จากที่ได้กล่าวถึง SWOT ANALYSIS ในส่วนจุดแข็ง โอกาส และจุดอ่อนไปในฉบับก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้ผมจะขอกล่าวถึงการวิเคราะห์ถึงอุปสรรคกันบ้าง เพื่อเสริมมุมมองของท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาให้รอบด้านยิ่งขึ้น

ผลการประเมินตนเองของนิสิตโดยใช้ SWOT Analysis

อุปสรรค/Threaten : ข้อมูลที่ได้จากการประเมินพบว่าในภาพรวมนิสิตยังไม่เข้าใจความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างจุดอ่อนและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (จากจุดอ่อน) ในประเด็นต่างๆ ของตนเอง และมักสับสนจนเหมาเอาว่าจุดอ่อนต่างๆ ของตนเป็นอุปสรรคในชีวิต อย่างไรก็ตามจากจุดอ่อนของนิสิตพอจะสรุปได้เป็นปัญหาอุปสรรค์เพียงสองประเด็นใหญ่ แต่ล้วนแล้ว มีความสำคัญต่อวิชาชีพของตนเองเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่

1) เกิดปัญหาในชีวิตจากการเสพติดอบายในลักษณะต่างๆ : อบายหรือหนทางสู่ความเสื่อมในชีวิตที่นิสิตเสพ (จน) ติดทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสร้างความเสื่อมทั้งในแง่ร่างกาย พฤติกรรมการทำงานไปจนถึงชีวิตส่วนตัว ในสถานเบาก็ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานการสร้างสรรค์ และการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะตนเองต้องใช้เวลาและร่างกายไปกับอบาย (มุข) เหล่านี้ และในขั้นสูงสุดยังเป็นเหตุให้โรคภัยไข้เจ็บและการเสียทรัพย์สินที่ตามมาอีกอย่างมากมาย จนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวได้หากไม่มีการควบคุมตัวเองให้ดีพอ หากพิจารณาต่อไปถึงวัยมีครอบครัวที่มีภาระความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งขยายผลรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปอีกในที่สุด

2) ขาดโอกาส ความก้าวหน้าและขาดศักยภาพในการแข่งขันทางวิชาชีพ : พฤติกรรมการขาดวินัย ในชีวิตและการขาดความมั่นใจในตนเองของนิสิต ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่หลวงต่อโอกาสและความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะในวิชาชีพสถาปนิก ความมีวินัยและความรับผิดชอบในการทำงานเป็นเรื่องต้นๆ ในการประเมินทักษะความสามารถของนิสิต (สถาปนิก) ทั้งจากลูกค้าและผู้บังคับบัญชา (ถ้ามี) นอกจากนี้หากนิสิตมีวิถีชีวิตแบบ Passive ไม่กล้าคุยไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หมกตัวอยู่ด้านหลังห้องหรือซอกหลืบในสำนักงาน มีโลกส่วนตัวตลอดเวลา จะยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากในการได้รับการจ้างงาน หรือขาดการพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเองท่ามกลางการแข่งขันที่มีสูงมากในปัจจุบัน

3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำ SWOT ครั้งนี้ จะสามารถบอกนิสิตได้ว่าตนเองมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร และจะสามารถบอกได้ถึงอนาคตของตนเองผ่านโอกาสและอุปสรรคในชีวิตของตนได้อีกด้วยสิ่งที่พึงกระทำเพิ่มเติมคือตรวจสอบว่าคุณลักษณะที่ดีในการดำเนินชีวิตของคนปกติควรประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง ไปจนถึงการพิจารณาว่าตนเองมีลักษณะนิสัยที่เอื้อต่อการเป็นสถาปนิกและคุณลักษณะที่ดีของ “คน” เช่น ความมีวินัย ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม และการมีความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหนอย่างไร นอกจากนี้การประเมินยังบ่งชี้ได้ว่าเรามีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับงานหรืออาชีพอื่นๆ ที่เราจะกระทำต่อไปในอนาคตมากน้อยเพียงใด และสิ่งสำคัญเราจะมีวิธีการแก้ไขปรับปรุงตนเองให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงานและอาชีพเหล่านั้นได้อย่างไรต่อไป

ขอเน้นทิ้งท้ายว่า นิสิตพึงระลึกไว้เสมอว่าการประเมินตนเองครั้งนี้จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดถ้านิสิตไม่ลงมือปฏิบัติให้เกิดผล ดังเช่นการใช้หลักอริยสัจ 4 แก้ไขทุกข์หรือปัญหาเพียงแค่ 3 องค์ประกอบเท่านั้นคือ รู้จัก ทุกข์ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง เข้าใจ สมุทัย หรือสาเหตุแห่งทุกข์ (ปัญหา) เป็นอย่างดีว่ามาจากไหนอย่างไร รวมทั้งคิดหา นิโรธ หรือหนทางแก้ปัญหาก็ทำได้อย่างครบถ้วน แต่ท้ายสุดในความเป็นจริงกลับไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เนื่องจากตนเองรู้ได้ คิดได้แต่ไม่ทำเพราะขั้นสุดท้ายหรือมรรค ซึ่งเป็นการปฏิบัติจริงนั้นไม่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเองแต่อย่างใด

นิตยสาร Builder Vol.32 JUNE 2016

Previous articleโค้งสุดท้าย Thailand Property Awards ครั้งที่ 11 ปิดรับสมัคร 8 ก.ค.นี้
Next articleแลนดี้โฮม คาดครึ่งหลังปี 59 ยอดก่อสร้างจะคึกคัก ผลจากอัตราดอกเบี้ยขาลง
ผศ.รัชด ชมภูนิช
ที่ปรึกษานิตยสาร Builder คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์