใจ เพราะคุณถูกอุปโลกว่าเป็นมาสเตอร์ ลูกค้าบางคนก็ไม่กล้าขัดขวาง หรือลูกค้าบางคนก็ไม่ได้มีนิยามอะไร แต่พอออกแบบมาจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ตอบโจทย์เขาซึ่งการที่ผมชอบโครงการบ้านของตัวเอง ก็เพราะว่าเราออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่มีรายละเอียด มีสัดส่วน ใส่ความคิดที่เป็นตัวเองลงไป ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นตัวเรา ผมชอบงานเหล็กมากกว่างานคอนกรีต และเลือกใช้คอนกรีตบางประเภท บ้านผมจึงเป็นงานออกแบบที่ผมชอบมาก
งานออกแบบของบริษัทก็มีหลาย ๆ โครงการที่เป็นงานออกแบบที่ผมชอบ อย่างเช่น งานอาคารมหิดลสิทธาคาร (มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม) ก็เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นงานที่ผมหรือผู้ออกแบบมีความรักงานนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าของอาคาร หรืออาจจะรักมากกว่าเจ้าของก็ได้ ไม่อยากให้ใครมาปรับมาแก้ไขให้สถาปัตยกรรมมันเสียไป เหตุผลที่ผมชอบมหิดลสิทธาคารเพราะสามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของได้ในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ ความเป็นเอกลักษณ์เป็นตัวตนของมหาวิทยาลัย และความเป็นไทย ซึ่งแน่นอนว่าอาคารแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทย โครงสร้างชัดเจน นอกจากนี้ความยากของการทำอาคารนี้ก็เป็นความท้าทาย ความยากคือการออกแบบหอประชุมในลักษณะนี้ด้วยงบประมาณที่จำกัด ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ความยากอยู่ที่เราต้องทำงานให้อยู่ในงบประมาณ แล้วต้องตอบโจทย์ตามความต้องการของเจ้าของด้วย แม้โดยส่วนตัวผมไม่ได้พอใจการออกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมพอใจกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอย่างไรเสียสุดท้ายกับผลงานที่สำเร็จก็เป็นงานที่น่าภาคภูมิใจและกล่าวได้ว่ามหิดลสิทธาคารเป็นหอประชุมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยเลยก็ว่าได้”
แม้จะเอ่ยในทีเล่นทีจริงว่า วันนี้อยากมีเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ แต่สถาปนิกและผู้บริหารท่านนี้ก็ยังมีไฟสำหรับการทำงานในฐานะนักออกแบบทุกวัน ส่วนหนึ่งเพราะในเส้นทางที่เลือกนี้เป็นเส้นทางที่ ‘ใช่’ พลังในการทำงานจึงก่อเกิดได้ทุกวัน
“โดยส่วนตัวผมจะบอกน้อง ๆ ตลอดมาว่าผมทำงานหนัก ในชีวิตผมทำงานหนักจริงเพราะผมเชื่อว่าไม่มีทางที่เราทำงานเบาแล้วประสบความสำเร็จ บางคนอยากทำงานเบา ๆ แล้วประสบความสำเร็จได้ ผมว่าโอกาสอย่างนั้นไม่น่าจะมี อย่างที่ผมกล่าวแต่ต้นแล้วว่า ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีนั้น โอกาสในความบังเอิญแทบจะไม่มีเลย ผมทำงานหนักมาตั้งแต่เรียนจบ แล้วก็อยู่ในสายวิชาชีพนี้มาตลอด บางครั้งต้องรับผิดชอบหนักมากจนหลายครั้งน้ำตาไหลและเคยคิดที่เกือบจะหยุดทำงานเหมือนกัน แต่ก็ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง จนตอนนี้อายุก็ 62 ปีแล้ว แต่ผมก็ยังชอบทำงานอยู่ เพราะการทำงานทำให้มีความสุข ผมเลยสอนน้อง ๆ ว่าถ้าจะทำงานสายวิชาชีพนี้ก็ต้องทำเพราะชอบแล้วจะมีความสุข ถ้าทำแล้วทุกข์ก็เปลี่ยนอาชีพไปเลยดีกว่า ความสุขจากการทำงานน่าจะมีค่ามากกว่าเงินที่ได้รับ หลักการในการทำงานอีกอย่างหนึ่งที่เรายึดถือมาตลอดคือ เราต้องไม่คดโกง การเสียเงินเสียทองให้ได้มาซึ่งโครงการไม่ใช่แนวทางของเรา เราไม่มีความปรารถนาแบบนั้น ‘จน’ ดีกว่า ‘รวย’ ด้วยการโกงมา เพราะสุดท้ายแล้วความสุขในการทำงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญ”
นิตยสาร Builder Vol.33 JULY 2016