เป็นที่น่ายินดีสำหรับโครงการประกวด ระดับนานาชาติ “ การออกแบบชุมชนริมน้ำ โตนเลสาบ” ณ ประเทศกัมพูชา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ที่ได้คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองสร้างความประทับใจกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นอย่างยิ่ง
สำหรับผลงานชนะเลิศโครงการประกวด “การออกแบบชุมชนริมน้ำ โตนเลสาบ” ณ ประเทศกัมพูชาครั้งนี้ เป็นผลงานของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ประกอบด้วย 1.นายพรเจริญ โอฬารรัตน์มณี (ท๊อป) 2.นายณัฐพล พงศ์พลาญชัย (ณัฐ) 3.นายปรัชญา เลิศรักษาดี (ตี๋) และ 4.นางสาวพาณิน จันทะเลิศ (ณิน) ซึ่งทั้งหมดช่วยกันทำงานเป็นทีมเวิร์ค พร้อมคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอบครอง
นายพรเจริญ โอฬารรัตน์มณี ตัวแทนผู้ออกแบบผลงานการประกวดชุมชนริมน้ำ โตนเลสาบ ได้เปิดเผยกับ Buildernews ถึงแนวคิดในการส่งผลงานเข้าโครงการประกวดครั้งนี้ว่า “การออกแบบชุมชนริมน้ำ โตนเลสาบ ณ ประเทศกัมพูชา เป็นงานประกวดนานาชาติครั้งแรกของผมกับเพื่อนๆ ทั้งหมด 4 คน โดยแนวคิดในการออกแบบ Modular ครั้งนี้เริ่มต้นมาจากพื้นที่เล็กๆ ที่เรียกว่าบ้าน จากครอบครัว 1 ครอบครัว สมาชิกประมาณ 7 คน พื้นที่ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นและต้นทุนของสังคมในทุกๆ ประเทศ บ้านและสถาบันครอบครัวจึงถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งพัฒนา
แต่เนื่องจากคนในพื้นที่โตนเลสาบยังขาดความรู้ความเข้าใจและระบบวิศวกรรมสุขาภิบาลที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตบนทะเลสาบ ในลักษณะของชุมชนขนาดใหญ่ชาวบ้านโดยทั่วไปจึงปล่อยสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนลงสู่ทะเลสาบโดยตรง ก่อให้เกิดปัญหาสุขอนามัยที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของตัวชาวบ้านเอง และส่งผลกว้างไปถึงระดับชุมชน เราจึงเริ่มพัฒนาจากการนำระบบจัดการสิ่งปฏิกูลที่เรียบง่ายสามารถทำได้จริงมาผนวกเข้ากับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เกิดจากแก๊สของสิ่งปฏิกูลมาใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนจากบ้านไปสู่ชุมชน จากชุมชนไปสู่ระดับขนาดที่ใหญ่ขึ้น จนสามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทั้งทะเลสาบ
แนวความคิดในการออกแบบ Modular นี้ จึงถูกนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่บ้านให้มีฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยใช้วัสดุหลักคือไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้ที่ลักษณะโครงสร้างแข็งแรงและยืดหยุ่น ปลูกง่ายโตเร็วทนต่อสภาพแวดล้อม แม้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และนั่นทำให้สามารถหามาทดแทนได้ง่ายเมื่อเกิดการชำรุด ดังนั้นไม้ไผ่จึงถูกนำมาใช้ในทุกขั้นตอนในก่อสร้าง เริ่มต้นจากส่วนของฐานราก ที่ใช้ไม้ไผ่มัดเป็นลำ เพื่อใช้ในการพยุงตัวให้ลอยน้ำลักษณะเหมือนสะพานลูกบวบของไทยพื้นที่ภายในของบ้านแต่ละหลังนั้นมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 8 x 8 เมตร ซึ่งจะสอดคล้องของจำนวนสมาชิกโดยเฉลี่ยทั่วไป (ประมาณ 7 คน ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 4 คน เด็ก 3 คน) รวมถึงชั้นลอยใต้หลังคาที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และบ้านแต่ละหลังนั้นจะต้องมีพื้นที่โล่งขนาดเท่ากับพื้นที่บ้านโดยประมาณ ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายระยะร่นในการสร้างบ้านในเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดลักษณะของชุมชนแออัดและการเน่าเสียของน้ำที่ไม่ได้รับแสงแดด รวมไปถึงสัตว์น้ำที่พลอยจะเติบโตได้ไม่เต็มที่และลดจำนวนลง พื้นที่สำหรับเลี้ยงปลาเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กและปลูกพืชที่สามารถใช้เป็นอาหาร จึงถูกจัดวางลงในบ้านทุกหลัง เพื่อให้บ้านทุกหลังสามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตนเองได้ และยังสามารถเหลือไว้สำหรับขายเป็นรายได้เพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากนี้เมื่อบ้านหลายหลังเชื่อมโยงกันเป็นชุมชนขนาดเล็ก (ประมาณ 10 หลังคาเรือน) พื้นที่ส่วนกลางในการจัดการและแปรรูปสิ่งปฏิกูลไปเป็นพลังงานหมุนเวียนก็จะถูกจัดวางลงไปเช่นกัน และยังมีส่วนของพื้นที่ทำการเกษตรส่วนกลางสำหรับชุมชนเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนขนาดเล็กสามารถรวมตัวกันและพึ่งพาอาศัยกันจนมีความแข็งแกร่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางสุขอนามัย และยังรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบอีกด้วย”
สามารถจัดการตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งมารวมกันเป็นชุมชนเมืองที่ใหญ่ขึ้น ระบบการจัดการต่างๆ ก็ยังจะสามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้ เหมือนเป็นลักษณะของ Loop System และเมื่อ Loop แต่ละวงมาเชื่อมต่อกันพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นต่อชุมชนเมืองขนาดย่อมก็สามารถจัดวางลงไปได้ตามความเหมาะสม เช่น สถานีอนามัย โรงเรียน ตลาด และอื่นๆ เพื่อที่ระบบจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสูงสุด ทั้งนี้อีกหนึ่งปัญหาในโตนเลสาบ คือการจับปลาที่เกินพอดี เนื่องจากมีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่บริเวณทะเลสาบเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปีและยังมีเรือหาปลาในเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้จำนวนปลานั้นลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย ฉะนั้นวิธีการที่จะรักษาแหล่งเจริญเติบโตของปลาที่ยังไม่โตเต็มที่ไว หรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำจึงเป็นสิ่งที่ควรถูกตระหนักถึงซึ่งจากการค้นคว้าจึงพอจะทำให้รู้ว่าในหน้าแล้งนั้นน้ำในทะเลสาบจะลดลงไป และเหลือพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงอยู่บริเวณตรงกลางของทะเลสาบ
เราจึงคิดระบบของพื้นที่การเกษตรส่วนกลาง ที่มีลักษณะเป็นแพขนาดใหญ่สามารถต่อกันในลักษณะคล้ายรูปครึ่งวงกลม ซึ่งเมื่อชุมชนทั้งสองฝากฝั่งของทะเลสาบคลี่แพรูปครึ่งวงกลมนี้ออกเพื่อเชื่อมกัน ณ จุดกึ่งกลางของทะเลสาบก็จะก่อให้เกิดลักษณะของสะพานเชื่อมชุมชนทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน และหากเราสามารถทำสะพานเชื่อมได้สองจุดพื้นที่ตรงกลางที่น้ำท่วมถึงก็จะปลอดภัยจากเรือประมงขนาดใหญ่เหลือไว้แต่เพียงเรือขนาดเล็ก ที่ให้ชาวบ้านพอจับปลาเลี้ยงชีพได้ปลาในแหล่งอนุบาลก็จะสามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้อย่างเต็มที่และพร้อมกลับมา เมื่อถึงฤดูกาลที่น้ำมีปริมาณมากและเหมาะสมกับการจับปลาเชิงพาณิชย์อีกครั้ง”
นิตยสาร Builder Vol.27 JANUARY 2016