นับว่าเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “บ้านคนจน” หลังจากที่สมัยรัฐบาลทักษิณ โดยท่านรองสมคิด เป็นผู้ผลักดันโครงการ “บ้านมั่นคง-บ้านเอื้ออาทร” เมื่อ 10 ปืที่ผ่านมา
ก่อนอื่นก็ต้องยอมรับกันว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นนโยบายที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากดีกว่าการกระตุ้นในหลายวิธี เพราะที่อยู่เป็นทั้ง “ผลิตผลด้านเศรษฐกิจ” สร้างงาน มี Chain Reaction สูงกว่า การลงทุนด้านอื่น ๆ อาจจะดีกว่าสร้างสาธารณูปโภคเสียอีก และเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ทุกคนต้องมีบ้านเป็น “ปัจจัยยกระดับสังคม” ไปพร้อมกัน
มีการวิจัยเบื้องต้นก็พบว่าการสร้างบ้าน 1 หลัง จะสร้างผลงานรอบด้านที่เรียกว่า “Multiplier Effect” สูงเป็น 2-2.5 เท่าการสร้างบ้าง 1 หลัง สินค้าได้แก่ หิน ปูน เหล็ก ทราย กระเบื้อง ไฟฟ้า ประปา สี แม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ก็จะโตขึ้นตามตัวรัฐบาลทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ เมื่อเปิดประเทศ ท่าน ลี กวน ยู ก็บอกว่าจะสร้างอพาร์ทเม้นท์ให้ทุกคน ประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองเล็กอยู่บนเกาะการจะกระตุ้นด้วยการสร้างสาธารณูปโภคอย่างเมืองใหญ่จึงมีไม่มากนัก สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ในสมัยประธานาธิบดี Clinton มีนโยบายสร้างบ้านให้คนอเมริกัน (ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง) ปีละ 1 ล้านหลัง (เมื่อ 20 ปีมาแล้ว ขณะนั้นอเมริกาสร้างบ้านใหม่แค่ 7 แสนหลัง) ปัจจุบันบ้านใหม่ในอเมริกาสร้างปีละ 1.2 ล้านหลัง บ้านมือสองซื้อขายกันปีละ 5 ล้านหลัง ส่วนบ้านใหม่ในประเทศจีนขณะนี้สร้างมากกว่าอเมริกา 5 เท่า คือปีละ 5 ล้านหลัง
การสร้างที่อยู่อาศัยให้คนจนนับว่าเป็น Popular Policy ในทุกยุค ทุกสมัย ทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมนิยมหรือ
ประชาธิปไตย นโยบายบ้านประชารัฐจึงออกมาถูกเวลา เพราะได้ถึง 3 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ 1.กระตุ้นเศรษฐกิจ
2.ช่วยเหลือคนจนและยกระดับสังคม 3. ได้รับความชื่นชอบจากประชาชน ในยุค คสช. การบริหารก็ได้เสียงด้านการเมือง
วิธีการก็คล้ายกับที่ผ่านมาคือ รัฐจัดหาเงินกู้ราคาถูกระยะยาวให้กับสินค้าในระดับ 1 ล้านบาท หรือต่ำกว่านั้น (เหมือนกับอเมริกา แต่ไม่เหมือนสิงคโปร์) โดยรัฐไม่จัดสร้างเป็นสวัสดิการ แต่ให้เอกชนลงมาทำโดยเปิดตลาดใหม่ให้เป็นตลาดผ่านผู้ซื้อ ในเวลาเดียวกันก็เปิดตลาดให้ผู้ประกอบการโดยมีการยกเว้นภาษีให้ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
แต่ถึงกระนั้นคนจนก็ยังอาจจะเอื้อมไม่ถึงกับที่อยู่อาศัยราคา 1-1.5 ล้านบาท และอยู่ใกล้แหล่งงานในเมือง เพราะคนจนมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนต่อหัว จึงยากนักที่จะมีเงินผ่อนส่ง โดยที่ผ่านมาบ้านเอื้ออาทรก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะปัจจัยแรก ๆ คือที่ตั้งสร้างไกลจากแหล่งงาน
คนจนก็จะเอื้อมไม่ถึง “คนจนทั่วโลกจะไม่ซื้อแต่จะเช่าทั้งชีวิต” โดยรัฐบาลโดยเฉพาะในยุโรปก็จะจัดที่อยู่ในรูปแบบเช่าระยะยาวทั้งชีวิต และจัดระบบการเงินให้ด้วย ดังนั้นทาง คสช. อาจจะติดต่อจัดหาบ้านเช่าแล้วสร้างในที่ดินราชพัสดุ (ซึ่งกำลังจัดหาอยู่) ให้เอกชนสร้าง ให้เกิดความมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ และก็จะทำให้ราคาถูกกว่าให้คนจนซื้อบ้านเอง เพราะไม่ต้องซื้อที่ดินและค่าก่อสร้างเท่ากัน วิธีการเช่นนี้ กคช. ก็เคยทำ มาแล้วในอดีต โดยปัจจุบันเปลี่ยนแนวนโยบายจะขายคนจนอย่างเดียว ซึ่งคิดว่าถ้าจะขายก็ไปขายคนชั้นกลางระดับล่างจะดีกว่าไหม ส่วนคนรวยจริง ๆ ก็จัดที่ดินของรัฐให้เอกชนสร้างระยะยาวสัก 60-90 ปี และหา “Leasing Finance” ให้ด้วย (ดูยุโรปเป็นตัวอย่าง) ก็จะได้ทั้งคะแนนเสียงและเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
นิตยสาร Builder Vol.31 May 2016