“บ้าน” ที่ไม่ซ้ำใครมันก็ดี แต่ถ้าการพยายามสร้างเอกลักษณ์มันทำให้ความน่าอยู่ลดทอนลงจนคนไม่เข้าไปอยู่ล่ะจะทำอย่างไร?

ปัจจุบันบ้านที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเป้าหมายของสถาปนิกแทบทุกคน เพราะท่ามกลางความสวยงามที่ใครก็ทำได้วันนี้มันไม่พอจะทำให้งานฉายแสงและเป็นที่จดจำ ครั้งนี้เราขอยกตัวอย่างบ้านที่เรียกได้ว่าแปลกตาสวยงามจากแอตแลนตา ทั้งวัสดุและการตกแต่ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างที่ตั้งใจ หลังจากสร้างเสร็จในปี 2018 ปล่อยราคาเช่าไว้ที่ 6,500 ดอลลาร์ หรือราวสองแสนกว่าบาทที่วันนี้ยังไม่มีใครเช่า

บทความนี้ต้องแจ้งก่อนว่าเราไม่ได้มีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อโจมตีผลงานแต่อย่างใด ทว่านำข้อเท็จจริงมาแบ่งปันโดยมีแหล่งอ้างอิงด้านล่าง เพื่อชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการออกแบบ

Photo by NAARO, Timothy Hursley

Haus Gables คือบ้านในแอตแลนตา ตั้งอยู่ใกล้กับ Krog Street Market ที่เป็นโปรเจ็กต์ที่สร้างขึ้นมาเมื่อปี 2018 มีทรงสูง หน้าแคบ และรูปลักษณ์ที่โดดเด่น สะดุดตาเป็นเอกลักษณ์

ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นด้วยการใช้พื้นที่ 2,200 ตารางฟุต เนรมิตบ้านที่มีหน้าจั่วผิดแปลกไปจากชาวบ้าน เพราะมันลดหลั่นไม่สมดุลกัน ดูจากตรงนี้เห็นได้ชัดว่ามันแตกต่างจาก gable elevation house หรือการสร้างหลังคาแบบมนิลาดั้งเดิมที่เราเคยเห็น เพราะระดับเหลี่ยมมุมต่างกันชัดเจน มองแล้วจะสัมผัสได้กับความอิสระ ไม่มีแพทเทิร์นตายตัว ซึ่งเป็นการออกแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปนิกชื่อดังอย่าง Le Corbusier’s ที่เคยนำเสนอไว้จากการตัดแผนผังพื้นที่ใช้สอยอิสระ และ Adolf Loos ที่ออกแบบโดยสะท้อนเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ด้วยการจัดพื้นที่ต่อเนื่องถึงกันทุกชั้นจากการวางบันไดเป็นตัวเชื่อม

Photo by NAARO, Timothy Hursley

ในแง่วัสดุ การตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน พื้น และหลังคา ทั้งหมดทำขึ้นจากนวัตกรรมวัสดุที่เรียกว่า CLT (Cross-Laminated Timber) ทั้งสิ้น CLT คือไม้แปรรูปลามิเนตที่โด่งดังในวงการก่อสร้างแต่ก็ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับที่นี่ ซึ่งข้อดีของมันไม่เพียงจะเป็นไม้สำเร็จรูปที่พร้อมประกอบ ไม่ยุ่งยาก และมีความทนทาน (บ้านหลังนี้ประกอบเสร็จภายใน 14 วัน) มันยังต้านทานไฟได้ไม่แพ้วัสดุอื่น ๆ ด้วย เพราะผิวหน้าของไม้ชนิดนี้หากถูกไฟเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 400 องศาเซลเซียสในอัตราเผาไหม้คงที่ (CLT Wood Burning Rate) จะทำหน้าที่เสมือนเป็นแนวกันไฟที่คอยเป็นชั้นป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิภายในแกนกลางของเนื้อไม้ เรียกง่าย ๆ ว่าด้านหน้าไหม้แต่ด้านในยังแกร่งเหมือนเดิม ไม่ทำให้โครงสร้างเสียหาย ที่สำคัญไม้ชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวสูงที่ทนทานต่อความชื้น กันปลวกได้ดี ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และต้องเป็นไม้ที่ได้มาจากป่าปลูกเท่านั้น จึงทำให้มันกลายเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Photo by NAARO, Timothy Hursley

ด้านการตกแต่งภายนอก ทั้งสองด้านของบ้านตกแต่งด้วย Faux brick หรือผนังอิฐปลอม ขณะที่ด้านในบางพื้นที่ปู Black Terrazo นั้น ไม่ได้นำไปขัดเงา และจัดวางในตำแหน่งที่แตกต่างกันโดยประยุกต์เป็นกระเบื้องแผ่นบางแทน ส่วนไม้อัดก็ไม่ได้ใช้ แต่ใช้กระเบื้องเซรามิกที่คล้ายกับไม้อัดแทน สภาพที่กลับตาลปัดไปหมดในครั้งนี้ถ้าลงลึกในแง่วัสดุก็ถือว่าเป็นงานที่หาดูได้ยากและน่าสนใจมาก

Photo by NAARO, Timothy Hursley

นอกจากนี้ “สี” ที่เขานำมาทาบ้าน ยังมีบทบาทที่มากกว่าความสวยงาม แต่เป็นการแบ่งพื้นที่ของบ้านได้ด้วย เพราะอันที่จริงบ้านหลังนี้แทบไม่มีประตูที่ปิดกั้นระหว่างพื้นที่เลย (เว้นส่วนของห้องนอนและห้องน้ำ) ดังนั้นสิ้นสุดสีนั้น ๆ ที่ผนังตรงส่วนไหน หากเข้าสู่สีใหม่ก็หมายความว่าเราเข้าไปที่ห้องใหม่แล้ว

สวย เสร็จ แต่ทำไมไร้คนเช่า

กลับมาที่เรื่องที่เราบอกว่ามันไม่มีคนเช่ากันบ้าง ทั้ง ๆ ที่สวยขนาดนี้ เราพอเดากันออกไหมว่าทำไม? BuilderNews ขอสรุปเป็น 3 ข้อหลักแล้วกัน ลองดูว่ามันจะพอตรงกับสิ่งที่เราเดาในใจกันบ้างไหม?

  1. ความแปลกเกินไปของตัวบ้าน : เคยได้ยินไหมว่าโดดเด่นกับประหลาดมันใกล้ชิดกันเหมือนเส้นบาง ๆ ดังนั้น Haus Gables จึงน่าจะเข้าข่ายแปลกจนเกินไป เนื่องจากคนยังไม่เคยชินกับการออกแบบที่โลดโผนและการใช้วัสดุใหม่ที่ตนเองก็ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยได้จริงไหมแลกกันราคาที่ต้องจ่ายถึงสองแสน ซึ่งเรื่องการสร้างความเข้าใจเรื่องวัสดุนี้ต้องอาศัยการให้ความรู้กันอีกยาว
  2. ห้องไร้ความเป็นส่วนตัว : ปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับตัวตนและความเป็นส่วนตัวอย่างมาก ดังนั้น มันจึงไม่ง่ายเลยที่จะชักชวนคนให้เข้ามาอยู่ในบ้านราคาสองแสนกว่าบาทสักหลังหนึ่ง ยิ่งถ้ารู้ว่าบ้านหลังนี้ไม่มีประตู มองทะลุไปได้เรื่อย ๆ จะยิ่งรู้สึกอึดอัดได้ แม้ว่ามันจะสวยแค่ไหนก็ตามแต่ถ้าลบความรู้สึกนี้ออกไปไม่ได้ก็ถือว่าสอบตก
  3. แบ่งสีเพื่อสร้างความแตกต่างของห้อง กรณีนี้ไม่มีประตูปิด ฉะนั้นถ้าปิดไฟมืดเราอาจคาดเดาอะไรไม่ได้เลยว่าเรากำลังเดินอยู่ในห้องไหน
Photo by NAARO, Timothy Hursley

“ความสวยงาม” ไม่ได้ตอบโจทย์ “ความรู้สึกทางใจ” ได้เสมอไป เพราะที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อนเสมอ นี่คือกรณีศึกษาที่ดีที่เราชาวสถาปนิกจะลองหวนกลับมาดูทบทวนตัวเองว่าเรายังพยายามทำงานที่สวย เด่น แปลกอยู่ไหม และมันสะดวกสบายทั้งใจและกายพอสำหรับการเข้าอยู่หรือยัง ซึ่งนั่นเป็นจุดมุ่งหมายหลักของสิ่งนี้ หวังว่าทุกคนจะสามารถบาลานซ์ให้ลงตัวเพื่อสร้างคุณภาพวงการและชีวิตความเป็นอยู่ของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.archdaily.com/916457/haus-gables-mall
https://atlanta.curbed.com/2019/2/7/18215423/modern-house-atlanta-old-fourth-ward-haus-gables
https://www.wazzadu.com/article/2991

Previous articleอยู่พื้นที่ไหนถึงสุขมากกว่าคนอื่น Google เฉลยให้โลกรู้ผ่านงาน Installation ในมิลาน
Next articleอากาศร้อน! จัดการกับห้องนอนอย่างไรให้เย็นสบาย