รางวัล Aga Khan Award For Architecture 2016 งานสถาปัตยกรรมเพื่อประโยชน์ของชาวมุสลิมปีล่าสุด ได้ประกาศผลออกมาอย่างเป็นทางการ โดยมีบริษัทสถาปนิกทั้ง 6 แห่งได้สร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่ง มากด้วยประโยชน์ใช้สอย จนได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ไปครอง ซึ่งบริษัทโด่งดังอย่าง Bjarke Ingels Group, Zaha Hadid Architects, และ ZAO / Standard architecture ก็ได้ติดโผมีชื่ออยู่ด้วยเช่นกัน
รางวัล Aga Khan Award For Architecture จัดตั้งขึ้นโดย Aga Khan ในปี ค.ศ. 1977 เพื่อสนับสนุนแนวคิดการออกแบบก่อสร้างที่มุ่งเน้นการใช้งานในหมู่ชุมชนชาวมุสลิม ซึ่งจะประกาศผลหาผู้ชนะทุกๆ สามปี จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่ทรงคุณค่าของเหล่าสถาปนิกทั่วโลกเลยทีเดียว และภายในปีนี้บรรยากาศการคัดเลือกผู้ชนะก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยทีมงานผู้ตรวจสอบได้คัดเลือกผลงานออกแบบที่มีสิทธิรับรางวัลได้ทั้งหมด 19 รายชื่อ และได้ประกาศสู่สาธารณะชนรับทราบไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และผลงานผู้เข้าชิงทั้งหมดทั้ง 19 แห่ง ก็ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประกอบไปด้วย เหล่าสถาปนิก และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์หรือวิศวกรโครงสร้าง ซึ่งรายชื่อผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Aga Khan Award For Architecture 2016 ประกอบไปด้วย
Friendship Centre ผลงานออกแบบโดย Kashef Chowdhury / URBANA
อาคารศูนย์รวมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ประเทศบังคลาเทศ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมพนักงาน NGO ที่ทำงานร่วมกับผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นระแวกนั้น ภายในพื้นที่จะมีสำนักงาน ห้องสมุด ห้องประชุม และห้องสวดมนต์ ตั้งอยู่รวมในอาคารเดียวกัน รายล้อมด้วยสระน้ำและลานกว้าง นอกจากนี้ศูนย์ดังกล่าวยังเปิดให้เช่าสำหรับการประชุม การฝึกอบรม หรือการสัมนาอีกด้วย โครงสร้างของตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมประดับตกแต่งพื้นผิวด้วยอิฐแฮนด์เมดที่ทำขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความงดงามของ Mahasthangahr ซากโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดในบังคลาเทศ พร้อมระบายอากาศแบบธรรมชาติด้วยพืชที่ปลูกบนหลังคา ซึ่งโดยรวมแล้วศูนย์ Friendship Centre ดูมีความเรียบง่ายแต่สามารถสื่อถึงความโบราณดั่งเดิมแบบท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน ตัวพื้นที่ศูนย์แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกที่ตั้งอยู่บริเวณด้านนอกจะเป็นสำนักงาน ห้องสมุด และห้องฝึกอบรม ส่วนพื้นที่บริเวณด้านในจะเป็นที่พักอาศัย สามารถรองรับการฝึกอบรมได้มากถึง 80 คนภายในเวลาเดียวกัน
Bait Ur Rouf Mosque ผลงานออกแบบโดย Marina Tabassum
มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นบนพื้นที่จำกัดใจกลางกรุงธากา ประเทศบังคลาเทศ จึงได้มีการยกฐานและวางผังทำมุมกับทิศทางกิบลัต(ทิศทางที่ชาวมุสลิมจะทำพิธีละหมาด) 13 องศา พร้อมด้วยการก่อกำแพงแบบเจาะช่องเป็นรูพรุนให้อากาศถ่ายเทถึงภายในห้องละหมาด ประกอบกับติดตั้งไฟส่องสว่างไว้ที่บริเวณกำแพงทั้ง 4 ด้านรอบห้อง ส่วนบริเวณห้องโถงใหญ่ค้ำยันด้วยเสาทรงกลมทั้ง 8 ต้น บริเวณลานด้านนอกยังเป็นพื้นที่เล่นสำหรับเด็กๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาพบปะพูดคุยกัน การก่อสร้างมัสยิดดำเนินขึ้นง่ายๆ จากแรงสนับสนุนของชาวบ้านผู้อาศัยบริเวณนั้น โดยใช้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจากองค์ประกอบของมัสยิดสุลต่านท้องถิ่น ที่ใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้าง โดยมีช่องว่างตามกำแพงเพื่อระบายอากาศให้ภายในเย็นสบาย รวมถึงมีแสงสาดส่องได้ในเวลากลางวัน
Superkilen ผลงานออกแบบโดย Bjarke Ingels Group (BIG)
สถานที่ดังกล่าว ตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ถูกสร้างขึ้นเป็นแหล่งคอมมูนิตี้ของชุมชนหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยผู้บริษัทผู้ออกแบบ Bjarke Ingels Group ก็ได้เลือกใช้พื้นที่บริเวณมัสยิดแห่งหนึ่ง มาปรับปรุงให้เป็นแหล่งสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้งานได้แบบเอนกประสงค์ ให้ผู้อยู่อาศัยอันหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งทางผู้ออกแบบก็ได้ดัดแปลงพื้นที่ให้สามารถประกอบกิจกรรมได้หลากหลาย พร้อมกับการตกแต่งพื้นที่ให้ดูสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ บนพื้นที่ยาวกว่า 750 เมตร จะแบ่งการใช้งานออกเป็น 3 โซนหลัก ประกอบด้วย ลานสี่เหลี่ยมสีแดงสำหรับเล่นกีฬา สวนสีเขียวสำหรับเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ และพื้นที่สีดำสำหรับเป็นตลาดนัดขายอาหาร และปิกนิกรับประทานอาหารร่วมกัน
Hutong Children’s Library And Art Centre ผลงานออกแบบโดย ZAO / Standardarchitecture / Zhang ke
ผลงานสถาปัตยกรรมแห่งนี้ตั้งใกล้กับมัสยิดแห่งหนึ่ง ที่อยู่ห่างจากจัตตุรัสเทียนอันเหมิน ในกลางกรุงปักกิ่ง ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยชุมชนดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านประมาณ 12 ครัวเรือน แต่เดิมนั้นบริเวณลานกว้างแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดโบราณ แต่ก็ได้แปรสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งพักอาศัยเมื่อช่วงประมาณ 70 ปีที่แล้ว ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาแต่ละครอบครัวที่อาศัยในบริเวณนี้ ก็ได้ต่อเติมบ้านให้กินพื้นที่ออกไปยังบริเวณลานกว้าง แต่ก็ได้ถูกรื้อถอนออกเพื่อปรับพื้นที่ใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีการสร้างห้องสมุดของเด็กเล็กๆ จากไม้อัด บนขนาดพื้นที่ 9 ตารางเมตร ไว้ที่บริเวณลานกว้างใต้อาคารทรงโบราณเดิม จากนั้นก็ได้เพิ่มเติม ห้องศิลปะขนาด 6 ตารางเมตร ที่ก่อสรางด้วยอิฐโบราณสีเทา ไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ตรงกลางลาน เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดแล้วก็จะดูกลมกลืนกับอาคารเก่ารอบด้าน แสดงถึงการอาศัยที่หลอมรวมกับลักษณะท้องถิ่นแบบเดิมๆ เอาไว้
Tabiat Pedestrian Bridge ผลงานออกแบบโดย Diba Tensile Architecture
สะพานแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อดูรูปลักษณ์โดยรวมแล้วก็ค่อนข้างแปลกตาเล็กน้อย เพราะตัวโครงสร้างจะประกอบด้วยทางเดินซ้อนกันถึง 3 ชั้นเลยทีเดียว และมีความยาวรวมทั้งสิ้น 270 เมตร เชื่อมต่อสวนสาธารณะทั้งสองที่อยู่ขนาบข้างถนนทางหลวง ตัวสะพานก่อสร้างโดยใช้โครงเหล็กเรียงซ้อนตัดกันเป็นชั้นๆ โยงเชื่อมกันไปมา จนเกิดพื้นที่ทางเดินสลับซ้อนกัน รวมไปถึงฐานกระจุกเสาที่รองรับตัวสะพาน องค์ประกอบรวมของตัวโครงสร้างทั้งหมดจะดูเรียงต่อกันในทรงเรขาคณิตแบบสามมิติ ทำให้เกิดโครงสร้างยกระดับพื้นที่ขนาดใหญ่ สำหรับให้ผู้คนจำนวนมากได้ใช้งาน ไม่ว่าจะมาชุมนุมกัน เดินเล่นพักผ่อนตาอากาศ นั่งทานอาหาร สามารถขึ้นไปบนสะพานได้หลากหลายเส้นทางจากสวนสาธารณะทั้งสองฝั่ง เรียกได้ว่าสะพานแห่งนี้เป็นแหล่งศูนย์รวมจุดพักผ่อนของผู้คนมากกว่าเป็นทางข้ามเชื่อมสองฝั่งเสียอีก
Issam Fares Institute ผลงานออกแบบโดย Zaha Hadid Architects
อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย American University of Beirut (AUB) ณ กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งทางมหาลัยได้มีการจัดแข่งขันการออกแบบอาคารแห่งใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ให้กลมกลืน และไม่ไปทำลายสภาพแวดล้อมเดิมโดยรอบที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งผู้ออกแบบก็ได้ดำเนินงานตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้ด้วยการออกแบบอาคารทรงประหลาด ที่มุมด้านหนึ่งยึดติดเชื่อมต่อกับพื้นดิน ส่วนอีกด้านเว้าแหว่งไปราวกับให้พื้นที่ด้านบนลอยอยู่บนอากาศ โดยตัวโครงสร้างได้มีการคำนวนกระจายน้ำหนักออกไปได้เป็นอย่างดี เพื่อสงวนภูมิทัศน์โดยรอบไว้ให้คงเดิม ซึ่งประกอบไปด้วยห้องอ่านหนังสือ ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการ และพื้นที่ส่วนวิจัยที่ลอยอยู่เหนือทางเข้า ส่วนพื้นที่โดยรอบอาคารก็เพิ่มเติมความสวยงามด้วยการปลูกต้นไซปรัสไว้ล้อมรอบ
Source : designboom