ปลดทุกข์ในที่แจ้ง แต่ต้องลับด้วย เป็นไอเดียกวน ๆ จากญี่ปุ่น ประเทศที่เราเชื่อว่าหลายคนต้องหลงรักในความครีเอทีฟของเขาและอยากติดตามทุกผลิตภัณฑ์ที่ออกมา ไม่ว่ามันจะใช้งานได้ดีหรือบางทีก็สร้างความรู้สึก “อิหยังวะ” ให้ เพราะมักจะสรรหาสิ่งแปลกใหม่ส่งออกมาให้ชาวโลกลุ้นเสมอ
แม้ไอเดียห้องน้ำโปร่งใสจากกระจกสีสันต่าง ๆ นี้ ดูเหมือนเป็นไอเดียตลก ๆ แต่ BuilderNews บอกเลยว่าเบื้องหลังของมันไม่ธรรมดาอย่างที่คิด เพราะเจ้าห้องน้ำนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังผู้ได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ซึ่งเทียบได้กับรางวัลโนเบลด้านสถาปัตยกรรมเลยทีเดียว
ARCHITECTURE WHO DESIGN
“Shigeru Ban” คือสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ออกแบบสุขาโปร่งแสงแห่งนี้ จริง ๆ คนที่ตาม Pritzker Prize อาจจะเคยได้ยินชื่อของเขามาบ้าง เพราะเขาคนนี้เคยได้รับรางวัล Pritzker Prize มาก่อน ในปี 2014 แถมยังได้รับการขนานนามจากนิตยสาร Time ว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อมนุษยชาติและความยั่งยืนด้วยและเคยบินมาบรรยายในไทยเมื่อปีที่แล้ว
ใครที่กำลังอยากตามผลงานและแนวคิดของสถาปนิกเก่ง ๆ สักคน จำชื่อของเขาไว้ก็ถือว่าไม่เสียหายเพราะเขาถือเป็นบุคคลสำคัญด้านการออกแบบที่สร้างคุณูปการกับสังคม แต่สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องเขาให้ลึกกว่านี้ ไว้มีโอกาสจะสรุปมาให้อ่านกัน
“THE Tomei TOKYO TOILET” หรือ “สุขาโปร่งแสง” คือผลงานห้องน้ำสาธารณะที่ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Tokyo Toilet ที่ดำเนินการโดย Nippon Foundation โครงการไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักสร้างสรรค์ 16 คนจากทั่วโลกเพื่อร่วมกันออกแบบห้องน้ำสาธารณะ 17 แห่งในย่านกลางเมืองชิบูย่า
เมื่อ Ban ได้รับโจทย์นี้มา เขาจึงออกแบบห้องน้ำที่อยู่บริเวณกลางแจ้งของสวนสาธารณะในเมืองโตเกียว 2 แห่งคือ Yoyogi Fukamachi Mini Park และ Haru-no-Ogawa Community Park
ที่มาของการริเริ่มไอเดีย “สุขาโปร่งแสง” เกิดขึ้นเพราะต้องการตอบสนองความต้องการของคนใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ จากด้านในเมื่อเราต้องไปเข้าห้องน้ำสาธารณะโดยเฉพาะตามสวนสาธารณะต่าง ๆ คนส่วนใหญ่จะกังวลอยู่ 2 เรื่อง คือความสะอาดและความปลอดภัย เนื่องจากเราไม่รู้ว่าสุขภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านในพร้อมใช้งานไหม หรือจะมีใครอยู่ในห้องน้ำห้องนั้นหรือเปล่า
ดังนั้นแนวทางการออกแบบโครงสร้างของห้องน้ำจึงนำเทคโนโลยีกระจกอัจฉริยะมาใช้เป็นวัสดุหลัก ติดตั้งผนังกระจกโปร่งใสรอบด้านของห้องน้ำ ความพิเศษคือกระจกมีกลไกร่วมกับตัวล็อก กล่าวคือ ถ้าไม่มีคนใช้งานห้องน้ำ เวลาเรามองจากด้านนอก กำแพงจะโปร่งแสง มองทะลุเห็นทุกอย่างที่อยู่ในห้องน้ำ
แต่หากมีคนเข้าใช้งาน ทันทีที่ลงกลอนประตู จากผนังกระจกที่เคยใสจะเปลี่ยนเป็นกระจกขุ่น มองจากด้านนอกไม่เห็น ทำให้เราสามารถปลดทุกข์ได้อย่างเป็นส่วนตัว คนที่มองจากภายนอกจะรู้ทันทีว่ามีคนเข้าห้องน้ำอยู่ แถมช่วงกลางคืนห้องน้ำแห่งนี้จะสว่างไสวคล้ายโคมไฟ สวยงาม ใครที่มองหาห้องน้ำอยู่ก็มองเห็นได้ง่าย หรืออยากแวะมาเช็กอินถ่ายรูปสวย ๆ ก็น่าจะทำให้บรรยากาศบริเวณนั้นครึกครื้น ไม่วังเวง
ที่สำคัญทุกการออกแบบต้องไม่ลืมมิติของความสวยงามและสภาพแวดล้อมรอบข้าง Ban จึงใส่ใจรายละเอียดโดยออกแบบสีสันกระจกให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น ที่ Haru-no-Ogawa Community Park ก็จะเลือกใช้โทนสีกระจกของห้องน้ำเป็นโทนเขียว-น้ำเงิน เพื่อสร้างความกลมกลืนกับทัศนียภาพรอบข้างที่เป็นต้นไม้
ส่วนห้องน้ำที่ Yoyogi Fukamachi Mini Park เลือกใช้เฉดสีส้ม ชมพู และม่วง ที่เป็นสีสดใสเพราะดึงมาจากสีของเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน
สำหรับใครที่กังวลว่าถ้ากระจกใสมันไม่ทำงานจะทำไง เราจะรู้ไหม หรือคนอื่นจะมองเห็นเราโป๊หรือเปล่า บอกเลยว่า “ไม่” อย่างแน่นอน อธิบายการใช้งานด้วยคลิปนี้ของ South China Morning Post จะได้เข้าใจหลักการทำงานว่ามันปลอดภัยกว่าที่คิด
ในวันที่ผู้คนใส่ใจสุขภาพและนิยมการออกกำลังกายตามสวนสาธารณะมากขึ้น ห้องน้ำห้องนี้อาจกลายเป็นจุดเล็ก ๆ ที่มีอิทธิพลมากขึ้นเพราะช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากคดีอาชญากรรมที่มิจฉาชีพใช้เหลี่ยมมุมจุดอับทำร้ายเรา ที่สำคัญยังลบภาพลักษณ์เดิม ๆ ที่เรามักจะคิดว่าห้องน้ำสาธารณะสกปรก เหม็น และน่ากลัวได้
เห็นแล้วอยากให้มีห้องน้ำแบบนี้ในบ้านเราบ้างเหมือนกันเนอะ
Photography by Satoshi Nagare, provided by The Nippon Foundation.
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.dezeen.com/2020/08/17/shigeru-ban-transparent-toyko-toilet-shibuya/
http://www.shigerubanarchitects.com/works/2020_tomeitokyotoilet/index.html